ค่างหงอก

silvered leaf monkey, silver langur, silvered langur, silvered lutong, silvered lutung, silvered monkey, silvery leaf monkey, silvery langur, silvery lutung

Trachypithecus cristatus

ค่างหงอก (Trachypithecus cristatus(ภาพโดย นรา จิตต์สม)


ค่างหงอกเป็นค่างขนาดเล็ก มีสีเทา สีขนอาจมีความหลากหลายตั้งแต่สีน้ำตาล เทา จนถึงดำ บางตัวอาจมีสีต่างไปโดยสิ้นเชิง เช่นที่สีแดงซึ่งพบในบอร์เนียว แต่ไม่ว่าจะมีสีพื้นอะไรก็จะมีขนบางส่วนที่เป็นสีเทาอ่อน ทำให้ดูวาวเหมือนสีเงิน ขาและแขนสีดำ ยึดจับได้ดี ตัวผู้และตัวเมียรูปร่างคล้ายกันมาก ความแตกต่างระหว่างเพศที่พอจะสังเกตได้ก็คือแต้มสีขาวที่สีข้างของตัวเมีย และตัวผู้ออกจะใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย หนักเฉลี่ย 7.1 กิโลกรัม ลำตัวยาว 52.4-56 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียหนัก 6.2 กิโลกรัม ยาว 46.5-49.6 เซนติเมตร หางยาว 63-84 เซนติเมตร 

ค่างหงอกพบได้ทั่วเอเชียตะนออกเฉียงใต้ ทั้งบนแผ่นดินใหญ่และเกาะบอร์เนียว สุมาตรา ชวา และหมู่เกาะนาทูนา (ชนิดย่อย T. c. vigilans)



เช่นเดียวกับค่างในวงค์ย่อย Colobinae ทุกชนิด ค่างหงอกชอบอยู่ในป่าทึบ แต่ในบางพื้นที่ก็อาจปรับตัวให้เข้ากับป่าประเภทอื่นได้ เช่นค่างหงอกในชวาและสุมาตราอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าลึก ในขณะที่ค่างหงอกในคาบสมุทรมลายูอาศัยอยู่ในป่าชายเลนหรือป่าใกล้ชายฝั่ง บางครั้งอาจพบได้ในป่าไผ่หรือป่าบึงด้วย 

ค่างหงอกหากินเวลากลางวัน กินใบไม้อ่อนเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้ยังมี ผลไม้ เมล็ดพืช หน่อ ดอก ในพุงจะป่องและเต็มไปด้วยแบคทีเรียเพื่อหมักใบไม้ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องป่องเพื่อเก็บใบไม้จำนวนมากได้ ทั้งนี้เนื่องจากอาหารที่ค่างกินเป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ

ค่างหงอกอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก ลงพื้นดินไม่บ่อยนัก และหากรู้สึกถึงอันตราย ก็จะรีบกลับขึ้นไปบนต้นไม้ทันที ฝูงค่างประกอบด้วยตัวเมีย 9-48 ตัว มีแหล่งหากินเฉพาะที่  ขี้อายมาก ไม่ชอบอยู่ใกล้คน ฝูงปกติของค่างหงอกมักมีตัวผู้เป็นหัวหน้าฝูงตัวเดียว ต่อสู้ปกป้องฝูงและครอบครองตัวเมียในฝูงได้หลายตัว บางฝูงอาจเป็นฝูงชายล้วน หรือตัวผู้บางตัวก็หากินโดยลำพังไม่เข้าฝูง บางครั้งตัวผู้ในฝูงชายล้วนหรือตัวผู้อิสระก็อาจมีการท้าทายแย่งชิงตำแหน่งจากตัวผู้หัวหน้าฝูงที่ครอบครองตัวเมียก็ได้ หากผู้ท้าชิงเป็นฝ่ายชนะ ก็จะได้ครอบครองฝูงแทน ในกรณีนี้เด็กอ่อนในฝูงมักถูกฆ่าตาย 

แม้ค่างหงอกเป็นสัตว์รักสงบ บางครั้งก็อาจมีการวิวาทระหว่างฝูงในการแย่งชิงดินแดนบ้าง ส่วนใหญ่การวิวาทนั้นก็จะลงเอยด้วยการต่างฝ่ายต่างอยู่ในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียง การกระทบกระทั่งภายในฝูงก็อาจมีได้เช่นกัน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ ส่วนการอาศัยร่วมกับสัตว์ชนิดอื่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับค่างหงอก เคยมีการพบค่างหงอกหากินร่วมกับลิงแสมด้วย พื้นที่หากินฝูงหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 43 เฮกแตร์

ตัวเมียในฝูงเดียวกันมักช่วยกันดูแลเด็ก ๆ ในฝูง รวมถึงยอมให้ลูกตัวอื่นดูดนมตัวเองด้วย 

ค่างหงอกไม่มีฤดูกาลผสมพันธุ์ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามอัตราเกิดมักสูงสุดราวเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ แม่ค่างตั้งท้องนาน 6-7 เดือน คาบการเป็นสัด 24 วัน ตัวเมียมักให้กำเนิดมากกว่าหนึ่งครั้งในแต่ละปี บางครั้งอาจออกลูกแฝดได้แต่เกิดขึ้นได้ยาก ค่างแรกเกิดตัวยาว 20 เซนติเมตร หนัก 0.4 กิโลกรัม ขนตามลำตัวมีสีส้ม ส่วนหัวมือ ตีน และหน้าสีขาว สีขนจะเปลี่ยนไปเป็นสีดำแบบผู้ใหญ่ภายในเวลา 3-5 เดือน เมื่ออายุได้ ปี ก็จะตัวเท่าผู้ใหญ่แล้ว ตัวผู้ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ ปี ตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุอยู่ระหว่าง 4-5 ปี

ในแหล่งเพาะเลี้ยง ค่างหงอกมีอายุได้ถึง 29 ปี แต่ในธรรมชาติมักมีอายุได้ราว 20 ปี 

ไอยูซีเอ็นประเมินว่ามีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (2551) ไซเตสจัดค่างหงอกไว้ในบัญชีหมายเลข ไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

Trachypithecus cristatus
ชื่อไทยค่างหงอก
ชื่อวิทยาศาสตร์Trachypithecus cristatus
ชั้นMammalia
อันดับPrimates
วงศ์Cercopithecidae
วงศ์ย่อยColobinae
สกุลTrachypithecus

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 21 พ.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai