กระทิง, เมย

Gaur, Indian Bison

Bos frontalis

กระทิง (Bos gaurus(ภาพโดย วิมุติ วสะหลาย)


กระทิงเป็นสัตว์กีบ รูปร่างใหญ่โตล่ำสัน ขนสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ขาทั้งสีสี่ขาวเหมือนใส่ถุงเท้า มีความยาวหัว-ลำตัว 2.5-3.3 เมตร หางยาว 0.7-1.05 เมตร ความสูงที่หัวไหล่ 1.65-2.2 เมตร มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย หน้าผากเป็นโหนกสีเหลืองอ่อน ตัวผู้ใหญ่กว่าและหนักกว่าตัวเมียราว 25 เปอร์เซ็นต์ หลังคอเป็นโหนกสูงเกิดจากส่วนของกระดูกสันหลังที่ยื่นยาวออกไป

กระทิงเคยพบได้ตลอดทั้งแผ่นดินใหญ่ของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และศรีลังกา ปัจจุบันยังพบอยู่ในภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย ลาว มาเลเซีย (เฉพาะคาบสมุทรมลายู) พม่า เนปาล ไทย และเวียดนาม 

กระทิงเคยถูกแบ่งเป็นสามชนิดย่อย คือ Bos gaurus gaurus อาศัยอยู่ในอินเดีย เนปาล ภูฏาน B. g. readei อาศัยอยู่ในพม่า จีนตอนใต้ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทยเหนือคอคอดกระ ส่วน B. g. hubbacki พบในประเทศไทยในพื้นที่ใต้คอคอดกระลงไปถึงมาเลเซียตะวันตก อย่างไรก็ตาม การแบ่งเป็นสามชนิดย่อยนี้อาศัยการแบ่งตามสีสันและขนาด ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมใช้อีกต่อไป

ตามการแบ่งปัจจุบัน กระทิงมีสองชนิดย่อย คือ Bos gaurus gaurus อยู่ในอินเดียและเนปาล กับ Bos gaurus laosiensis อยู่ในพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ไทย และมาเลเซีย ชนิดย่อยที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีกระดูกจมูก (nasal bones) สั้นกว่า เขาอยู่ชิดกันมากกว่า และท้ายทอยแคบกว่า 

ในศรีลังกาเคยมีกระทิง ซึ่งอยู่ในชนิดย่อย B. g. sinhaleyus แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว

นอกจากกระทิงป่าแล้ว ยังมีกระทิงบ้านซึ่งสืบสายเลือดมาจากกระทิงป่า แต่ไอยูซีเอ็นถือว่าเป็นสัตว์ต่างชนิด โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์เป็น Bos frontalis พบในอินเดีย จีน และพม่า 

กระทิงชอบอาศัยอยู่ในป่าที่มีทุ่งหญ้าอยู่ใกล้เคียง ชอบพื้นที่ต่ำ แต่ก็ยังพบได้สูงถึง 2,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล 

กระทิงฝูงหนึ่งมีราว 8-11 ตัว แต่บางฝูงอาจมีมากถึง 40 ตัว พื้นที่หากินกว้างเฉลี่ยประมาณ 78 ตารางกิโลเมตร ฝูงหนึ่งประกอบด้วยตัวผู้ตัวเต็มวัยหนึ่งตัว นอกนั้นเป็นตัวเมียและวัยรุ่น ตัวผู้ที่เติบโตขึ้นอาจแยกออกไปตั้งฝูงของตัวเอง หรือถ้าเริ่มพ้นวัยหนุ่มก็อาจแยกไปเป็นกระทิงโทน 

เสียงร้องเตือนภัยของกระทิงเป็นเสียงพ่นฟึดฟัดและเสียงมอ ส่วนตัวผู้เปล่งเสียงได้มากกว่า คือเสียงเรียกให้หยุด เสียงเรียกรวมฝูง และเสียงกู่ร้องซึ่งอาจยาวนานนับชั่วโมงในช่วงผสมพันธุ์

กระทิงออกหากินตอนเช้า กินหญ้าและใบไม้ ชอบกินหญ้าอ่อนมากกว่าหญ้าแก่ ตกบ่ายจะพักผ่อนและเคี้ยวเอื้อง ถึงตอนเย็นค่อยออกหากินอีกครั้งจนถึงค่ำแล้วก็พากันเข้าป่าทึบเพื่อพักผ่อนและหลับ

ในพื้นที่ที่มีมนุษย์รบกวนมาก กระทิงจะเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสัตว์หากินกลางคืน เนื่องจากกระทิงเป็นสัตว์ขี้อาย ไม่ชอบอยู่ใกล้มนุษย์ แต่เคยมีบันทึกว่ากระทิงจู่โจมและทำร้ายมนุษย์ที่เข้าใกล้มากเกินไปจนถึงชีวิต ศัตรูในธรรมชาติของกระทิงคือเสือโคร่งและมนุษย์  ในอินเดีย กระทิงเป็นอาหารหลักของเสือโคร่ง แต่ในเขตฯ ห้วยขาแข้งของไทย ไม่พบว่าเสือโคร่งล่ากระทิงเลย

กระทิงผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ออกลูกได้ทุก 12-15 เดือน คาบการเป็นสัดประมาณ สัปดาห์ ระยะเวลาเป็นสัดตั้งแต่ 1-4 วัน แม่กระทิงตั้งท้องนาน 270-280 วัน เมื่อใกล้ออกลูกแม่กระทิงจะปลีกตัวออกจากฝูง ออกลูกครั้งละตัว ลูกแรกเกิดหนัก 23 กิโลกรัม แม่กระทิงจะเลี้ยงดูลูกเป็นเวลานานราว เดือน ลูกกระทิงสาวจะถึงวัยเจริญพันธุ์ได้เมื่ออายุได้ 2-3 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุได้ถึง 26 ปี

ปัจจุบันคาดว่ามีกระทิงอยู่ทั่วโลก 13,000-30,000 ตัว ประชากรของกระทิงลดลงอย่างต่อเรื่องจากการล่าและสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้กระทิงยังเสี่ยงที่จะติดโรคจากวัวควายของชาวบ้าน เช่นโรคปากเท้าเปื่อยและโรครินเดอร์เพสต์ 

ในภูฏาน กระทิงยังพบอยู่ตลอดเขตภูเขาทางใต้ของประเทศ ในเนปาล ประชากรกระทิงส่วนใหญ่อยู่ในอุทยานแห่งชาติจิตวันและเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าปาร์ซา การประเมินในทศวรรษ 1990 คาดว่ามีอยู่ประมาณ 250-350 ตัว แนวโน้มของประชากรคาดว่ายังทรงตัว ส่วนในบังกลาเทศคาดว่ากระทิงสูญพันธุ์ไปจากประเทศแล้ว

ที่จีน กระทิงยังพบได้ในยูนนานและทางตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต คาดว่าในยูนนานยังมีอยู่ประมาณ 600-800 ตัว ในอินเดีย คาดว่ายังมีกระทิงอยู่ 12,000-22,000 ตัวในปี 2545 แนวโน้มของประชากรกระทิงในเขตอนุรักษ์ของอินเดียก็ยังคงทรงตัว 

ลาวยังมีกระทิงทั่วประเทศอยู่ประมาณ 1,000 ตัว คาดว่าอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ความหนาแน่นประชากรต่ำมาก และจำนวนประชากรกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนในมาเลเซียคาดว่ามีกระทิงเหลืออยู่ไม่ถึง 500 ตัว

ข้อมูลเกี่ยวกับกระทิงในพม่ามีอยู่น้อยมาก จึงประเมินสถานภาพได้ยาก ในการสำรวจที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทามินที ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในปี 2537 คาดว่ามีกระทิงเหลืออยู่ราว 100-200 ตัวเท่านั้น ในกัมพูชา จำนวนกระทิงลดลงไปมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันพื้นที่ที่ยังพบกระทิงอยู่ในเขตจังหวัดมณฑลคีรีทางตะวันออกของประเทศ

ในประเทศไทย มีการประเมินจำนวนประชากรกระทิงในปี 2537 ไว้อยู่ที่ 920 ตัว มีเขตอนุรักษ์เพียง 6-7 แห่งเท่านั้นที่มีประชากรเกินกว่า 50 ตัว พื้นที่ที่สำคัญที่สุดคือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อช.ทับลาน อช.ปางสีดา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตฯ ทุ่งใหญ่นเรศวร อช. แก่งกระจาน เขตฯ แม่น้ำภาชี เขตฯ คลองนาคา  และอาจรวมถึงเขตฯ อมก๋อยและเขตฯ แม่ตื่น แต่ความหนาแน่นของประชากรก็ยังต่ำมาก เช่นที่ห้วยขาแข้ง มีความหนาแน่นของประชากรกระทิงไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่ตามประเมินว่าป่าจะรับได้ อย่างไรก็ตามประชากรกระทิงของประเทศในหลายแห่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งมีการติดตามป้องกันการลักลอบล่าสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ ที่พื้นที่ปลูกป่าเขาแผงม้าซึ่งอยู่ติดกับ อช. เขาใหญ่ มีจำนวนกระทิงเพิ่มขึ้นจาก เป็น 100 ตัวภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี  และจำนวนนี้ยังคงทรงตัวอยู่ดีระหว่างปี 2547-2550

ไซเตสจัดกระทิงไว้ในบัญชีหมายเลข ไอยูซีเอ็นประเมินว่าเสี่ยงสูญพันธุ์ (VU)

ชื่อพ้อง

Bos asseel Horsfield, 1851
Bos cavifrons Hodgson, 1837
Bos gaur Sundevall, 1846
Bos gaurus Lydekker, 1907 ssp. hubbacki
Bos gour Hardwicke, 1827
Bos subhemachaluHodgson, 1837
Bubalibos annamiticus Heude, 1901
Gauribos brachyrhinus Heude, 1901
Gauribos laosiensis Heude, 1901
Gauribos mekongensis Heude, 1901
Gauribos sylvanus Heude, 1901
Uribos platyceros Heude, 1901

Bos frontalis
ชื่อไทยกระทิง, เมย
ชื่อวิทยาศาสตร์Bos frontalis
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Bovidae
วงศ์ย่อยBovinae
สกุลBos

ข้อมูลอ้างอิง

  • Bos frontalis จาก Animal Diversity Web (http://animaldiversity.ummz.umich.edu)
  • Bos gaurus จาก IUCN Red List (http://www.iucnredlist.org)

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 28 ส.ค. 64

Powered by Wimut Wasalai