ชะมดและอีเห็น

Viverrids

Viveridae

ชะมดเช็ด  (ภาพโดย wcs.org)


ชะมดและอีเห็นเป็นสัตว์ในวงศ์เดียวกัน นั่นคือวงศ์ Viveridae เป็นสัตว์กินเนื้อขนาดกลาง รูปร่างโดยทั่วไปคล้ายแมว แต่ลำตัวยาวกว่า ขาค่อนข้างสั้น มีขนาดความยาวหัว-หาง ต่างกันตั้งแต่ 30-100 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ไม่ถึงกิโลกรัมจนถึง 14 กิโลกรัม ส่วนใหญ่มีหัวเล็ก ปากแหลมสั้น ดวงตาขนาดปานกลาง หูตั้งชี้ ส่วนใหญ่มีลายแถบ หรือลายจุดตามลำตัว หางยาว มักมีลายเป็นปล้อง หดเล็บได้ ส่วนใหญ่มีต่อมข้างก้นที่ผลิตสารกลิ่นฉุน บางชนิดแรงพอที่จะใช้เป็นอาวุธขับไล่ศัตรูได้ ส่วนประกอบของสารนี้ใช้ทำน้ำหอมหรือยาสมุนไพรได้ สัตว์ตัวผู้ในตระกูลนี้มีกระดูกลึงค์ด้วย กะโหลกของชะมดและอีเห็นเกือบทั้งหมดมีรูปร่างแบนยาว ฟันหน้าล่างคู่ที่สองจะยื่นขึ้นสูงกว่าแนวฟันล่าง มีฟันตัดที่พัฒนาดี ฟันกรามคู่ในสุดไม่คอดกลาง ซึ่งเป็นลักษณะของสัตว์ในวงศ์ Mustelidae ส่วนใหญ่ สูตรฟันคือ 3/3, 1/1, 3-4/3-4, 1-2/1-2 32-40. 

สัตว์ในวงศ์นี้อาศัยอยู่ในทางใต้ของยุโรป แอฟริกา และเอเชีย รวมถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ มาดากัสการ์ มีทั้งสิ้น 20 สกุล 34 ชนิด

ชะมดและอีเห็นมีสายตาดี จมูกดี และหูดี ส่วนใหญ่หากินกลางคืน อาหารหลักคือ สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก แมลง รวมถึงสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเช่นหนอน ปู กุ้ง บางชนิดกินเนื้อเพียงอย่างเดียว แต่บางชนิดก็กินผลไม้และรากไม้ด้วย บางชนิดก็กินผลไม้เป็นหลัก สัตว์พวกนี้ไม่ค่อยสมาคมกันเป็นฝูงใหญ่ จึงมักพบเพียงตัวเดียวหรือเป็นคู่ มักปีนต้นไม้เก่ง มีเพียงไม่กี่ชนิดที่ชอบหากินบนพื้นดิน ชนิดหนึ่งที่พิเศษกว่าชนิดอื่นคือ หมีขอ เพราะมีหางยึดจับได้  ซึ่งเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในโลกเก่าที่มีลักษณะเช่นนี้

สัตว์จำพวกชะมดและอีเห็นมี 15 สกุล 35 ชนิด ประเทศไทยมีชะมดและอีเห็น 12 ชนิด ได้แก่ ชะมดแผงหางปล้อง (Viverra zibetha), ชะมดมลายู (Viverra tangalunga), ชะมดแผงสันหางดำ (Viverra megaspila), ชะมดเช็ดหรือชะมดเชียง (Viverricula indica), อีเห็นลายเสือหรือชะมดแปลงลายจุด (Prionodon pardicolor), อีเห็นหน้าขาวหรืออีเห็นหูด่าง  (Arctogalidia trivirgata), อีเห็นเครือ (Paguma larvata), อีเห็นข้างลาย (Paradoxurus hermaphroditus), ชะมดแปลงลายแถบ หรือ อีเห็นลายเมฆ (Prionodon linsangอีเห็นน้ำหรือชะมดน้ำ (Cynogale bennettii), อีเห็นลายเสือโคร่งหรืออีเห็นลายพาด (Hemigalus derbyanus), หมีขอหรือบินตุรง (Arctictis binturong)

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://animaldiversity.ummz.umich.edu/accounts/Viverridae/

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 26 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 29 ก.ย. 64

Powered by Wimut Wasalai