ชะมดเช็ด
Small Indian Civet, Oriental Civet, seven-banded civets
Viverricula indica
ชะมดเช็ดเป็นชะมดที่ค่อนข้างเล็ก หนักประมาณ 2-4 กิโลกรัม ขนบนสันหลังไม่ขึ้นชันเป็นแผงแบบชะมดชนิดอื่น ลำตัวมีสีน้ำตาล เหลือง และน้ำตาลอมส้ม มีแถบขาวและดำบนคอ ตามลำตัวมีลายจุด มีแถบสีดำประมาณ 6-8 เส้น ขนานกันไปตามแนวสันหลังจนถึงหาง หางเป็นลายปล้องขาวดำ อุ้งตีนมีสีน้ำตาลหรือดำ ขนบริเวณหน้าอกมีลายน้อย สีน้ำตาลหรือเทา หูสองข้างอยู่ใกล้กัน ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย
(ภาพโดย Rejaul karim.rk )
ชะมดเช็ดมีเขตกระจายพันธุ์ทั่วทวีปเอเชียตั้งแต่อินเดีย จีนตอนกลาง จรดเอเชียสุดปลายแหลมมลายู หมู่เกาะสุมาตรา ชวา และบาลี นอกจากนี้ยังมีประชากรที่ถูกนำเข้าไปในเกาะแซนซิบาร์ มาร์ดากัสการ์ คอโมรอส โซคอตรา และอีกหลายเกาะในฟิลิปินส์
ชะมดเช็ดปรับตัวเข้ากับสถานที่ได้หลากหลายมากพบได้บ่อยในป่าใกล้หมู่บ้าน หากินโดยจับเป็ดไก่ของชาวบ้านหรือแม้แต่คุ้ยกองขยะ มีแนวโน้มชอบพื้นที่เปิดเช่นป่าเบญจพรรณและป่าหญ้ามากกว่าป่าทึบ และค่อนข้างชอบป่าที่อยู่พื้นที่ต่ำมากกว่าที่สูง
จากการติดตามด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทยพบว่าชะมดเช็ดใช้พื้นที่อาศัยประมาณ 0.83 ตารางกิโลเมตรในเดือนหนึ่ง และในช่วงหนึ่งปีใช้พื้นที่ประมาณ 3.1 ตารางกิโลเมตร
ชะมดเช็ดเป็นสัตว์รักสันโดษหากินเพียงลำพัง พบเป็นคู่เฉพาะในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น หากินเวลากลางคืน อาจพบหากินในเวลากลางวันมากขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีการรบกวนจากมนุษย์ หากินบนพื้นดินเป็นหลัก แต่ก็ปีนต้นไม้ได้เก่ง อาหารหลักของชะมดเช็ดคือสัตว์ขนาดเล็ก จำพวกหนู นก แมลง หนอน ไข่ บางครั้งอาจกินผลไม้ และซากสัตว์ด้วย นอนหลับในโพรง อาจเป็นโพรงที่ขุดเองหรือใช้โพรงเก่าของสัตว์ชนิดอื่นก็ได้
ชะมดเช็ดมีต่อมชะมดที่ข้างก้นที่ผลิตน้ำมันชะมดซึ่งเป็นสารเคมีกลิ่นฉุนออกมาเพื่อใช้ในแสดงสถานะของการติดสัดในช่วงที่ติดสัด ชะมดเช็ดทั้งตัวผู้ตัวเมียจะเอาต่อมนี้ป้ายบนสิ่งต่าง ๆ เพื่อทิ้งคราบน้ำมันชะมดไว้ จากการสังเกตในกรงเลี้ยง ชะมดตัวเมียจะป้ายเฉพาะกรงตัวเอง แต่ชะมดตัวผู้ป้ายทั้งกรงของตัวเมียและกรงของตัวผู้ตัวอื่นด้วย
แม้ว่าบางครั้งชะมดเช็ดสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านเพราะไปลักจับเป็ดไก่มากิน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นสัตว์มีประโยชน์เพราะช่วยกำจัดสัตว์รบกวน ชาวบ้านบางพื้นที่เลี้ยงชะมดเพื่อกำจัดหนู นอกจากนี้ น้ำมันชะมดจากต่อมชะมดของสัตว์ชนิดนี้ก็ยังเป็นวัตถุดิบที่นำไปทำเป็นน้ำหอมได้
ชะมดเช็ดผสมพันธุ์ปีละครั้งในจีนพบว่ามีฤดูผสมพันธุ์สองฤดู ส่วนใหญ่ผสมพันธ์ในราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน แต่บางตัวกลับไปติดสัดเอาในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ส่วนในอินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา ไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน ออกลูกครั้งละ 2-5 ตัว ลูกชะมดหย่านมเมื่ออายุ 4-4.5 เดือน ในแหล่งเพาะเลี้ยง ชะมดเช็ดมีอายุได้มากถึง 22 ปี
แม้ชะมดเช็ดอาจถูกล่าบ้างแต่โดยรวมแล้วถือว่าไม่ถูกคุกคามมากนัก จำนวนประชากรในธรรมชาติของชะมดเช็ดยังถือว่าค่อนข้างคงที่ ไอยูซีเอ็นประเมินไว้ว่า มีความเสี่ยงน้อย (2551) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 3 ในไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชะมดเช็ดมีเขตกระจายพันธุ์ทั่วทวีปเอเชีย
ชะมดเช็ดปรับตัวเข้ากับสถานที่ได้หลากหลายมาก
จากการติดตามด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทย
ชะมดเช็ดเป็นสัตว์รักสันโดษ
ชะมดเช็ดมีต่อมชะมดที่ข้างก้นที่ผลิตน้ำมันชะมดซึ่งเป็นสารเคมีกลิ่นฉุนออกมาเพื่อใช้ในแสดงสถานะของการติดสัด
แม้ว่าบางครั้งชะมดเช็ดสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
ชะมดเช็ดผสมพันธุ์ปีละครั้ง
แม้ชะมดเช็ดอาจถูกล่าบ้าง
Viverricula indica | |
---|---|
ชื่อไทย | ชะมดเช็ด |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Viverricula indica |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Viverridae |
วงศ์ย่อย | Viverrinae |
สกุล | Viverricula |
ข้อมูลอ้างอิง
- Viverricula indica จาก animaldiversity.org
- Small Indian Civet จาก iucnredlist.org