แมวชอฟรัว

Geoffroy's Cat

Oncifelis geoffroyi

ลักษณะทั่วไป




เป็นแมวขนาดเท่าแมวบ้าน ความยาวลำตัวประมาณ 55-70 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 3-5 กิโลกรัม ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย สีพื้นสีน้ำตาลอ่อน ตามลำตัวมีจุดกลมสีดำขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่ว แต่ละจุดขนาดเกือบเท่ากันและกระจายสม่ำเสมอกัน จุดบริเวณคอจะเชื่อมต่อเรียงกันเป็นสายสร้อย มีลายเส้นพาดผ่านกระหม่อม และสองเส้นพาดผ่านแก้มแต่ละข้าง ส่วนล่างของลำตัวมีสีพื้นจางลงแต่ก็มีจุดเหมือนกัน ขาสั้นม่อต้อ ขาส่วนบนมีลายแถบ ส่วนล่างเป็นลายจุดลงไปจนถึงตีน หางมีปล้องดำหลายปล้อง ปลายหางดำ หางยาวเกินครึ่งหนึ่งของความยาวหัวและลำตัวเล็กน้อย หูใหญ่กลม หลังใบหูสีดำตรงกลางใบหูสีขาว ม่านตาอาจเป็นไปได้หลายสีตั้งแต่สีทองจนถึงสีเทาอมเขียว

แมวที่อยู่ในตอนเหนือของพื้นที่ตัวใหญ่กว่าทางใต้ ขนยาวกว่าและซีดกว่า ส่วนทางใต้ลงมาสีจะค่อนไปทางสีเทาออกเงิน ส่วนพวกที่อยู่ค่อนไปทางเหนือถึงประเทศปารากวัยตัวจะเล็กกว่าและขนคล้ำกว่า สีสันออกไปทางแดงเหลืองปนแดง พวกที่อยู่ทางตอนเหนือของอาร์เจนตินามีลายจุดจางต่างจากแมวชอฟรัวทั่วไป ในสมัยก่อนเคยเข้าใจไปว่าเป็นแมวต่างชนิด เรียกว่า "แมวทะเลทรายเกลือ" (salt desert cat)

นอกจากแมวชอฟรัวลายจุดทั่วไปแล้ว ยังมีแมวชอฟรัวดำ ที่เป็นความผิดปรกติแบบเมลานิสติกเช่นเดียวกับเสือดำ แมวชอฟรัวดำพบได้บ่อยตามบริเวณที่เป็นป่าทึบในตอนเหนือของเขตกระจายพันธุ์ 

ชื่อสามัญของแมวชนิดนี้ตั้งตามนักธรรมชาติวิทยาในศตวรรษที่ 19 ชอฟรัว เซนต์ ฮีแลร์ (Geoffroy St Hilaire) 

ชื่อเรียกแมวชอฟรัวในภาษาต่าง 
อังกฤษ  Geoffroy’s Cat
ฝรั่งเศส  chat de Geoffroy
เยอรมัน  Geoffroykatze, Kleinfleckkatze, Salzkatze
สเปน  gato de mato, gato montés, gato de las salinas
อาร์เจนตินา  gato montés comun
บราซิล  gato do mato pelo curto, gato do mato de Geoffroy
ชิลี  gato montés argentino
เปรู  osjo


ชนิดย่อย

O.g.euxanthus โบลิเวีย
O.g.geoffroyi อาร์เจนตินาตอนกลาง
O.g.paraguae บราซิลตอนใต้ อุรุกวัย ปารากวัย
O.g.salinarium เขตชาโก

ถิ่นที่อยู่อาศัย


เขตกระจายพันธุ์ของแมวชอฟรัว 


แมวชอฟรัวอาศัยได้ในพื้นที่หลายแบบ พบได้ตั้งแต่ทุ่งหญ้าปัมปัสทั้งที่ราบและตีนเขา  ป่าละเมาะที่มีหินระเกะระกะ ป่าไม้พุ่มชาโก ป่าไม้แล้ง จนถึงทะเลทรายเกลือในอาร์เจนตินา แต่ไม่พบในป่าฝนเขตร้อนและป่าไม้ใบกว้างทางตอนใต้ มักเลี่ยงพื้นที่เปิดโล่ง พบได้ที่ความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 3,300 เมตร ในโบลิเวีย อาร์เจนตินา ปารากวัย และบราซิล พบได้ในแถบตีนเขาในเทือกเขาแอนดีสด้านปาตาโกเนีย แต่ไม่พบในป่าพืชเมล็ดเปลือยซึ่งมีตัวคอดคอด (Oncifelis guignaอยู่ เขตกระจายพันธุ์แผ่ไปทางใต้ไกลถึงช่องแคบแมเจเลน นับเป็นแมวที่มีเขตกระจายพันธุ์ใกล้ขั้วโลกใต้ที่สุด (เท่ากับเสือพูมาพื้นที่ส่วนใหญ่ที่แมวชอฟรัวอยู่มักมีแมวปัมปัสอยู่ด้วย 

อุปนิสัย

แมวชอฟรัวหากินเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเวลากลางวันหลับพักผ่อนอยู่บนกิ่งไม้เตี้ย ๆ หรือในพุ่มไม้ทึบ อาหารหลักได้แก่นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก เช่นหนู หนูตะเภา อะกูตี กบ ปลา กิ้งก่า และแมลง และเคยพบว่ามันลากกระต่ายป่ายุโรปขึ้นไปบนต้นไม้ด้วย

แมวชนิดนี้ใช้พื้นที่หากินน้อย จากการติดตามแมวชอฟรัวตัวผู้เต็มวัยห้าตัวทางวิทยุพบว่า พื้นที่หากินกว้างประมาณ 9.21 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียตัวหนึ่งมีพื้นที่ 5.16 ตารางกิโลเมตร ส่วนอีกตัวหนึ่งมีพื้นที่ 2.33 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ของตัวเมียจะซ้อนทับกันแต่ของตัวผู้จะไม่ซ้อนทับกัน คาดว่าความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ที่ดีที่สุดอยู่ที่ประมาณ 1.2 ตัวต่อ 10 ตารางกิโลเมตร (รวมลูก) ส่วนในทุ่งหญ้าสลับป่าไม้พุ่มมีความหนาแน่นประชากรประมาณ 0.7 ตัวต่อ 10 ตารางกิโลเมตร

เนื่องจากใช้พื้นที่หากินน้อยและจับเหยื่อได้หลายประเภท จึงมีจำนวนประชากรอยู่มาก ความจริงแมวชอฟรัวเป็นแมวป่าที่มีประชากรมากที่สุดในอเมริกาใต้

แมวชอฟรัวมักพบอยู่บนพื้นดินมากกว่าบนต้นไม้ แต่ก็ปีนป่ายและว่ายน้ำได้เก่ง ลูกแมวที่อายุเพียง สัปดาห์ก็ปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่กลัวความสูงเลย คนพื้นเมืองเล่าว่าแมวชนิดนี้ไม่กลัวน้ำ แม้ชื่อพื้นเมืองที่นี่คือ "gato montes" ซึ่งแปลว่าแมวภูเขาก็ตาม แต่บางครั้งชาวบ้านก็เรียกแมวชนิดนี้ว่า "เสือปลา" เหมือนกัน ในอุทยานแห่งชาติตอเรสเดลไปย์เนในชิลีเคยพบว่าแมวชอฟรัวตัวหนึ่งว่ายข้ามลำน้ำเชี่ยวที่กว้าง 30 เมตรไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง 

ชีววิทยา

ชีวิตครอบครัวของแมวชอฟรัวแปลกกว่าแมวทั่วไปอย่างหนึ่งนั่นคือ ตัวผู้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกเล็กน้อย แม่แมวมีช่วงเวลาเป็นสัดประมาณ 2.5 วัน คาบการเป็นสัด 20 วัน ตั้งท้องนานประมาณ 72-78 วัน มักออกลูกราวเดือนธันวาคม-พฤษภาคม ออกลูกตามหลืบหินหรือในพุ่มไม้ ออกลูกคราวละ 1-4 ตัว (ส่วนใหญ่ 2-3 ตัว) ลูกแมวแรกเกิดหนัก 60-100 กรัม ยืนได้ตั้งแต่อายุได้ วัน เมื่ออายุได้ เดือนลูกแมวก็จะหย่านมแล้ว และเมื่ออายุได้ เดือนก็เป็นอิสระจากแม่ ตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 18 เดือน ส่วนตัวผู้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 24 เดือน วัยเจริญพันธุ์บางตัวอาจเร็วถึง 9-12 เดือน แมวตัวเมียออกลูกได้ทุกปี เทียบกับแมวบ้านแล้ว ลูกแมวชอฟรัวเจริญเติบโตค่อนข้างช้ากว่า อายุขัยราว 18 ปี

ภัยคุกคาม

เมื่อเทียบกับแมวชนิดอื่นในอเมริกาใต้ แมวชนิดนี้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างดี ดังนั้นเมื่อถิ่นที่อยู่อาศัยถูกรบกวน แทนที่จะย้ายออกไปหาที่อยู่ใหม่ กลับยังคงอยู่ที่เดิมและอาศัยประโยชน์จากการที่สัตว์ล่าเหยื่อชนิดอื่นหายไป ด้วยเหตุนี้แมวชอฟรัวจึงถูกดักและจับไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงได้ง่าย บางท้องที่ถึงกับเลี้ยงไว้จับหนูเหมือนแมวบ้าน บางครั้งถูกชาวบ้านกำจัดทิ้งเนื่องจากเป็นอันตรายต่อเป็ดไก่ที่เลี้ยงไว้  ยิ่งกว่านั้น ชาวบ้านบางแห่งก็ถือว่าแมวชอฟรัวเป็นอาหารจานเด็ด
แมวชอฟรัวเป็นแมวป่าที่ถูกล่ามากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก เฉพาะในประเทศอาร์เจนตินาประเทศเดียว มีการซื้อขายหนังแมวชอฟรัวมากถึง 350,000 ผืนในช่วงปี 2519-2522 แม้เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1980 การค้าขายก็ยังมีอยู่มากเนื่องจากการค้าขายหนังโอเซลอตน้อยลงเหลือปีละ 55,000 ผืนในช่วงปี 2523-2527 ด้วยเหตุนี้จำนวนประชากรของแมวชอฟรัวจึงลดลงไปอย่างมาก แม้การค้าขนสัตว์จะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ขนแมวชอฟรัวก็ยังพบได้ในตลาดในปารากวัยและอุรุกวัย ปัจจุบันคาดว่ายังมีการซื้อขายหนังแมวชอฟรัวถึงปีละ 150,000 ผืน แต่เป็นไปได้ที่หนังแมวชอฟรัวที่มีการค้าขายอยู่นี้มาจากการฆ่าในฐานะสัตว์รบกวนและสัตว์ที่คุกคามสัตว์เลี้ยงเป็นส่วนใหญ่
ในระยะหลังเริ่มมีภัยคุกคามชนิดใหม่เกิดขึ้นมาสำหรับแมวชนิดนี้ นั่นก็คือนักเพาะพันธุ์แมวแปลก จากความต้องการของคนเลี้ยงแมวที่อยากเห็นแมวพันธุ์แปลกใหม่ จึงมีความพยามยามที่จะนำแมวชอฟรัวแท้ผสมกับแมวบ้านหลายสายพันธุ์ แมวสายเลือดใหม่นี้มีชื่อว่า แมวซาฟารี ความต้องการนี้ทำให้แมวชอฟรัวพันธุ์แท้ต้องเสียโอกาสในการให้กำเนิดลูกหลานที่เป็นสายเลือดแท้ของตัวเองไป

สถานภาพ

แม้จะถูกล่าอย่างมาก แต่จำนวนประชากรของแมวชอฟรัวก็ยังมีอยู่มากเช่นกัน แมวชอฟรัวนับเป็นแมวที่พบเห็นได้ง่ายที่สุดในโลกในเขตกระจายพันธุ์ ยกเว้นเพียงทางตอนใต้ของชิลีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าไม้พุ่มที่หนาวเย็นแคบ ๆ ทางตะวันออกของเทือกเขาแอนดีส  แมวชอฟรัวได้รับการคุ้มครองตลอดเขตกระจายพันธุ์ ในปี 2535 ไซเตสได้บรรจุชื่อของแมวชอฟรัวไว้ในบัญชีหมายเลข  ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพของแมวชนิดนี้ว่า ใกล้ถูกคุกคาม (2550)

ประเทศที่ห้ามล่าและห้ามค้า

อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี ปารากวัย อุรุกวัย 

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 30 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 29 ก.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai