ค่างแว่นถิ่นใต้
Dusky Leaf-monkey, Dusky Langur, Dusky Leaf Monkey, Spectacled Langur, Spectacled Leaf Monkey
Trachypithecus obscurus
ค่างแว่นถิ่นใต้ (Trachypithecus obscurus) (ภาพโดย แสงชัย เตชะสถาพร)
ค่างแว่นถิ่นใต้
มีสีสันได้หลายแบบ ช่วงบนอาจมีสีน้ำตาล เทา หรือดำ ส่วนช่วงล่าง ขาหลัง และหางสีเทาอ่อน ใบหน้าสีเทา รอบปากสีขาว มักมีแต้มขาวรอบดวงตาเหมือนใส่แว่น ความยาวหัว-ลำตัว 42-61 เซนติเมตร หางยาว 50-85 เซนติเมตร แต่ความยาวหางแต่ละตัวก็ต่างกัน บางตัวสั้นไม่มีขนหาง บางตัวหางยาวและขนหางแน่น ตัวผู้และตัวเมียคล้ายกัน แต่ตัวผู้ตัวใหญ่กว่าและหนักกว่าเล็กน้อย น้ำหนักเฉลี่ยของตัวผู้ 7.4 กิโลกรัม ส่วนตัวเมีย 6.5 กิโลกรัม มือและตีนใช้ยึดจับสิ่งของต่าง ๆ ได้เกือบเหมือนมนุษย์ อุ้งมือและอุ้งตีนสีดำไม่มีขน
ค่างแว่นถิ่นใต้พบในคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะใกล้เคียง ภาคใต้ของไทยและพม่า อยู่ในสภาพพื้นที่หลากหลาย อาศัยอยู่บนต้นไม้ ชอบป่าทึบที่มีต้นไม้สูง บางครั้งอาจพบในป่าชั้นสองหรือแม้แต่ในเขตชุมชนมนุษย์ด้วย
ชนิดย่อย | เขตกระจายพันธุ์ |
---|
T. o. obscurus | คาบสมุทรมลายู เหนือสุดถึงรัฐปะลิส |
T. o. flavicauda | ตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู ตั้งแต่รัฐปะลิสขึ้นไป ตอนใต้ของพม่าและไทย |
T. o. halonifer | เกาะปีนัง |
T. o. carbo | ชายฝั่งตะวันตกของมาเลเซียและไทย เกาะตะรุเตา ดายังบันติง และลังกาวี |
T. o. styx | เกาะเพอร์เฮนเทียนตะวันออกและอาจรวมถึงเกาะข้างเคียง |
T. o. seimundi | เกาะพงัน และอาจรวมถึงเกาะข้างเคียง |
T. o. sanctorum | เกาะ Zadetkyi (เกาะเซนต์แมททิว) ของประเทศพม่า |
ค่างแว่นถิ่นใต้หากินเวลากลางวัน รวมฝูงกันปีนป่ายหากินอยู่ตามเรือนยอดของป่า เวลากลางคืนจะกลับไปนอนที่ต้นประจำ มักอยู่บนเรือนยอดที่ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 35 เมตร ปีนและเดินไปตามกิ่งไม้ด้วยขาทั้งสี่ กินใบไม้ ยอดไม้ และเมล็ดพืชเป็นอาหารหลัก โดยเด็ดใบใส่ปาก หรือบางครั้งอาจใช้แขนโน้มกิ่งมาแล้วกัดเล็มใบไม้โดยตรง กินอาหารมากถึงวันละ 2 กิโลกรัม จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพืช
ค่างแว่นถิ่นใต้ผู้หนึ่งมีประมาณ 5-20 ตัว แต่ละฝูงมักมีตัวผู้เต็มวัยอย่างน้อย 1 ตัว และตัวเมียเต็มวัยอย่างน้อย 2 ตัว ตัวผู้ในฝูงมีหน้าที่รับผิดชอบปกป้องฝูง รวบรวมสมาชิกในฝูง และลาดตระเวณตามขอบของอาณาเขต ส่วนค่างวัยรุ่นและวัยเด็กจะเล่นกันใกล้ ๆ ตัวเมียที่เป็นผู้ใหญ่ ส่งเสียงร้องได้หลายแบบและเสียงดัง
ค่างแว่นถิ่นใต้ไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน ตัวเมียมีคาบระดูประมาณ 3 สัปดาห์ แม่ค่างมักออกลูกราวเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ออกลูกครั้งละตัว ตั้งท้องนาน 145 วัน ลูกค่างแรกเกิดสีทองอมส้ม และใบหน้าสีชมพู สีขนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเมื่ออายุได้ 6 เดือน ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 3-4 ปี ปกติมีช่วงการกำเนิดลูกนานประมาณ 2 ปี
อายุขัยในธรรมชาติไม่ทราบแน่ชัด แต่หากเทียบกับค่างหงอก (Trachypithecus cristatus) ซึ่งมีอายุในแหล่งเพาะเลี้ยง 31 ปี ค่างแว่นถิ่นใต้ก็น่าจะมีอายุขัยใกล้เคียงกัน ส่วนอายุขัยในธรรมชาติจะสั้นกว่าในแหล่งเพาะเลี้ยง
ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 2 ไอยูซีเอ็นประเมินว่าใกล้ถูกคุกคาม ไทยถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ค่างแว่นถิ่นใต้จากโซเชียลมีเดีย
Trachypithecus obscurus |
ชื่อไทย | ค่างแว่นถิ่นใต้ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Trachypithecus obscurus |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Primates |
วงศ์ | Cercopithecidae |
วงศ์ย่อย | Colobinae |
สกุล | Trachypithecus |
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 31 ต.ค. 66