อีเห็นเครือ, มูดสังไม้

Masked Palm Civet, Himalayan Palm Civet

Paguma larvata



อีเห็นเครือต่างจากอีเห็นชนิดอื่นที่เห็นได้ชัดคือ ลำตัวสีเรียบไม่มีลาย ขนสั้น สีขนหลากหลาย ตั้งแต่สีน้ำตาลอมเหลือง ส้ม จนถึงสีเทา ปลายขาทั้งสี่สีเข้มหรืออาจถึงดำ ใบหน้า แก้ม และใบหูดำ มีเส้นสีขาวผาดผ่านตามสันจมูกขึ้นไปถึงกระหม่อม รอบขอบตามีจุดขาว  หนวดขาว ด้านล่างของลำตัวสีซีด มีต่อมที่ก้นสี่ต่อมสามารถพ่นสารกลิ่นฉุนเพื่อไล่ศัตรู ตัวเมียมีหัวนมสี่หัว ลำตัวยาว 51-76 เซนติเมตร หางยาว 51-63 เซนติเมตร หนัก 3.6-6 กิโลกรัม

อีเห็นเครือมีสี่ชนิดย่อย ชนิดย่อย P. larvata wroughtoni  อาศัยอยู่ในแคชเมียร์ ปัญจาบตอนบน และบางส่วนของ Kumaun กับ Garhwal ชนิดย่อย P. larvata grayi  พบใน Kumaun และ Garhwal ชนิดย่อย P. larvata neglecta  พบได้ตั้งแต่สิกขิมมาทางตะวันออกจนถึงจีนใต้และอินโดจีน ชนิดย่อย P. larvata tytlerii  พบได้ในหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์

อีเห็นเครือมีเขตกระจายพันธุ์กว้างกว่าอีเห็นและชะมดทุกชนิด พบได้ทั่วเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ตั้งแต่ปากีสถาน รวมถึงเกาะหลายแห่งเช่นบอร์เนียว สุมาตรา ไต้หวัน นิโคบาร์ ส่วนในญี่ปุ่นเดิมไม่เคยมี แต่ต่อมามีการนำเข้าไปเลี้ยงในต้นศตวรรษที่ 20 

อีเห็นชนิดนี้อาศัยได้ในพื้นที่หลายประเภท พบได้ในป่าฝนเขตร้อนและป่าเบญจพรรณเขตอบอุ่น ป่าบนภูเขาสูง หรือแม้แต่ป่าใกล้ชุมชน

แม้จะอยู่ในอันดับสัตว์นักล่า แต่อีเห็นเครือกินผลไม้มากกว่าเนื้อสัตว์ สัตว์ที่กินได้แก่สัตว์เล็ก เช่นกระรอก นก และแมลง หากินตอนกลางคืนโดยลำพัง มักหากินบนต้นไม้ เวลากลางวันมันหลับอยู่ตามยอดไม้ พื้นที่หากินแต่ละตัวเฉลี่ยราว ตารางกิโลเมตร เมื่อตกใจจะพ่นของเหลวจากต่อมข้างก้นใส่ศัตรู คล้ายกับที่สกังก์ทำ

อีเห็นเครือตั้งท้องได้ปีละสองครั้ง ไม่มีฤดูกาลผสมพันธุ์ที่แน่นอน ตัวเมียอาจออกลูกได้ปีละสองครั้ง ครอกหนึ่งมีตั้งแต่ 1-4 ตัว ลูกอีเห็นลืมตาได้เมื่ออายุได้ วัน พออายุได้ เดือนก็ตัวเท่าพ่อแม่แล้ว 

ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุได้ถึง 20 ปี ในธรรมชาติคาดว่ามีอายุขัยราว 10 ปี

ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้ในระดับมีความเสี่ยงน้อย (LC) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 3

ทราบหรือไม่?

โรคซาร์สที่ระบาดในปี 2546 เชื่อว่าคนได้รับเชื้อจากอีเห็นเครือ เนื่องจากอีเห็นเครือเป็นอาหารจานเด็ดของคนจีน แต่นักไวรัสวิทยาสันนิษฐานว่าอีเห็นเครืออาจไม่ใช่แหล่งกำเนิดเชื้อชนิดนี้ แต่รับมาจากสัตว์ชนิดอื่นอีกต่อหนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นสัตว์ชนิดใด
ของเหลวที่พ่นออกมาจากต่อมข้างก้นมีส่วนผสมของ civetone (9-cis-cycloheptadecenone) และ methyl ketones
ชาวบ้านบางพื้นที่เลี้ยงอีเห็นเครือไว้เป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อช่วยกำจัดหนู

คลิปอีเห็นเครือจากโซเชียลมีเดีย


จากคุณ Yann Ouansing
Paguma larvata
ชื่อไทยอีเห็นเครือ, มูดสังไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์Paguma larvata
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Viverridae
วงศ์ย่อยParadoxurinae
สกุลPaguma

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 3 พ.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai