แมวออนซิลลา

Oncilla, Tiger cat, little tiger cat, little spotted cat, tiger ocelot, tiger cat

Leopardus tigrinus

ลักษณะทั่วไป


แมวออนซิลลา (ภาพจาก วิกิพีเดียคอมมอนส์) 


ออนซิลามีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษหลายชื่อ เช่น Tiger Cat, Little Spotted Cat, Tiger Ocelot, Tigrillo, Cunaguaro, Oncila จึงอาจมีผู้เรียกแมวชนิดนี้ไปหลายชื่อ เช่นแมวเสือ แมวเสือโคร่ง แมวจุดเล็ก โอเซลอตเสือโคร่ง ในที่นี้ขอเรียกชื่อเดียวว่า ออนซิลลา ออนซิลลาเป็นแมวอยู่ในสกุล Leopardus เช่นเดียวกับ โอเซลอต และมาร์เกย์

ชื่อเรียกแมวออนซิลลาในภาษาต่าง 
อังกฤษOncilla, Tiger cat, little tiger cat, little spotted cat, tiger ocelot, tiger cat
ฝรั่งเศสchat tigre, oncille, Chat-tacheté
เยอรมันOnzille kleinflekenkatze, Ozelotkatze, Zwergtigerkatze
สเปนtigrillo, tirica, gato tigre, caucel, Gato Atigrado
อาร์เจนตินาgato tigre chico, gato onza chico, gato pintado chico
บราซิลgato do mato
เปรู,อาร์เจนตินา, กายานาchivi
โคลอมเบียtigrillo peludo, tigre gallinero
คอสตาริกาcaucél
เอกวาดอร์tigrillo chico
เฟรนช์เกียนาchat tigre tacheté, chat tig
ซูรินาเมocelot-cat, tigrikati
เวเนซุเอลาtigrito


ออนซิลลาเป็นแมวที่มีขนาดเล็กที่สุดชนิดหนึ่งในทวีปอเมริกา มีน้ำหนักเฉลี่ยเพียง 2.5 กิโลกรัม ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย ลวดลายโดยทั่วไปคล้ายมาร์เกย์ แต่จุดของออนซิลลาค่อนข้างจางกว่า ตัวบอบบางกว่า หางสั้นกว่า และขนไม่หนาแน่นเท่ามาร์เกย์

ออนซิลลามีขนสีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลแดงและเทา ลายจุดหรือเป็นดวงสีน้ำตาลเข้ม ใต้ลำตัวสีพื้นอ่อนมีจุดดำ ขาทั้งสี่มีลายจุดที่ด้านนอก หางมีลายปล้อง บริเวณโคนมีลายจุด ยาวประมาณร้อยละ 56  ของความยาวหัว-ลำตัว หัวแคบ มีเส้นขาวเหนือลูกตา ใบหูใหญ่ หลังใบหูสีดำ มีจุดสีขาวกลางใบหู ม่านตาสีเหลืองทองหรือน้ำตาลอ่อน ขนเรียบติดหนัง และไม่ลู่ย้อนกลับบริเวณท้ายทอยดังที่พบในโอเซลอตและมาร์เกย์ ออนซิลาดำแบบเมลานิซึมก็มีรายงานพบเช่นกัน โดยเฉพาะในป่าทึบทางตอนใต้ของประเทศบราซิล 

ปัจจุบันออนซิลลามีสี่ชนิดย่อย ดังนี้

Leopardus tigrinus tigrinus พบทางตะวันออกของเวเนซูเอลา กายานา และตอนเหนือของประเทศบราซิล
Leopardus tigrinus guttulus พบทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศบราซิล อุรุกวัย ปารากวัย และตอนเหนือของอาร์เจนตินา
Leopardus tigrinus oncilla พบในอเมริกากลาง
Leopardus tigrinus pardinoides พบทางตะวันตกของเวเนซูเอลา โคลอมเบีย เอกวาดอร์

การวิเคราะห์ทางดีเอ็นเอไมโตคอนเดรีย ชี้ว่า ออนซิลลาที่พบในคอสตาริกา (L. t. oncillaกับตัวที่พบในตอนใต้ของบราซิล (L. t. guttulusมีความแตกต่างกันมาก คาดว่าแมวสองส่วนนี้ถูกแยกออกจากกันเมื่อ 3.7 ล้านปีมาแล้วโดยแม่น้ำอะเมซอน ความแตกต่างนี้ทำให้มีความคิดที่จะจัดให้แมวในสองส่วนนี้เป็นแมวต่างชนิดกัน อย่างไรก็ตามยังต้องมีการเก็บตัวอย่างและศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีก 

เคยมีการพบแมวลูกผสมระหว่างออนซิลลากับแมวปัมปัส (Leopardus colocoloและออนซิลลากับแมวชอฟรัว (Oncifelis geoffroyiในพื้นที่ที่แมวเหล่านี้หากินร่วมกันด้วย

ถิ่นที่อยู่อาศัยและเขตกระจายพันธุ์


เขตกระจายพันธุ์ของแมวออนซิลลา 


ออนซิลลาชอบอาศัยอยู่ตามป่าบนภูเขาสูง พบอยู่ที่ระดับความสูงกว่ามาร์เกย์และโอเซลอต ในโคลัมเบียพบที่ระดับความสูงตั้งแต่เหนือ 1,500 เมตรจนถึง 4,500 เมตรหรือจรดแนวหิมะ เคยพบซากที่ระดับสูงสุดถึง 4,800 เมตร พบในที่ราบสูงแอนดีสในเขตประเทศเอกวาดอร์ซึ่งใช้พื้นที่ร่วมกับแมวปัมปัสและคูการ์ ในบราซิลพบในที่สูงกึ่งเขตร้อน ป่าชั้นสองและป่าละเมาะที่แห้งแล้ง เคบพบในป่าชากที่เคยเป็นสวนยูคาลิปตัสที่อยู่ระดับสูง 600 เมตร ในป่าอเมซอนพบบริเวณชายป่าแต่ในป่าลึกพบได้น้อย

อุปนิสัย

เชื่อว่าออนซิลลาหากินเวลากลางคืนโดยลำพัง ออนซิลลาปีนป่ายได้คล่องแคล่ว แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ลงจากต้นไม้แบบเอาหัวลงอย่างมาร์เกย์ แม้ออนซิลลากับมาร์เกย์จะอาศัยในพื้นที่ร่วมกัน แต่ออนซิลลาออกจะชอบเหยื่อขนาดเล็กกว่า แมวทั้งสองชนิดนี้จึงมักไม่ค่อยมีปัญหากระทบกระทั่งกัน อาหารของออนซิลลาได้แก่สัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก วานรขนาดเล็ก นก แมลง และสัตว์เลื้อยคลาน 

ชีววิทยา

ออนซิลลาตัวเมียติดสัดนานหลายวัน ช่วงนี้ตัวผู้จะดุร้ายต่อตัวเมียมาก ในแหล่งเพาะเลี้ยงพบว่าตั้งท้องนาน 74-76 วัน ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว ลูกแมวแรกเกิดหนักราว 58-116 กรัม ลืมตาได้เมื่ออายุ 17 วัน และหย่านมได้เมื่ออายุ 2-3 เดือน แมวรุ่นใหม่จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เมื่ออายุตั้งแต่หนึ่งปีครึ่งถึงสองปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุเฉลี่ย 11 ปี เคยพบตัวที่อายุมากที่สุด 20 ปี 

ภัยที่คุกคาม

ด้วยขนที่สวยงาม ทำให้ออนซิลาถูกล่าอย่างหนักเพื่อเอาหนัง นอกจากนี้ที่ราบสูงหลายแห่งซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของมันก็ถูกเปลี่ยนเป็นไร่กาแฟหรือยูคาลิปตัส ในป่าอเมซอนที่น่าจะเป็นฐานที่มั่นสำคัญของแมวหลายชนิดกลับมีประชากรแมวชนิดนี้ต่ำมาก (น้อยกว่า 0.01 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร) ส่วนใหญ่พบอยู่นอกเขตอนุรักษ์ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียที่อยู่อาศัยและถูกล่า การเพาะพันธุ์ในแหล่งเพาะเลี้ยงให้ผลไม่ดีนัก เนื่องจากมีอัตราตายในวัยทารกสูง อย่างไรก็ตาม เอสโอเอสแคร์ (SOS care) ในแคลิฟอร์เนียเป็นหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์แมวชนิดนี้และกลายเป็นผู้เพาะพันธุ์ออนซิลลาที่สำคัญ

สถานภาพ

ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข  ไอยูซีเอ็นประเมินว่า เสี่ยงสูญพันธุ์ (2551) (A3c)

ประเทศที่ห้ามล่า

อาร์เจนตินา บราซิล โคลอมเบีย คอสตาริกา เฟรนช์เกียนา ปารากวัย ซูรินาเม เวเนซูเอลา 

ประเทศที่ไม่คุ้มครอง

เอกวาดอร์ กายานา นิคารากัว ปานามา เปรู
Leopardus tigrinus
ชื่อไทยแมวออนซิลลา
ชื่อวิทยาศาสตร์Leopardus tigrinus
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลLeopardus

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://www.canuck.com/iseccan/oncilla.html
  • http://lynx.uio.no/catfolk/tigrin01.htm
  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/tigcat.htm

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ก.ย. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 22 ต.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai