เสือโคร่ง

Tiger

Panthera tigris

เมื่อเอ่ยคำว่า "เสือ" ขึ้นมาเพียงคำเดียว ทุกคนคงจะนึกถึงเสือโคร่งเป็นอันดับแรก เพราะเสือโคร่งเป็นเสือที่ผู้คนรู้จักกันมากที่สุด มีลายพาดกลอนไม่เหมือนเสือชนิดอื่น รูปร่างสง่างาม ใหญ่โตกำยำ จึงเป็นตัวแทนของเสือทั้งมวล ในทวีปเอเชียเสือโคร่งได้รับการยกย่องให้เป็นจ้าวป่า เช่นเดียวกับที่สิงโตที่ครองตำแหน่งเป็นจ้าวแห่งท้องทุ่งในทวีปแอฟริกา

มีเรื่องเล่าและตำนานมากมายเกี่ยวกับเสือโคร่ง มันมักถูกเล่าขานในด้านความน่าสะพรึงกลัว น่าเกรงขาม หรือน่าเกลียดชังในฐานะ "สัตว์กินคน" รวมถึงความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับอำนาจลึกลับที่อยู่ในตัวเสือโคร่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างเสือโคร่งกับมนุษย์

อย่างไรก็ตาม เราเพิ่งจะทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเสือโคร่ง ทั้งด้านชีววิทยา การกินอยู่และอุปนิสัยของเสือโคร่งหลังจากมีการสำรวจอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เท่านั้น ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราได้พบคือ จ้าวป่าชนิดนี้กำลังใกล้สูญพันธุ์ เพียงช่วงศตวรรษที่ผ่านมามีเสือโคร่งที่สูญพันธุ์ไปแล้วถึง พันธุ์จากจำนวน พันธุ์ และเสือโคร่งที่เหลืออยู่ก็ลดจำนวนลง ทัศนคติที่ดีและความเข้าใจที่ถูกต้องเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างถูกทาง พวกเราทุกคนจึงควรทำความรู้จักกับเสือโคร่งให้ดียิ่งขึ้น ก่อนที่จะไม่มีเสือโคร่งเหลือให้รู้จัก

คำว่าเสือโคร่งในภาษาต่าง 
อังกฤษTiger
ฝรั่งเศสTigre 
เยอรมันTiger 
สเปนtigre 
อินเดีย บังกลาเทศbagh 
อินโดนีเซีย มาเลเซียrimau, harimau 
ลาวเสือโคร่ง เสือลาย 
ฟาร์ซีbabr 
รัสเซียtigr 
ทิเบตtag 
อูเดเกamba darla 
จีน虎, 老虎 


ลักษณะทั่วไป


เสือโคร่ง (ภาพโดย Theo Allofs WWF-US )


เสือโคร่งเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เสือไซบีเรียซึ่งเป็นเสือโคร่งพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักตัวถึงเกือบ 500 กก. ลำตัวมีสีเหลืองแดงหรือสีขมิ้น มีแถบสีดำหรือน้ำตาลพาดตามลำตัวตลอดในแนวตั้ง บริเวณหน้าอก ส่วนท้องและด้านในของขาทั้งสี่มีสีขาวครีม บางตัวอาจมีสีออกเหลือง มีกระบอกปากค่อนข้างยาว เสือโคร่งตัวผู้มีลักษณะเด่นที่ขนที่หลังแก้มทั้งสองด้านซึ่งจะยาวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเสือโคร่งพันธุ์สุมาตรา บริเวณจมูกมีสีชมพู ในบางตัวอาจมีสีดำปะปนเป็นแต้ม ๆ ม่านตาสีเหลือง รูม่านตากลม หูสั้นและกลม หลังหูมีสีดำและมีแต้มสีขาวเด่นชัดอยู่กลางใบหู ขาหน้าของเสือโคร่งจะบึกบึนและแข็งแรงกว่าขาหลัง ฝ่าตีนกว้าง หางยาวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว ปลายหางเรียว ลายดำที่หางมีลักษณะทั้งริ้วและปล้องปนกัน ปลายหางมักจะเป็นสีดำ เสือโคร่งใช้หางช่วยรักษาสมดุลของร่างกายขณะหันตัวอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ยังใช้ในการสื่อสารกับเสือตัวอื่นด้วย

ตีนหน้าของเสือโคร่งจะมีนิ้วอยู่ข้างละ นิ้ว ส่วนตีนหลังมีข้างละ นิ้ว เล็บสามารถหดเก็บไว้ในอุ้งได้ ทำให้สามารถเดินได้อย่างเงียบกริบ รอยตีนของเสือโคร่งจึงไม่ปรากฏรอยเล็บ

ลายพาดกลอนของเสือโคร่งแต่ละตัวมีความแตกต่างกันมาก และไม่ซ้ำกันเลยแม้แต่ตัวเดียว แม้แต่ลายทั้งสองข้างของลำตัวและลวดลายด้านข้างของใบหน้าของเสือแต่ละตัวก็มีลายไม่เหมือนกัน จุดสังเกตของแถบบนตัวเสือโคร่งคือ จำนวนแถบ ความกว้างของแถบ และการขาดของแถบกลายเป็นจุด อย่างไรก็ตาม เส้นสีดำเหนือลูกตาทั้งสองข้างค่อนข้างจะสมมาตรกัน เสือโคร่งพันธุ์สุมาตรามีริ้วลายมากที่สุด ส่วนเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียมีลายน้อยที่สุด

ขนาดและน้ำหนักของเสือโคร่งแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกันมาก เสือไซบีเรียตัวผู้มีขนาดใหญ่และแข็งแรงที่สุด มีความยาวลำตัวเกิน 10 ฟุต และหนักกว่า 300 กิโลกรัม ในขณะที่เสือโคร่งพันธุ์สุมาตราตัวเมียมีความยาวลำตัวสั้นกว่าถึง ฟุต และมีน้ำหนักน้อยเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น

เสือที่อยู่ในเขตหนาว เช่นเสือไซบีเรีย และเสือแคสเปียนในในเตอร์กิสถานและคอเคซัส มีขนในฤดูหนาวและในฤดูร้อนแตกต่างกันมาก ในฤดูหนาว ขนของมันจะยาวและแน่นมากจนดูทับกันเป็นปึก ในขณะที่สีสันก็จะจางซีดกว่าขนในฤดูร้อนด้วย

เสือโคร่งดำ เสือโคร่งขาว


เสือโคร่งดำ เป็นเสือโคร่งที่มีสีดำ เป็นที่กล่าวถึงมาเป็นเวลาช้านาน แต่ยังเป็นที่ยืนยันแน่ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เพราะขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามยังมีรายงานพบเห็นตัวอยู่นาน ๆ ครั้ง หลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการพบหนังเสือโคร่งดำในขณะที่มีการจับกุมการค้าหนังสัตว์เถื่อนที่เดลฮีในปี 2535 หนังผืนนั้นมีสีดำสนิทที่บริเวณกระหม่อมและกลางหลัง และค่อย ๆ จางลงไล่ลงมาตามข้างลำตัวจนถึงสุดแถบ หนังผืนนั้นไม่ได้เกิดจากความปกติของเม็ดสีแบบเมลานิซึมอย่างที่พบในเสือดำหรือจากัวร์ดำหรือเสือชนิดอื่น ๆ ซึ่งดำปลอดทั้งตัว แต่เชื่อว่าเป็นลักษณะของยีนอากูตี ซึ่งทำให้แถบดำเชื่อมต่อกัน ตัวอย่างของเสือที่มีลักษณะแบบนี้เคยมีผู้ถ่ายภาพได้ในอุทยานแห่งชาติกันนาของอินเดีย

เสือโคร่งลายแปลกที่ถ่ายได้ที่ Similipal Tiger Reserve มีลักษณะแถบดำแผ่กว้างกว่าปกติจนมีสีดำมากกว่าสีส้ม อาจใกล้เคียงกับ "เสือแมลงภู่"

เสือโคร่งขาว หรือเสือเบงกอลขาว มีรูปร่างเหมือนเสือโคร่งปรกติ แต่มีขนพื้นสีขาวและลายสีน้ำตาลเข้ม ม่านตาสีฟ้า เป็นเสือโคร่งที่คุ้นตาผู้คนมาก สามารถพบได้ในสวนสัตว์เกือบทุกแห่งรวมทั้งสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ในเมืองไทย แต่อย่างไรก็ตามเสือโคร่งขาวได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของอินเดียแล้ว ตัวสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นเป็นลูกเสือตัวผู้ที่ถูกจับได้มาจากรีวา ในตอนกลางของอินเดียโดยมหาราชาแห่งรีวาในปี พ.ศ. 2494 มีชื่อว่า โมฮัน เสือโคร่งขาวเกือบทั้งหมดที่อยู่ในสวนสัตว์และแหล่งเพาะเลี้ยงต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบันล้วนแต่เป็นลูกหลานของโมฮันทั้งสิ้น

เสือโคร่งขาวในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว 


เสือโคร่งขาวไม่ใช่เสือโคร่งเผือกแท้ แต่เป็นอาการผิดปรกติที่ผิวหนังมีจำนวนเม็ดสีน้อย เสือโคร่งขาวลำตัวมีพื้นสีขาวปลอดและมีลายพาดกลอนเป็นสีน้ำตาลและมีตาสีฟ้า 

ชนิดย่อยของเสือโคร่ง

เสือโคร่งแบ่งออกเป็นชนิดย่อยหรือได้ ชนิดย่อย มีเขตกระจายพันธุ์ ขนาด และน้ำหนักต่างกันไปดังนี้

ชนิดย่อยชื่อวิทยาศาสตร์เขตกระจายพันธุ์
เบงกอล (Bengal Tiger)P.t. tigris (Linnaeus, 1758)คาบสมุทรเบงกอล
แคสเปียน (Caspian Tiger)P.t. virgata (Illiger, 1815)แถบประเทศตุรกี อาฟกานิสถาน อิหร่าน จีนตะวันตก รัสเซีย เตอร์กิสถาน
ไซบีเรีย (Siberian Tiger, Amur Tiger)P.t. altaica (Temminck, 1844)ลุ่มแม่น้ำอะมูร์ในรัสเซีย ตอนเหนือของประเทศจีน และเกาหลีเหนือ
ชวา (Java Tiger)P.t. sondaica (Temminck, 1844)เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
จีนใต้ (South China Tiger)P.t. amoyensis (Hilzheimer, 1905)ประเทศจีนตอนใต้
บาหลี (Bali tiger)P.t. balica (Schwarz, 1912)อยู่ในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
สุมาตรา (Sumatran tiger)P.t. sumatrae (Pocock, 1929)เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย
อินโดจีน (Indo-Chinese tiger)P.t. corbetti (Mazák, 1968)คาบสมุทรอินโดจีน
มลายู (Malayan tiger)P.t. jacksoniคาบสมุทรมลายูตอนใต้ มาเลเซียและไทย



เปรียบเทียบขนาดของเสือโคร่งตัวเต็มวัยแต่ละพันธุ์ (Mazák 1981) (ที่มา http://lynx.uio.no/catfolk/tiger-01.htm)
พันธุ์น้ำหนัก (กก.)ความยาวลำตัว (ม.)*ความยาวกระโหลก (มม.)
ตัวผู้ตัวเมียตัวผู้ตัวเมียตัวผู้ตัวเมีย
เบงกอล180-258100-1602.7-3.12.4-2.65329-378275-311
แคสเปียน170-24085-1352.7-2.952.4-2.6316-369268-305
ไซบีเรีย180-306100-1672.7-3.32.4-2.75341-383279-318
ชวา100-14175-1152.48--306-349270-292
จีนใต้130-175100-1152.3-2.652.2-2.4318-343273-301
บาหลี90-10065- 802.2-2.31.9-2.1295-298263-269
สุมาตรา100-14075-1102.2-2.552.15-2.3295-335263-294
อินโดจีน150-195100-1302.55-2.852.3-2.55319-365279-302
มลายู120100....


ต้นกำเนิด

ในอดีตเคยมีเสือโคร่งอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีป่าไม้และทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ อันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง อาณาเขตของมันพบได้ไกลถึงชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งแสดงถึงอาณาเขตที่กว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก ด้วยอุปนิสัยของเสือโคร่งที่เป็นสัตว์ขี้ร้อน ชอบอยู่กับน้ำและอาศัยอยู่ในป่าลึกที่เย็นชื้นในเวลากลางวัน ก็อาจทำให้สันนิษฐานได้ว่าเสือโคร่งมีต้นกำเนิดมาจากแดนที่หนาวเย็น

จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์โดยเฮมเมอร์ ในปี 2530 และ มาซัค ในปี 2526 สันนิษฐานว่าเสือโคร่งมีต้นกำเนิดจากเอเชียตะวันออก และเริ่มกระจายพันธุ์ออกไปเป็นสองเส้นทางหลัก ๆ เมื่อราวสองล้านปีก่อน ทางตะวันตกเฉียงเหนือเสือโคร่งค่อย ๆ ย้ายถิ่นไปตามลำน้ำและป่าไม้ลงมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ เสือโคร่งแพร่พันธุ์ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางส่วนไปหมู่เกาะอินโดนีเซีย และบางส่วนไปถึงอินเดีย แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้เป็นลูกหลานโดยตรงมาจากบรรพบุรุษเสือโคร่ง ซึ่งเคยอยู่ในพื้นที่เดียวกันมาก่อน เสือโคร่งพันธุ์จีนใต้มีลักษณะของกะโหลกที่แตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างเด่นชัด เช่นกะโหลกที่สั้น และเบ้าตาที่ชิดกันและชี้ตรงไปข้างหน้ามากกว่าพันธุ์อื่น

ถิ่นที่อยู่อาศัย


เขตกระจายพันธุ์ของเสือโคร่งในปัจจุบัน 


เสือโคร่งอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่หลายประเภท ตั้งแต่ป่าดงดิบในเขตศูนย์สูตร ป่าผลัดใบในเอเชียใต้ ป่าสนและป่าโอ๊กในไซบีเรีย ป่าชายเลนในซุนดาบันส์ ป่าหญ้าแถบตีนเขาหิมาลัย เคยมีผู้พบเห็นรอยเสือโคร่งที่ระดับความสูงถึง 3,000 เมตรในเทือกเขาหิมาลัย ป่าอ้อ (ขณะหากินในป่าอ้อ บางครั้งเสือโคร่งอาจยืนขึ้นสองขาด้วยขาหลังแล้วกระโดดขึ้นเพื่อให้พ้นยอดอ้อ เพื่อดูสภาพโดยรอบ) นอกจากนี้ยังพบได้ในทุ่งหญ้าและบริเวณที่ลุ่มน้ำขัง โดยสรุปแล้วปัจจัยสำคัญสำหรับถิ่นที่อยู่ของเสือโคร่งไม่ใช่ชนิดของป่า ขอเพียงแต่ให้มีความรกทึบพอให้เป็นที่หลบภัยและซุ่มซ่อนได้ มีเหยื่อขนาดใหญ่ให้ล่า และมีแหล่งน้ำตลอดปี

เสือโคร่งต้องการเหยื่อที่เพียงพอ จึงต้องมีอาณาเขตที่กว้างขวางมาก อาณาเขตของเสือโคร่งแต่ละตัวมีความแตกต่างกันตามสภาพของแหล่งที่อยู่ ความอุดมสมบูรณ์ของเหยื่อ แหล่งน้ำ และเพศ สถานที่อยู่สำหรับเสือโคร่งตัวเมียจำเป็นต้องมีสถานที่ ๆ สะดวกสำหรับการออกลูกและเลี้ยงลูก ในขณะที่ตัวผู้มีอาณาเขตกว้างกว่าของตัวเมีย และจะซ้อนเลื่อมกับอาณาเขตของตัวเมียตัวอื่น 2-3 ตัว ในอุทยานแห่งชาติจิตวันในเนปาลและอุทยานแห่งชาติกันนาของอินเดีย เสือโคร่งตัวเมียมีอาณาเขตกว้าง 10-39 ตารางกิโลเมตร ตัวผู้มีอาณาเขตกว้าง 30-105 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่ทางตะวันออกสุดของรัสเซีย เป็นแหล่งที่มีจำนวนสัตว์เหยื่อกระจัดกระจายไม่สม่ำเสมอและมีการย้ายถิ่นตามฤดูกาล อาณาเขตของเสือโคร่งพันธ์ไซบีเรียจึงกว้างถึง 100-400 ตารางกิโลเมตรสำหรับตัวเมีย และกว้างถึง 800-1,000 ตารางกิโลเมตรสำหรับตัวผู้

มีผู้ประเมินความหนาแน่นของเสือโคร่งในเทือกเขาซิโฮเตอะลินในรัสเซียตะวันออกไว้ว่ามีเพียง 1.3-8.6 ต่อ 1,000 ตารางกิโลเมตร (รวมลูกเสือ) เท่านั้น ในขณะที่ในป่าเขตศูนย์สูตรมีความหนาแน่นของเสือโคร่งถึง 7-12 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร (รวมลูกเสือ)

อุปนิสัย


เสือโคร่งไม่กลัวน้ำ และชอบลงแช่น้ำในเวลาอากาศร้อน 


เสือโคร่งหากินในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่และมักจะเป็นช่วงหัวค่ำและเช้ามืด แต่ก็อาจออกหากินในเวลากลางวันได้เป็นบางครั้ง โดยเฉพาะในฤดูหนาวสำหรับเสือที่อาศัยอยู่ในเขตเหนือ เสือโคร่งมักใช้สายตาและการรับฟังช่วยในการล่ามากกว่าการรับกลิ่น อาหารส่วนใหญ่ของเสือโคร่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กระทิง วัว กวาง เลียงผา แอนติโลป ควาย เก้ง และหมูป่า บางครั้งก็อาจล่าลูกช้างหรือลูกแรดได้ เสือโคร่งในอินเดียมักชอบล่าสัตว์ใหญ่มากกว่าสัตว์เล็ก เช่นในอุทยานแห่งชาติจิตวัน อาหารหลักของเสือโคร่งคือ กวางป่า[/amial] รองลงมาคือกวางดาว ในนาการาโฮลพบว่าอาหารหลักคือกระทิงและกวางป่า ส่วนเสือโคร่งในเมืองไทยไม่ค่อยล่าสัตว์ใหญ่บ่อยนัก จากการสำรวจพบว่าอาหารหลักของเสือโคร่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคือเก้ง กวางป่า หมูป่า และหมูหริ่ง ตามลำดับ

ในภาวะอาหารขาดแคลน เสือโคร่งก็อาจล่าสัตว์เล็กอย่างลิง นก ปลา หรือสัตว์เลื้อยคลาน บ้างเช่นกัน บางครั้งเสือโคร่งอาจฆ่าและกินเสือดาวหรือแม้แต่เสือโคร่งด้วยกันเอง รวมถึงสัตว์ล่าเหยื่อชนิดอื่นเช่นหมีควายด้วย

เสือโคร่งหาเหยื่อโดยใช้วิธีซุ่มรอเช่นเดียวกับเสือและแมวทั่วไป โดยอาศัยต้นไม้ใบหญ้าพรางตัวแล้วค่อย ๆ ย่องเข้าไปใกล้เหยื่อทางด้านหลังหรือด้านข้าง เมื่อได้จังหวะและระยะพอเหมาะจะกระโจนเข้าใส่อย่างรวดเร็ว จุดตายสำคัญที่เสือโคร่งเลือกกัดคือคอ การเลือกตำแหน่งกัดว่าจะเป็นด้านหน้าคอหรือหลังคอขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของเหยื่อ ขนาดของเสือ ทิศทางการเข้าจู่โจมว่าจะเป็นจากด้านหน้า ด้านข้างหรือด้านหลัง และลักษณะการต่อสู้ของเหยื่อ มันจะเลือกวิธีที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บน้อยที่สุด เมื่อเสือล้มเหยื่อลงได้แล้ว มันจะเข้ากัดที่คอหอยและค้างไว้ให้เหยื่อหายใจไม่ออกจนตาย การกัดที่จุดนี้มีข้อได้เปรียบกว่าการกัดที่จุดอื่น ๆ เพราะเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยจากเขาและจากการเตะถีบของเหยื่อ และยังทำให้ง่ายในการบังคับไม่ให้เหยื่อลุกขึ้นยืนอีกครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่มักใช้กับเหยื่อขนาดใหญ่เช่นกระทิงหรือกวาง หากเป็นเหยื่อตัวเล็ก เสือมักเลือกที่จะกัดตรงด้านหลังคอที่ตำแหน่งใกล้กะโหลก แรงกัดจะทำให้กระดูกคอแตกและกดเส้นประสาทจนเหยื่อตาย

เมื่อเสือโคร่งจับเหยื่อได้ มันมักลากเหยื่อไปยังที่ลับตาเช่นใต้เงาไม้และใกล้น้ำ เพื่อที่จะกินน้ำได้สะดวก มันมีพลังมากอย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่ซากกระทิงที่หนักกว่าตัวมันหลายเท่ามันก็ยังลากไปได้ หลังจากที่กินอาหารอิ่มแล้ว หากเหยื่อยังเหลือ มันมักจะอยู่ไม่ไกลจากเหยื่อนั้นมากนัก เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์กินซากอื่น ๆ มาแอบกินเหยื่อ บางครั้งมันก็เอากิ่งไม้ใบไม้มาบังเหยื่อเพื่ออำพรางด้วย

เสือโคร่งกำลังลากกวางดาวที่เพิ่งจับได้ 


เสือโคร่งตัวหนึ่งกินอาหารครั้งละประมาณ 18-40 กิโลกรัม โดยจะเริ่มกินที่สะโพกก่อนเสมอ หากเหยื่อไม่ถูกขโมยไปเสียก่อน มันจะหวนกลับมากินทุกวันอีกเป็นเวลา 3-6 วันจนกว่าซากจะหมดหรือเกือบหมด เสือจะล่าเหยื่อขนาดใหญ่เพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น เคยมีบันทึกว่าเสือโคร่งตัวเมียในจิตวันที่ไม่ได้เลี้ยงลูกจะล่าเหยื่อทุก ๆ 8-8.5 วัน

ถึงแม้ว่าเสือโคร่งจะเป็นนักล่าผู้ยิ่งใหญ่และได้รับการยกย่องให้เป็นถึงจ้าวป่า แต่การล่าของเสือโคร่งส่วนใหญ่จะล้มเหลว ประสิทธิภาพในการจับเหยื่อของเสือโคร่งอาจต่ำถึงราว ใน 10 หมายความว่าถ้าย่องเข้าจับเหยื่อ 10 ครั้งจะทำสำเร็จเพียงครั้งเดียว และอาจน้อยถึง ใน 20 ในบางครั้ง หากการล่าเหยื่อไม่สำเร็จในครั้งแรก เสือโคร่งมักจะปล่อยเหยื่อไปโดยไม่ใส่ใจจะติดตามเหยื่อตัวนั้นไปอีก แต่เคยมีเสือโคร่งตัวหนึ่งในตอนใต้ของประเทศอินเดียไล่ตามกวางป่าที่บาดเจ็บไปไกลกว่า กิโลเมตรเป็นเวลาถึงกว่า ชั่วโมง

เสือโคร่งจะเป็นสัตว์ที่อยู่โดยลำพัง แต่บางครั้งเสือโคร่งอาจรวมกันล่าเหยื่อแบบสิงโตเหมือนกัน เคยมีผู้พบเห็นเสือโคร่งฝูงหนึ่งซึ่งอาจเป็นเสือในครอบครัวเดียวกัน ประกอบด้วยตัวผู้ ตัวและตัวเมีย ตัว ล่าเหยื่อโดยมีการวางกำลังตามจุดต่าง ๆ รอบทะเลสาบซึ่งมีกวางอยู่ และยังมีการไล่ต้อนเหยื่อให้วิ่งไปตำแหน่งที่เสืออีกตัวหนึ่งซุ่มซ่อนอยู่ด้วย จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน กล่าวว่าเคยเห็นเสือโคร่งสองตัวรุมฆ่าช้างงาขนาดใหญ่ได้

แม้ว่าเสือโคร่งจะเป็นสัตว์ที่อยู่ตามลำพังยกเว้นแม่เสือที่เลี้ยงดูลูก แต่เคยมีบันทึกว่าพบเสือโคร่งหากินกันเป็นครอบครัวหรือพักผ่อนร่วมกัน ในอุทยานแห่งชาติกันนาในประเทศอินเดีย มีผู้พบเห็นเสือโคร่งตัวเมียกับลูก ๆ และเสือโคร่งวัยรุ่นอีกตัวซึ่งน่าจะเป็นพี่ของเสือครอกนั้นร้องเรียกเสือโคร่งตัวผู้เต็มวัยตัวหนึ่ง หลังจากนั้นทั้งหมดก็เดินไปด้วยกัน

แม้แต่เสือโคร่งที่ตัวเต็มวัยแล้ว ก็อาจอาศัยอยู่ด้วยกันได้ในบางครั้ง 


เสือโคร่งชอบทิ้งรอยข่วนตามต้นไม้เพื่อประกาศอาณาเขต และเป็นการบริหารเล็บให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ การประกาศอาณาเขตของตัวเองอีกวิธีหนึ่งคือ การปล่อยปัสสาวะไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่นพุ่มไม้ โคนไม้ หรือก้อนหิน กลิ่นของปัสสาวะยังสามารถระบุตัวเสือโคร่งได้ด้วย เมื่อเสือโคร่งตัวอื่นมาได้กลิ่นนี้ จะทราบได้ว่าเจ้าของพื้นที่เป็นเพศใด และพร้อมที่จะสืบพันธุ์แล้วหรือไม่ กลิ่นของปัสสาวะนี้คงอยู่ได้ไม่นานนัก ดังนั้นเจ้าของพื้นที่จะต้องมั่นแวะเวียนตรวจตราพื้นที่และเติมกลิ่นของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากกลิ่นหายไปแล้ว เสือโคร่งตัวอื่นอาจถือว่าเป็นพื้นที่ไม่มีเจ้าของและยึดพื้นที่ไปได้

เสือโคร่งต่างจากสัตว์ในตระกูลแมวหลายชนิด เสือโคร่งไม่กลัวน้ำซ้ำยังชอบน้ำมาก ในช่วงกลางวันของฤดูร้อนมันมักลงไปนอนแช่น้ำในทะเลสาบหรือบึง มีบันทึกการเห็นเสือโคร่งว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลอยู่บ่อยครั้ง เช่น ในซุนดาบันส์ในประเทศอินเดียและบังกลาเทศซึ่งเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร มักมีเสือโคร่งว่ายน้ำข้ามแม่น้ำอยู่เสมอ ๆ เคยมีบันทึกไว้ว่าเสือโคร่งว่ายน้ำข้ามแม่น้ำในซุนดาบันส์เป็นระยะทางถึง 29 กิโลเมตร และอาจมีอีกตัวหนึ่งที่ว่ายไกลถึง 56 กิโลเมตร และในที่เดียวกันนี้ก็เคยมีเสือโคร่งลากคนออกไปจากเรือเลยทีเดียว ในมาเลเซียเคยมีผู้พบเสือโคร่งตัวหนึ่งว่ายน้ำเป็นระยะทาง กิโลเมตรจากแผ่นดินใหญ่ของประเทศมาเลเซียไปเกาะปีนัง ในแถบแคสเปียนและแม่น้ำอะมูร์ ในรัสเซียตะวันออกก็เคยมีผู้พบเห็นเสือว่ายน้ำเป็นระยะทาง กิโลเมตร ในเขตอนุรักษ์เสือโคร่งรันทัมบอร์ในอินเดียก็เคยมีรายงานว่าเสือโคร่งไล่ฆ่ากวางป่าในทะเลสาบจนจมน้ำลงไปทั้งคู่อยู่พักหนึ่ง และในทะเลสาบเดียวกันนี้เคยมีผู้พบเห็นเสือโคร่งจับจระเข้มากินอีกด้วย

ตามปรกติ เสือโคร่งไม่ชอบปีนต้นไม้ แต่ก็ปีนได้ถ้าต้องการ ในอินเดีย เคยมีรายงานว่าเสือดาวตัวหนึ่งไปเข้าใกล้แม่เสือโคร่งตัวหนึ่งที่มีลูก จึงถูกเสือโคร่งไล่ล่า แม้เสือดาวตัวนั้นจะปีนหนีขึ้นต้นไม้แต่ก็ยังถูกแม่เสือโคร่งตามขึ้นไปฆ่าบนต้นไม้ได้

เสือกินคน

แม้ว่าเสือใหญ่อย่างสิงโตหรือเสือดาวก็เคยมีประวัติฆ่าคนเหมือนกัน แต่เสือโคร่งดูจะมีภาพลักษณ์ของสัตว์กินคนโดดเด่นกว่าเสือชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ในช่วงปี 1902 ถึงปี 1910 มีผู้โชคร้ายตายเพราะถูกเสือโคร่งทำร้ายถึง 851 คนต่อปีโดยเฉลี่ย และในปี 1922 เพียงปีเดียวก็มีคนถูกเสือโคร่งฆ่าถึง 1,603 คน มีผู้เล่าว่าเสือโคร่งชื่อ Champawat ในอินเดียและเนปาลเคยฆ่าคนถึง 434 คนก่อนที่จะถูกยิง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประชากรเสือโคร่งทั่วโลกลดลงไปมาก จำนวนคนที่ตายเพราะเสือโคร่งจึงลดลงตามไปด้วย ยกเว้นที่ซุนดาบันส์ที่ยังคงมีข่าวคนถูกเสือฆ่าอยู่เนือง ๆ พื้นที่นี้ในระหว่างปี 2518-2519 มีคนถูกเสือฆ่าตายถึง 66 คน เฉพาะปี 2532 มี 15 คนและปี 2535 มี 42 คน ผู้ที่ถูกฆ่าส่วนใหญ่จะเป็นคนที่เข้าไปจับปลา ตัดไม้ และหาน้ำผึ้งในป่านี้ ตัวเลขที่สูงผิดปรกติในปี 2535 เกิดขึ้นจากการบุกรุกป่าอย่างผิดกฎหมาย วีธีหลีกเลี่ยงการถูกทำร้ายจากเสือของคนในบริเวณนี้คือการสวมหน้ากากคนไว้ที่ด้านหลังของศรีษะ วิธีนี้สามารถลวงเสือไม่ให้เข้าทำร้ายได้ดีพอสมควร เพราะตามปรกติเสือโคร่งมักจะจู่โจมจากด้านหลัง

นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา มีคนมากกว่า 200 คนถูกเสือโคร่งฆ่าตายบริเวณใกล้กับอุทยานแห่งชาติ Dudhwa ของอินเดีย ซึ่งอยู่ใกล้กับทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเนปาล ปัญหานี้มักเกิดกับไร่อ้อยที่ติดกับชายป่า บางครั้งเสือโคร่งอาจออกมาหากินถึงในไร่อ้อยนี้ ซึ่งสภาพของไร่อ้อยเหมาะอย่างยิ่งที่เสือโคร่งจะใช้เป็นที่กำบัง เมือชาวไร่มาพบกับเสือเข้าโดยบังเอิญ เสือโคร่งจึงต้องต่อสู้เพื่อป้องกันตัวและฆ่าชาวไร่ตายในที่สุด

ถึงแม้ว่าเสือโคร่งในซุนดาบันส์มีชื่อในเรื่องกินคนมาเป็นเวลานานตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แต่เสือโคร่งในพื้นที่อื่นกลับไม่ค่อยทำร้ายคนหรือกินคน เสือจะจับคนกินก็ต่อเมื่อเสือลำบาก บาดเจ็บ หรือแก่ จนไม่สามารถจะจับเหยื่อตามธรรมชาติได้ เมื่อเสือโคร่งนั้นได้กินคนสักครั้งหนึ่งแล้ว อาจจะติดใจเพราะเห็นว่าคนเป็นเหยื่อที่ล่าง่าย หากเสือโคร่งตัวนั้นเป็นแม่เสือก็อาจไปสอนลูกให้ล่าคนก็ได้ ส่วนการที่เสือกับคนพบปะกันโดยบังเอิญไม่ว่าจะเป็นเสือโคร่งตัวผู้หรือตัวเมียที่กำลังเลี้ยงลูกอ่อนก็ตาม มักไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้เสือต้องทำร้ายหรือฆ่าคน ปกติแล้วเสือโคร่งจัดว่าเป็นสัตว์อารมณ์ดี ไม่ฉุนเฉียวง่าย แม้ยามที่ถูกบุกรุกมันจะส่งเสียงคำรามเตือนก่อน แต่ถ้าผู้บุกรุกยังคงฝ่าฝืนก็จำต้องรับโทษทัณฑ์ที่บุกรุกนั้นตามกติกา

ในประเทศไทยก็เคยมีเสือโคร่งเข้าทำร้ายคนเช่นกัน แต่โอกาสที่จะเกิดมีน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากสถิติของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ นับจากที่ประกาศตั้งเป็นอุทยานมาเป็นเวลากว่า 40 ปี มีกรณีเสือโคร่งทำร้ายคนเพียง ครั้งเท่านั้น และมีคนตายเพียง คน จำนวนนี้นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการตายจากสาเหตุอื่นที่เกิดขึ้นในป่า และจากการชันสูตรเสือทั้งสองหลังจากที่ถูกยิง ก็พบว่า เสือตัวแรกเป็นเสือชรา มีฟันผุกร่อนหลายซี่ ส่วนอีกตัวหนึ่งมีร่องรอยบาดเจ็บอยู่ก่อนแล้ว นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสือโคร่งเข้าทำร้ายคน

ชีววิทยา

เสือโคร่งสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในราวปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนเมษายน ช่วงเป็นสัดของตัวเมียจะยาวนานประมาณ 3-9 สัปดาห์ และยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ได้ประมาณ 3-6 วัน รังเลี้ยงลูกอ่อนของแม่เสือโคร่งมักจะเป็นใต้ไม้ล้ม ซอกหิน หรือพุ่มไม้ทึบ หลังจากตั้งท้องนานประมาณ 93-111 วัน ตัวเมียจะออกลูก ลูกครอกหนึ่งมีเสือ 1-7 ตัว แต่โดยทั่วไปจะมีประมาณ หรือ ตัว ลูกเสือโคร่งเมื่อแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 760-1,600 กรัม ลืมตาได้เมื่อมีอายุ 6-14 วัน หย่านมเมื่ออายุได้ประมาณ 3-6 เดือน เมื่ออายุได้ 11-12 เดือนก็พร้อมที่จะออกล่าเหยื่อพร้อมกับแม่ได้ แม่เสือจะปล่อยลูกให้หากินด้วยตัวเองเมื่อลูกเสืออายุได้ 18-24 เดือน

ลูกเสือโคร่งจะเรียนรู้การใช้ชีวิตกับแม่อยู่เป็นเวลา ปี จึงจะออกหากินด้วยตัวเองได้ 


เมื่อเริ่มใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เสือโคร่งหนุ่มจะต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลเพื่อหาอาณาเขตของตัวเอง บ่อยครั้งที่มันขับไล่เสือโคร่งตัวผู้ที่อายุมากแล้วยึดอาณาเขตแทน สำหรับเสือโคร่งสาว มันมักจะมีพื้นที่หากินไม่ไกลไปจากของแม่ของมันเท่าใดนัก และบางครั้งพบว่าอาจใช้พื้นที่บางส่วนร่วมกันกับแม่ของมันเอง

เสือตัวเมียจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 36-48 เดือน ส่วนตัวผู้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 48-60 เดือน ในราชาสถาน ประเทศอินเดีย ช่วงเวลาเป็นสัดของเสือโคร่งจะยาวนานประมาณ 15-20 วัน แม่เสือออกลูกได้ทุก ๆ 20-24 เดือน แต่เคยพบกรณีพิเศษสองครั้งคือลูกเสือตายไปตั้งแต่สองสัปดาห์แรก ทำให้แม่เสือสามารถให้กำเนิดลูกได้อีกครั้งหนึ่งในอีก เดือนต่อมา

จากการเฝ้าศึกษาเสือโคร่งในอุทยานแห่งชาติจิตวันในเนปาล พบว่าวัยเจริญพันธุ์ของเสือโคร่งตัวเมียยาวนานประมาณ 6.1 ปีโดยเฉลี่ย บางตัวอาจมากถึง 12.5 ปี ส่วนในตัวผู้จะยาวนานตั้งแต่ เดือน ถึง ปี โดยเฉลี่ยเพียง 2.8 ปี และจำนวนลูกทั้งหมดของแม่เสือโคร่งตัวหนึ่งที่สามารถอยู่รอดจนกระทั่งแยกย้ายออกไปหากินเองมีประมาณ 4.54 โดยเฉลี่ย และในจำนวนนี้ตัวที่สามารถอยู่รอดไปจนกระทั่งผสมพันธุ์ได้มีประมาณ 2.0 โดยเฉลี่ย สำหรับตัวผู้ จำนวนลูกของมันที่สามารถอยู่รอดจนกระทั่งแยกย้ายออกไปหากินเองโดยเฉลี่ย 5.83 และจำนวนลูกที่สามารถอยู่รอดไปจนสามารถผสมพันธุ์ได้คือ 1.99

การตายของลูกเสือ

จากการศึกษาเสือโคร่งในจิตวัน พบว่าลูกเสือโคร่งในปีแรกมีอัตราตายประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์ (144 ตัว) ในจำนวนนี้ 73 เปอร์เซ็นต์เป็นการตายยกครอก สาเหตุการตายของลูกเสือเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไฟ น้ำท่วม และถูกฆ่า ในปีที่สองอัตราตายจะลดลงเหลือ 17 เปอร์เซ็นต์ (94 ตัว) ในจำนวนนี้มีเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นการตายยกครอก โดยภาพรวมแล้ว สาเหตุการตายส่วนใหญ่ของลูกเสือคือการถูกฆ่า ซึ่งบางครั้งก็โดยพ่อของมันเอง

อายุขัย

เสือโคร่งในสถานเพาะเลี้ยงมีอายุประมาณ 25 ปี ส่วนเสือโคร่งในธรรมชาติจะอายุสั้นประมาณ 10 ปีเท่านั้น แต่เคยมีบันทึกจากจิตวันว่ามีเสือโคร่งอยู่ได้ถึง 26 ปี สำหรับเสือโคร่งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะตายด้วยโรคพยาธิและโรคติดเชื้อ

ภัยที่คุกคาม

เนื่องจากเสือโคร่งมีขนาดใหญ่ มีลวดลายสวยงามเป็นที่รู้จักกันดี ทำให้หนังของมันเป็นที่ต้องการของนักสะสมหรือเศรษฐี ความที่เป็นจ้าวป่าผู้ทรงพลังทำให้มีความเชื่อมาเป็นเวลานานว่าอวัยวะเสือโคร่งสามารถทำเป็นยาได้สารพัดชนิด ความต้องการที่สูงส่งผลให้มันจึงถูกล่าอย่างหนักมาตลอดเพื่อที่จะเอาหนังและอวัยวะ บางครั้งการที่เสือโคร่งเข้าใกล้หมู่บ้านและฆ่าคนหรือสัตว์เลี้ยง ก็ทำให้ถูกฆ่าได้เช่นกัน นอกจากนี้ก็ยังมีการตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบจับลูกเสือไปเป็นสัตว์เลี้ยง เฉพาะที่ประเทศอิตาลีเพียงประเทศเดียว มีสิงโต เสือโคร่ง และเสือดาวรวมกันไม่น้อยกว่า 3,000 ตัวที่ถูกเลี้ยงไว้เป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านคน ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เจ้าของสัตว์เหล่านั้นมักไม่สนใจที่จะเพาะพันธุ์ขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวน ทำให้มีการลักลอบจับสัตว์จากป่าอยู่เสมอ

ในช่วงศตวรรษที่ 20 เสือโคร่งจำนวนมากถูกล่าในประเทศรัสเซียและจีน ในขณะนั้นยังไม่มีความคิดที่จะอนุรักษ์ เสือโคร่งจึงเป็นถูกมองเป็นสัตว์อันตรายที่ต้องกำจัด ผู้ที่ล่าเสือได้ก็จะได้รับรางวัล ในด้านการค้า เสือโคร่งถูกล่าเพื่อที่จะเอาหนังอันสวยงามไปทำเครื่องประดับและเสื้อผ้า ราคาหนังเสือโคร่งที่ขึ้นสูงขึ้นเป็นตัวเร่งให้การล่าเสือโคร่งมีมากขึ้น โดยเฉพาะแถบรัสเซียตะวันอกและเอเชียกลาง นอกจากนี้กระดูกและอวัยวะเสือโคร่งก็เป็นที่ต้องการอย่างมากประเทศจีนและเกาหลีเพื่อที่จะเอาไปทำเป็นยาจีน ในต้นทศวรรษ 1900 รัสเซียส่งซากเสือโคร่งแช่แข็งทั้งหมดไปประเทศจีน เช่นเดียวกับประเทศอินเดียและที่อื่น 

ในยุคอดีต การล่าสัตว์เป็นไปอย่างเสรี เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จำนวนเสือโคร่งลดจำนวนลง การล่าเสือเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่ออาวุธที่ทันสมัยจากตะวันตกแพร่เข้ามายังเอเชีย โดยเฉพาะในคาบสมุทรอินเดียซึ่งถูกรุกรานจากอังกฤษ ผู้ที่นิยมการล่าสัตว์มีทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและชนชั้นสูง ในปี 1911 กษัตริย์จอร์จที่ และมหาราชาของเนปาลได้เสด็จออกล่าสัตว์ด้วยกัน การล่าสัตว์ครั้งนั้นมีเสือโคร่งถูกยิงถึง 39 ตัวภายในเวลาเพียง 11 วัน ในสารฉบับหนึ่งที่มหาราชาแห่ง Surguja ทรงลิขิตถึงจอร์จ แชลเลอร์ ในปี 1964 ก็ได้กล่าวว่าในช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์เคยยิงเสือมาแล้ว 1,150 ตัว ในช่วงศตวรรษที่ 19 ทหารรัสเซียได้เดินทางไปยังภาคตะวันออกของประเทศเพื่อล่าเสือโคร่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการฝึกทหารที่จะทำให้จิตใจห้าวหาญ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ นักล่าสัตว์จากยุโรปและอเมริกาเดินทางเข้าสู่อินเดียและเนปาลเพื่อล่าสัตว์เอาเขาโดยแทบจะไม่มีกฎหมายควบคุม มีบันทึกอย่างเป็นทางการว่าในช่วงปี 1986-1989 มีเสือโคร่งถูกล่าโดยพรานพวกนี้ถึง 480 ตัว ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะมากกว่านี้ มีหนังเสือโคร่งถูกส่งออกต่างประเทศนับร้อย ๆ ผืนในแต่ละปี ก่อนที่จะมีการห้ามในปี 1968

ในอีกทางหนึ่ง การล่าสัตว์กีบจำพวกเก้งกวางมากเกินไปก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งทำให้เสือโคร่งลดจำนวนลง เพราะสัตว์เหล่านี้เป็นเหยื่อของเสือโคร่งโดยตรง ราบิโนวิตช์ได้สำรวจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พบว่าการลดจำนวนลงของประชากรเสือโคร่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการลดจำนวนของวัวแดง กระทิง และกวางป่า รายงานการสำรวจในครั้งนั้นระบุว่า ในป่าเขตร้อนของเอเชีย เสือโคร่งจะขยายพันธุ์สำเร็จได้ยากมากถ้ามีความหนาแน่นของสัตว์กีบที่เป็นเหยื่อต่ำกว่า 2-5 ตัวต่อตารางกิโลเมตร

ตอนเหนือของเอเชียที่เป็นที่อยู่ของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรีย เป็นดินแดนที่มีความความอุดมสมบูรณ์น้อย เสือโคร่งจะอดทนต่อสภาพความขาดแคลนอาหารได้ดีกว่า ในป่าอนุรักษ์ลาซอฟสกี ซึ่งเป็นป่าที่มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นที่สุดนั้น มีความหนาแน่นของเหยื่อที่เป็นสัตว์กีบสูงสุดเพียงประมาณ 2.25 ตัวต่อตารางกิโลเมตรเท่านั้น สภาวะขาดแคลนอาหารจะร้ายแรงที่สุดในฤดูหนาวซึ่งสัตว์เหยื่อจะอพยพไปที่อื่น การอดตายของเสือโคร่งจึงเป็นเรื่องปกติในช่วงเวลาอย่างนี้ ในปี 2515 เฮปเตอร์ และ สลัดสกี เคยพบเสือโคร่งตัวเต็มวัยในสภาพที่ผอมแห้งมีน้ำหนักเพียง 70 กิโลกรัมเท่านั้น และเมื่อผ่าท้องดูพบว่าในกระเพาะของเสือตัวนั้นมีเพียงเศษไลเคนเท่านั้น ไม่มีอาหารอยู่เลย และนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต การล่าสัตว์เพิ่มมากขึ้น ทั้งล่าเสือและล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือ ส่งผลให้ประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็วจากจำนวน 250-430 ตัวในกลางทศวรรษ 1980 เหลือเพียง 150-250 ตัวเท่านั้น

ถึงแม้ว่าการล่าจะทำให้ประชากรเสือโคร่งลดลงไปมาก แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างมากจนตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างในปัจจุบัน การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญทีลดจำนวนเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็ว

การบุกรุกแผ้วถางป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งนอกจากเป็นการลดพื้นที่ป่าแล้ว การที่ป่าผืนใหญ่ถูกตัดแยกจากกันเป็นผืนเล็กผืนน้อยทำให้เสือโคร่งไม่สามารถข้ามเขตได้ ป่าบางผืนเหลือพื้นที่น้อยมากจนทำให้ปีปัญหาในด้านสายพันธุ์ เพราะเสืออาจผสมพันธุ์กับในหมู่เครือญาติทำให้เสือรุ่นหลังอ่อนแอลง ดังนั้นป่าผืนใหญ่ที่มีพื้นที่ติดต่อกันจึงมีความสำคัญอย่างมากในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระยะยาว

สถานภาพ

ในปลายศตวรรษที่ 19 ยังมีเสือโคร่งอยู่ถึง 100,000 ตัว แต่จากกระประเมินของไซเตสเมื่อปี 2536 พบว่าเหลือเสือโคร่งในธรรมชาติอยู่เพียงไม่ถึง 7,700 ตัวเท่านั้น เสือโคร่งในสถานเพาะเลี้ยงมีมากกว่าเสือโคร่งในธรรมชาติเสียอีก

ในจำนวนเสือโคร่งทั้ง พันธุ์ทั่วโลก มีพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วถึง พันธุ์คือเสือโคร่งพันธุ์แคสเปียน เสือโคร่งพันธุ์ชวา และเสือโคร่งพันธุ์บาหลี เสือโคร่งพันธุ์ที่เหลือก็มีสถานะภาพที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ สุมาตรา และไซบีเรีย

จำนวนของเสือโคร่งในธรรมชาติ (ปี 2539)
ชนิดย่อยของเสือโคร่งต่ำสุดสูงสุด
เบงกอล3,0304,735
ไซบีเรีย162230
จีนใต้2030
สุมาตรา400500
อินโดจีน1,1801,790
รวม4,8007,300


สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์เบงกอล


ต้นศตวรรษที่ 20 ยังมีเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลอยู่ในประเทศอินเดียถึง 40,000 ตัว แต่ในปี 1964 พบว่าเหลือเพียง 4,000 ตัว พอถึงปี 2515 เหลืออยู่ไม่ถึง 2,000 ตัว โดยอยู่ในป่า ผืนใหญ่ ผืนหนึ่งที่ตีนเขาหิมาลัยในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ผืนหนึ่งในภาคกลาง ผืนหนึ่งในภาคตะวันออก และอีกผืนหนึ่งเป็นแนวป่าแคบ ๆ ตามชายฝั่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากนั้นเพียงไม่นาน โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Project Tiger) ก็ได้เกิดขึ้นโดยรัฐบาลอินเดียและราชวงศ์แห่งเนปาล ทำให้ป่าอนุรักษ์หลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้น และมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเข้มงวด ต่อมาโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนประชากรเสือโคร่งเบงกอลในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 4,334 ตัวในปี 2532 แต่อย่างไรก็ตาม การล่าเสือโคร่งอย่างหนักที่มีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลงจนเหลือเพียง 3,750 ตัวในปี 2536

ในประเทศเนปาล พบเสือโคร่งอยู่เฉพาะที่จิตวัน, บาร์เดีย, Royal Sukhla Phanta และ Parsa IV คาดมีอยู่ประมาณ 250 ตัวในปี 2536

ในบังกลาเทศ พบเสือโคร่งอยู่ทั่วไปในป่าชายเลนซุนดาบันส์ รวมทั้งป่าอนุรักษ์ผืนเล็กๆ ที่อยู่ติดกันซึ่งมีพื้นที่รวม 320 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจในปี 2537 พบว่าอาจมีเสือโคร่งในพื้นที่นี้ 300-460 ตัว และเชื่อว่าอาจยังมีเหลืออยู่ดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของเทกนาฟ ซึ่งติดกับชายแดนประเทศพม่า

ภูฏาน เชื่อว่ามีเสือโคร่งอยู่ในป่าอนุรักษ์ที่ราบต่ำที่อยู่ตอนใต้ของประเทศทั้ง แห่ง โดยเฉพาะป่ามานัสซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่ามานัสในอินเดีย มีพื้นที่มากที่สุด รัฐบาลของประเทศภูฐานระบุว่ามีประชากรเสือโคร่ง 237 ตัวในปี 2537 อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้บางส่วนซ้ำซ้อนกับเสือโคร่งในอินเดีย ส่วนตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการในปี 2536 ระบุว่ามีเพียง 20-50 ตัว

รวมจำนวนประชากรเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ และตะวันตกของพม่า ในปี 2536 คาดว่ามีไม่เกิน 4,500 ตัว

สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลในประเทศต่าง ๆ (ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น)
ประเทศต่ำสุดสูงสุด
บังกลาเทศ300460
ภูฏาน80240
จีน3035
อินเดีย2,5003,000-3,750
เนปาล150250
รวม3,0603,985-4,735


ในประเทศอินเดียมีป่าอนุรักษ์ 21 แห่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งโดยเฉพาะ ทั้งหมดมีพื้นที่รวมกัน 30,000 ตารางกิโลเมตร มีเสือโคร่งในพื้นที่ 1,300 ตัว มากถึงหนึ่งในสามของเสือโคร่งทั้งหมดของประเทศ (3,750) กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่นี้เป็นป่ากันชน ซึ่งมีทั้งหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรและการทำปศุสัตว์ นอกจากพื้นที่นี้แล้ว เสือโคร่งยังคงมีอยู่ในป่าอื่นอีก 80 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าที่มีผู้คนอยู่อาศัย สถาบันสัตว์ป่าของอินเดียระบุว่ามีป่าขนาดใหญ่ 12 แห่งที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หนึ่งแห่งในจำนวนนี้คือที่เขตอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งเมลกัต ซึ่งจัดตั้งโดยโครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง เขตนี้กำลังจะถูกลดพื้นที่ไปหนึ่งในสามหรือเหลือเพียง 1,046 ตารางกิโลเมตร เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนที่เพิ่มจำนวนขึ้น มีป่า 56 แห่งที่มีจำนวนเสือโคร่งน้อยเกินไปและถูกกดดันจากมนุษย์จนเชื่อว่าจะไม่สามารถรักษาพันธุ์เสือโคร่งเอาไว้ในพื้นที่ได้และคงจะหมดไปจากพื้นที่ภายในไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ นั่นหมายความว่า เมื่อถึงเวลานั้นเสือโคร่งจะลดไปอีกเกือบครึ่งหนึ่งของเสือโคร่งเบงกอลที่มีอยู่ 3,000-4,000 ตัวในขณะนี้

สถานภาพของเสีอโคร่งพันธุ์อินโดจีน



สถานภาพและจำนวนประชากรของเสือโคร่งอินโดจีนยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก เนื่องจากเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางของมัน ซึ่งกินอาณาบริเวณตั้งแต่จีนตอนใต้ เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ไทย และพม่าตะวันตก เสือโคร่งจำนวนไม่น้อยอยู่ตามเทือกเขาสลับซับซ้อนตามชายแดนระหว่างประเทศ ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปได้ยาก มีหลายแห่งที่นักชีววิทยาเพิ่งจะได้รับอนุญาตเข้าไปสำรวจเมื่อไม่นานมานี้เอง ตามข้อมูลของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสือและแมว (Cat specialist Group) ของไอยูซีเอ็น ปัจจุบันมีเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนเหลืออยู่ในธรรมชาติทั้งสิ้นประมาณ 1,050-1,750 ตัว สวนสัตว์ในเอเชียและในอเมริกามีเสือพันธุ์นี้ประมาณ 60 ตัว

ราบิโนวิตช์ ได้สำรวจเสือโคร่งในป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยระหว่างปี 2530-2534 และประเมินว่ามีจำนวนประมาณ 250 ตัว ซึ่งตัวเลขนี้แตกต่างอย่างมากจากตัวเลขของทางการไทยที่ระบุว่ามีประมาณ 450-600 ตัว

กรมสัตว์ป่าของกัมพูชามีศักยภาพต่ำมาก ประเทศไม่มีแม้แต่สวนสัตว์ มีการล่าเสือโคร่งอย่างหนัก กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสือและแมวประเมินว่าในประเทศกัมพูชามีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 100-200 ตัว และกำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม การสำรวจสัตว์ป่าครั้งแรกของเสือโคร่งเมื่อปี 2543 ที่ผ่านมาพบว่าอาจมีเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่น ๆ ในกัมพูชามากกว่าที่เคยคาดคิดไว้

สถานภาพของเสือโคร่งในประเทศลาวไม่ชัดเจนนัก เพราะเพิ่งมีการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์มาไม่นานมานี้เอง และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นมาก็เป็นเพียงร่างในกระดาษ บางแห่งไม่มีแม้แต่เจ้าหน้าที่ประจำ ในปี 2534 แซลเตอร์ได้สำรวจตามหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 18 แห่งและรายงานว่าพบเสือโคร่งทุกพื้นที่ ๆ สำรวจ กรมสัตว์ป่าของลาวได้สำรวจป่าในปี 2535 ได้รายงานว่าพบเสือโคร่งในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 17 แห่ง อย่างไรก็ตาม แหล่งอาหารของเสือโคร่งในประเทศลาวไม่สมบูรณ์นัก จำนวนสัตว์เหยื่อมีอยู่น้อยมาก และป่าในพื้นที่ต่ำถูกทำลายจนเกือบหมด ทำให้เสือโคร่งต้องถอยร่นขึ้นไปหากินบนภูเขาสูงซึ่งมีเหยื่อน้อยกว่า ในขณะที่การล่าและการค้าขายสัตว์ป่าก็มีอย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงอนาคตที่สิ้นหวังของเสือโคร่งในประเทศลาว

สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนในประเทศต่าง ๆ (ข้อมูลยังไม่แยกเสือโคร่งพันธุ์มลายู) (ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น)
ประเทศต่ำสุดสูงสุด
กัมพูชา100200
จีน3040
ลาวมี
มาเลเซีย600650
พม่ามี
ไทย250600
เวียดนาม200300
รวม1,1801,790


ประเทศพม่ามีเสือโคร่ง พันธุ์คือ พันธุ์เบงกอลและพันธุ์อินโดจีน เสือโคร่งพันธุ์เบงกอลจะพบได้ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดี ส่วนเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนจะอยู่ทางฝั่งตะวันออก

จากการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 16 แห่งและอุทยานแห่งชาติ แห่งโดยกรมป่าไม้ของพม่าในปี 2524 ทำให้ปัจจุบันพม่ายังมีป่าไม้อยู่ถึง 40% ของพื้นที่ แม่น้ำอิระวะดีซึ่งไหลจากตอนเหนือผ่านภาคกลางของประเทศลงสู่มหาสมุทรอินเดียทางทิศใต้ เป็นแม่น้ำสายหลักที่แบ่งแยกเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลและพันธุ์อินโดจีน เมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา ยังมีการประเมินกันว่า มีเสือโคร่งอยู่ในพม่าประมาณ 3,000 ตัว ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้คือเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีน แต่ในปัจจุบันจำนวนของเสือโคร่งได้ลดลงไปมาก จากการล่าอย่างหนัก เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในลาวและกัมพูชา ทางรัฐบาลพม่าได้พยายามที่จะแก้ไขวิกฤตของจำนวนเสือโคร่งมาโดยตลอด เดือนมิถุนายน 2535 รัฐบาลได้ผ่านกฎหมายสัตว์ป่าและพื้นที่อนุรักษ์ออกมา ในกฎหมายฉบับนี้ได้จัดให้เสือโคร่งอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์คุ้มครองอย่างเข้มงวด และยังได้ร่างแผนงานการอนุรักษ์เสือโคร่งโดยเฉพาะอีกด้วย

จากรายงานการสำรวจประชากรเสือโคร่งในพม่าในปี 2526 โดยแซลเตอร์ ได้ระบุว่าพื้นที่ ๆ มีเสือโคร่งมากที่สุดคือที่ อะลองดอวกัตตะพะ นอกจากนี้ก็ยังพบในพื้นที่อื่น ๆ อีกเช่น ชิวอูดอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าชเวเซตตอว และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทามันตี ปิดอง ควาพันดอง นัตมาตาง รวมทั้งป่าปีกิวโยมา ปักชาน ดีปาโยน และ มินมาฮลายูน ที่กำลังจะยกฐานะเป็นป่าอนุรักษ์เช่นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกด้วย

ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ของเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีน การสำรวจในปี 2533 พบว่ามีเสือโคร่งในธรรมชาติของไทยประมาณ 250 ตัว ในขณะที่ตัวเลขของกรมป่าไม้ยังระบุว่าเหลืออยู่ 600 ตัว ในปี 2536 ราบิโนวิตช์ยืนยันว่ามีเสือโคร่งอยู่ในป่าอนุรักษ์ 22 แห่งในประเทศไทยจาก 38 แห่งที่ทำการสำรวจ ในป่าที่พบนี้ มี 16 แห่งที่มีพื้นที่น้อยกว่า 500 ตารางกิโลเมตร ส่วนอีก แห่งที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นป่าที่มีจำนวนประชากรเสือโคร่งมากที่สุดในประเทศ ป่าทั้ง แห่งนี้ได้แก่

1. ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร (พื้นที่มากกว่า 12,000 ตารางกิโลเมตร)
2. น้ำหนาว (พื้นที่มากกว่า 4,000 ตารางกิโลเมตร)
3. แก่งกระจาน (พื้นที่มากกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร)
4. ทับลาน (พื้นที่มากกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร)
5. ห้วยน้ำแดง (พื้นที่มากกว่า 3,000 ตารางกิโลเมตร)
6. คลองแสง (พื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร)
7. แม่ตื่น (พื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร)
8. เขาใหญ่ (พื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร)

ข้อมูลของกระทรวงป่าไม้ของเวียดนามระบุว่ายังมีเสือโคร่งอยู่ในป่าอนุรักษ์ 24 แห่งจากจำนวนทั้งหมด 87 แห่ง ป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดคือ มูอองนี มีพื้นที่ 1,820 ตารางกิโลเมตร นอกนั้นมีพื้นที่น้อยกว่า 600 ตารางกิโลเมตร ในปี 2537 กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสือและแมว ได้ประเมินว่ามีเสือโคร่งเหลืออยู่ประมาณ 200-300 ตัวในป่าอนุรักษ์ แห่ง ในขณะเดียวกัน การล่ายังคงดำเนินต่อไปในเวียดนาม หนัง ฟัน และกระดูก ยังคงมีการซื้อขายกันอยู่ทั่วไปตามเมืองใหญ่ จำนวนเสือโคร่งยังคงลดลง

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์มลายู

เสือโคร่งพันธุ์มลายู (ภาพจาก WWF-Malaysia/M.Kavanagh) 

ในประเทศมาเลเซีย นับตั้งแต่ปี 2519 กฎหมายของประเทศระบุให้เสือโคร่งเป็นสัตว์คุ้มครองอย่างเข้มงวดภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า ในปีนั้น กรมสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติประเมินว่ายังมีเสือโคร่งอยู่ในประเทศประมาณ 300 ตัว มาเลเซียประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการควบคุมและลดปริมาณการล่าสัตว์ ในช่วงปี 2515-2519 มีการล่าเสือโคร่งถึง 19 ตัวต่อปีโดยเฉลี่ย แต่ในปัจจุบันเหลือประมาณ ตัวต่อปีเท่านั้น และประชากรเสือโคร่งได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (2550) ประเมินว่ามีเสือโคร่งพันธุ์มลายูตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 490 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ใน กลันตัน ตรังกานู เปรัก และปะหัง พื้นที่ป่าเหล่านี้มักจะเป็นป่าผืนเล็ก ๆ และแต่ละแห่งมีประชากรเสือโคร่งไม่มาก เสือโคร่งพันธุ์มลายู่ชอบอยู่ตามป่าเต็งรังที่ต่ำ แต่ก็พบในป่าพรุด้วย

เสือโคร่งพันธุ์มลายูเป็นเสือโคร่งพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งได้รับการจำแนกออกจากเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนเมื่อปี 2547 ไอยูซีเอ็นยังไม่ได้ประเมินสถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์นี้

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้


ประเทศจีนมีพื้นที่ครอบคลุมเขตกระจายพันธุ์ถึง พันธุ์ คือพันธุ์ไซบีเรียบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศรัสเซียและเกาหลีเหนือตอนเหนือสุดของประเทศ พันธุ์จีนใต้ทางตอนใต้ของประเทศ พันธุ์อินโดจีนทางชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม และพันธุ์เบงกอลบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศอินเดียและพม่า

ในทศวรรษ 1950 ยังมีเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้อยู่ประมาณ 4,000 ตัว แต่หลังจากนั้นก็ลดจำนวนอย่างรวดเร็วจากการถูกล่า สาเหตุหนึ่งเนื่องจากทางการจีนประกาศว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์รบกวนที่ต้องกำจัด ภายในเวลาเพียง 30 ปีเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ถูกล่าไปถึงประมาณ 3,000 ตัว ตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนแสดงว่าจำนวนหนังเสือโคร่งที่จับยึดมาได้โดยเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก 78.6 ในต้นทศวรรษ 1950 เหลือ 30.4 ในต้นทศวรรษ 1960 ในต้นทศวรรษ 1970 เป็น 3.8 และเหลือเพียง ในปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลเริ่มประกาศห้ามล่า

การสำรวจป่า 19 แห่งในปี 2533 มี 11 แห่งที่พบร่องร่อยของเสือโคร่ง มีพื้นที่รวมกันเพียง 2,500 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น พื้นที่ ๆ พบอยู่ทางตอนใต้และตอนเหนือของมณฑลหูหนาน ตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง และตะวันตกของมณฑลฟูเจี้ยน นอกจากนี้การสำรวจในปี 2534 และ 2536 ยังพบเสือทางตะวันออกของหูหนานและทางภาคกลางของเจียงซี พื้นที่หลักที่พบเสือโคร่งคือป่าดิบเขากึ่งร้อนชื้นตามรอยต่อระหว่างมณฑล ป่าที่พบถูกตัดขาดจากกันเป็นผืนเล็กผืนน้อย ส่วนใหญ่มีพื้นที่น้อยกว่า 500 ตารางกิโลเมตร ในปี 2538 ได้มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากกรมป่าไม้ของจีนว่าเหลือเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ในธรรมชาติไม่ถึง 20 ตัวเท่านั้น จัดเป็นเสือโคร่งพันธุ์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด แม้แต่ในสถานเพาะเลี้ยงหรือตามสวนสัตว์ทั่วโลก 19 แห่งที่มีเสือโคร่งพันธุ์นี้ก็มีจำนวนเพียง 48 ตัวเท่านั้น ทั้ง 48 ตัวนี้เป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเสือโคร่งที่ถูกจับมาจากป่า ตัว คาดว่าเสือโคร่งจีนใต้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติก่อนขึ้นสหัสวรรษใหม่แล้ว

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรีย


เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศรัสเซีย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อยู่บริเวณชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และอาจมีอยู่ทางเหนือของเกาหลีเหนือ เสือโคร่งในรัสเซียส่วนใหญ่อยู่ในแคว้นปรีมอร์เย และบางส่วนอยู่ในฮาบารอฟสค์ เสือโคร่งในรัสเซียประสบแรงกดดันมากจากการล่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง ในปี 2537 ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมโดย อา. อะมีร์ฮานอฟระบุว่ามีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในรัสเซียเหลือเพียง 150-200 ตัว ทั้งที่ในกลางทศวรรษ 1980 มียังมีอยู่ 250 ถึง 430 ตัว ก่อนหน้านั้นในทศวรรษ 1930 เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเคยมีจำนวนต่ำถึงประมาณ 20 ถึง 30 ตัวเท่านั้น แต่หลังจากเริ่มมีกฎหมายคุ้มครองในปี 1947 จำนวนเสือโคร่งก็ค่อยเพิ่มมากขึ้น

ช่วงปลายทศวรรษ 1980 มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีข้อเสนอให้มีการล่าเสือโคร่งเชิงกีฬาเพื่อลดจำนวนของมัน ฝ่ายที่ยื่นข้อเสนออ้างว่าจำนวนเสือโคร่งมีมากเกินไปจนไม่สมดุลกับจำนวนประชากรของสัตว์เหยื่อ และยังเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มของชาวบ้าน แต่ข้อพิพาทนี้ยุติในเวลาต่อมาเพราะมีการล่าอย่างผิดกฎหมายมากจนทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลง หลังจากนั้นการคุ้มครองเสือโคร่งเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการร่วมมือของรัฐบาลกับองค์กรพัฒนาเอกชน

ในประเทศรัสเซีย พบเสือโคร่งในซีโฮเตอะลิน (พื้นที่ 3,471 ตารางกิโลเมตร) ลาซอฟสกีย์ (พื้นที่ 1,165 ตารางกิโลเมตร) และ ทุ่งเคโดรวายา (พื้นที่ 179 ตารางกิโลเมตร) เสือโคร่งไซบีเรียในรัสเซียแตกต่างจากเสือโคร่งในที่อื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ ในต้นปี 2536 ได้มีการสำรวจในเขตลาซอฟสกี พบเสือโคร่ง 22 ตัว (ตัวเต็มวัย 14 ตัว และเสือวัยรุ่น ตัว) ในจำนวนนี้มีประมาณ 10 ตัว (เสือเต็มวัย ตัวและเสือวัยรุ่น ตัว) ที่อาศัยอยู่ตามขอบของพื้นที่ ในปี 2529 บรากิน ได้สำรวจจำนวนเสือโคร่งในเขตอนุรักษ์ซีโฮเตอะลินพบว่าในจำนวนเสือโคร่งทั้งหมดที่พบ มี 25 ตัวหรือหนึ่งในสามประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและพื้นที่ป่าไม่เพียงพอ มีจำนวนเพียงไม่กี่ตัวที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในเขตอนุรักษ์ ในปี 1991 คอร์คิชโค และ พิคูนอฟ ประเมินว่ามีเสือโคร่ง ตัว (ตัวผู้เต็มวัย ตัว วัยรุ่น ตัว ตัวเมียเต็มวัย ตัว วัยรุ่น ตัว) อาศัยอยู่ในทุ่งเคโดรวายา

กล่าวโดยสรุปแล้ว มีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในรัสเซียประมาณ 20 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่อาศัยอยู่ภายในเขตอนุรักษ์ นอกนั้นอยู่ในพื้นที่ ๆ มีการทำป่าไม้และมีการล่าสัตว์กีบอย่างหนักและเพิ่มขึ้นทุกวัน

ที่ประเทศจีน ในปี 2533 มีการพบเห็นเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในเทือกเขาฉางไป๋ (1,905 ตารางกิโลเมตร) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ในเกาหลีเหนือ เชื่อว่ายังมีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียหลงเหลืออยู่บริเวณภูเขาแปกดู ซึ่งเป็นบริเวณพรมแดนที่ติดต่อเทือกเขาฉางไป๋ของจีน

สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในประเทศต่าง 
ประเทศต่ำสุดสูงสุด
จีน1220
เกาหลีเหนือ<10<10
รัสเซีย415476
รวม437506

ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์สุมาตรา


เสือโคร่งพันธุ์สุมาตราอาศัยอยู่บนเกาะสุมาตราเท่านั้น มันต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายจากการถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยและจากการล่าเช่นเดียวกับเสือโคร่งพันธุ์อื่น ๆ จากการสำรวจประมาณว่ายังมีเสือโคร่งพันธุ์นี้อยู่ 600 ตัว ในจำนวนนี้ 400 ตัวอยู่ในป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ แห่ง และอีก 200 ตัวอยู่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่อื่น 

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์แคสเปียน


เสือโคร่งพันธุ์แคสเปียนถูกล่าและสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยไปจนสูญพันธุ์ไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 มีบันทึกถึงเสือโคร่งตัวท้าย ๆ ในแต่ละท้องถิ่นดังนี้

เสือโคร่งตัวสุดท้ายในแถบคอเคซัสถูกฆ่าในปี 1922 ใกล้กับ ทบิลิซี จอร์เจีย มันถูกฆ่าหลังจากไปฆ่าสัตว์ในฟาร์มของชาวบ้าน เสือโคร่งตัวสุดท้ายในตุรกีถูกฆ่าในปี 2513 ใกล้กับอูลูเดเร จังหวัดฮักคารี

ในประเทศอิรักเคยพบเสือโคร่งเพียงตัวเดียว มันถูกฆ่าใกล้กับโมซุล ในปี 1887 ในประเทศอิหร่าน เสือโคร่งตัวสุดท้ายถูกฆ่าในปี พ.ศ.2502 ในโมฮัมหมัดรีซาชา (ปัจจุบันคือโกลีสตาน) เสือโคร่งพันธุ์แคสเปียนตัวหนึ่งในลุ่มน้ำทาริม ของประเทศจีนถูกฆ่าในปี 1899 ใกล้กับแอ่งลอบนอร์ในมณฑลซินเจียง และหลังจากทศวรรษ 1920 ก็ไม่มีใครเห็นเสือโคร่งแคสเปียนในลุ่มน้ำนี้อีกเลย

เสือโคร่งหายไปจากลุ่มแม่น้ำมานัสในเทือกเขาเทียนซานทางตะวันตกของอูรุมชี ในทศวรรษ 1960 ที่แม่น้ำไอรี ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญแหล่งสุดท้ายในบริเวณทะเลสาบบัลฮัช มีผู้พบครั้งสุดท้ายในปี 2491

เสือโคร่งที่อยู่ในตอนปลายแม่น้ำอะมู-ดาร์ยาบริเวณชายแดนระหว่างเติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน และอัฟกานิสถานเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 แล้ว แม้จะมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าพบเสือโคร่งบริเวณทะเลเอรัลใกล้กับนูคัส ในปี 2511 ก็ตาม

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์ชวา

เสือโคร่งพันธุ์ชวาตัวนี้ถ่ายได้ที่อูจุงคูลอนในปี 1938 

จากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกล่าอย่างหนัก ทำให้เสือโคร่งพันธุ์ชวาลดจำนวนลงอย่างมาก ในทศวรรษ 1940 เหลือเสือโคร่งพันธุ์น้อยมาก จนถึงในปี 2513 เหลืออยู่เพียงในเมรูเบตีรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และหลังจากปี 2519 ก็ไม่มีใครเห็นเสือโคร่งพันธุ์ชวาอีกเลย

สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์บาหลี

เสือโคร่งบาหลีตัวนี้ถูกยิงตายในปี 1925  

เสือโคร่งพันธุ์บาหลีมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมีตัวอย่างซากของเสือโคร่งบาหลีเพียง ตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มาในช่วงทศวรรษ 1930 เสือโคร่งพันธุ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกในช่วงทศวรรษ 1940 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ไซเตสจัดเสือโคร่งไว้ในบัญชีหมายเลข ไอยูซีเอ็นจัดเสือโคร่งไว้ในประเภทที่มความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

ประเทศที่ห้ามล่า

บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล รัสเซีย ไทย เวียดนาม

อนาคตของเสือโคร่ง

แม้ว่าเสือโคร่งสามารถเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้มากจนแน่ใจได้ว่าเสือโคร่งจะไม่มีวันสูญพันธุ์ไปจากโลกแน่นอน แต่สำหรับอนาคตของเสือโคร่งในธรรมชาติยังอยู่ในความมืดมน เสือที่อยู่ภายนอกเขตอนุรักษ์มีโอกาสอยู่รอดน้อยมาก มันจะต้องถูกคนล่าอย่างน้อยเพราะเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ พื้นที่ที่เสือโคร่งอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในบริเวณที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มากที่สุดของโลก นับตั้งแต่โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง เริ่มขึ้นในประเทศอินเดียมา 20 ปี ประชากรในประเทศได้เพิ่มจำนวนกว่า 300 ล้านคนหรือเกือบ 50 เปอร์เซนต์และมีสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านตัว เสือโคร่งในภูมิภาคอื่นก็อยู่ในภาวะคล้ายคลึงกัน

ปัจจุบัน ประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็วจนแทบจะสูญพันธุ์ ถ้ายังปล่อยให้มีการล่าอย่างไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เสือโคร่งคงจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติไปภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์เสือโคร่งทั้งสิ้นแม้แต่คนในเมือง เราสามารถช่วยการดำรงเผ่าพันธุ์ของเสือโคร่งด้วยการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเสือโคร่งเสียใหม่ เสือโคร่งมีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในธรรมชาติอย่างผาสุข ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมประชากรและคุณภาพของสัตว์ชนิดอื่น และลูกหลานของเราทุกคนก็มีสิทธิที่จะเห็นเสือโคร่งในธรรมชาติเช่นกัน จงเลิกซื้อเลิกหายาหรือเครื่องประดับใด ๆ ที่ทำมาจากอวัยวะเสือโคร่ง เมื่อใดผู้ซื้อหยุด ผู้ล่าก็จะหยุดด้วย

เสือพีเพราะป่าปก
ป่ารกเพราะเสือยัง
ดินดีเพราะหญ้าบัง
หญ้ายังเพราะดินดี

ทราบหรือไม่?

เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียตัวใหญ่กว่าสิงโต
เสือโคร่งขาว  ไม่ใช่เสือโคร่งเผือก 
เสือโคร่งวิ่งได้เร็วถึง  80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  เร็วกว่าเสือดาวที่ดูปราดเปรียวกว่าเสียอีก
เมื่อเสือโคร่งล่าเหยื่อขนาดใหญ่ได้  จะเริ่มกินที่สะโพกก่อนเสมอ
การผสมพันธุ์ของเสือโคร่ง  ใช้เวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น
เสือโคร่งตัวที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่บันทึกได้ เป็นเสือไซบีเรีย หนัก 466 กิโลกรัม
ลายพาดกลอนของเสือโคร่งแต่ละตัวไม่ซ้ำกัน
หนังเสือเสือโคร่งใต้ชั้นขนมีลายแบบเดียวกับขน
สถานเพาะพันธุ์เสือโคร่งเอกชนหลายแห่งในเอเชียมีการลักลอบส่งเสือโคร่งป้อนให้แก่จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เพื่อธุรกิจยาจีนและอาหารแปลก
เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว มีเสือโคร่งในกรงเลี้ยงมากกว่าเสือโคร่งในธรรมชาติทั่วโลกรวมกันถึงสองเท่า
"เอ็นเสือ" หรือ  "อวัยวะเพศเสือ" ที่วางขายตามร้านยาจีนนั้น  ความจริงมักเป็นอวัยวะเพศของวัว อวัยวะเพศเสือมีขนาดเล็กมาก
ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  เคยมีเหตุการณ์เสือทำร้ายคน ครั้ง  ห่างกันราว 40 ปี  และเสือทั้งสองตัวที่ก่อเหตุก็ถูกกำจัดด้วยคน ๆ เดียวกัน
Panthera tigris
ชื่อไทยเสือโคร่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์Panthera tigris
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยPantherinae
สกุลPanthera

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 26 ม.ค. 67

Powered by Wimut Wasalai