แรด

Javan Rhinoceros, Lesser One-horned Rhinoceros

Rhinoceros sondaicus

แรด ถ่ายโดยกล้องกับดักในอุทยานแห่งชาติ Cat Tien ในเวียดนาม (ภาพโดย WWF/CTNPCP/Mike Baltzer)


แรด เป็นสัตว์กีบคี่ มีกีบข้างละสามกีบ หนักราว 1.5-2 ตัน สูงราว 160-175 เซนติเมตร ความยาวหัว-ลำตัว 300-320 เซนติเมตร หางยาว 70 เซนติเมตร ตามลำตัวมีสีเทาหม่น มีเอกลักษณ์สำคัญคือมีนอซึ่งเป็นตอแหลมขึ้นที่เหนือจมูก นอแรดส่วนใหญ่ยาวไม่ถึง 15 เซนติเมตร นอที่ยาวที่สุดที่เคยพบยาว 25 เซนติเมตร แรดตัวเมียตัวใหญ่กว่าตัวผู้ แต่ไม่มีนอ หรือมีเพียงฐานนอนูนขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ริมฝีผากบนแหลมเป็นจงอยช่วยในการหยิบเกี่ยวยอดไม้มากินได้ หนังหนามีรอยพับจนดูเป็นเหมือนชุดเกราะ มีรอบพับข้ามลำตัวสามรอย คือที่ท้ายทอย หัวไหล่ และสะโพก ลักษณะทั่วไปคล้ายแรดอินเดีย แต่รูปร่างเล็กกว่า หัวเล็กกว่ามาก และมีรอยพับของหนังที่คอน้อยกว่า

แรดเป็นสัตว์ที่ถือสันโดษมาก หากินโดยลำพังเสมอ ยกเว้นในช่วงผสมพันธุ์หรือช่วงที่แม่ยังเลี้ยงดูลูก แรดชอบอาศัยอยู่ในป่าฝนที่แน่นทึบ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ มีปลักโคลนอยู่ทั่วไป ชอบอาศัยในป่าต่ำ แต่ก็เคยมีรายงานพบในที่สูงกว่า 1,000 เมตร อาหารหลักคือใบไม้ ยอดอ่อน และผลไม้สุก เป็นต้น

แรดตัวเมียมีเขตหากินกว้างประมาณ 2.5-13.5 ตารางกิโลเมตรและซ้อนเหลื่อมกัน ตัวผู้มีเขตหากินกว้างกว่าคือราว 21 ตารางกิโลเมตร 

แรดมีสายตาไม่ดี แต่มีหูและจมูกดีมาก

ในอดีตแรดเคยหากินอยู่ทั่วพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เบงกอลมาทางตะวันออกจนถึงพม่า ไทย กัมพูชา ลาว เรื่อยไปจนถึงเวียดนาม ทางใต้ก็แผ่คลุมพื้นที่ตลอดคาบสมุทรมลายู รวมถึงเกาะสุมาตราและชวา ทางเหนือก็มีเขตหากินไปไกลถึงมณฑลหูหนานและเสฉวน เมื่อราว 150 ปีก่อน ยังพบอยู่ในสามพื้นที่ ได้แก่ชนิดย่อย inermis อยู่ในเบงกอลจนถึงอัสสัมและพม่า ปัจจุบันเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ชนิดย่อย annamiticus พบอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกของไทย กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนชนิดย่อย sondaicus พบอยู่ในเทือกเขาตระนาวศรีเรื่อยลงไปในคาบสมุทรมลายู สุมาตรา และชวา 

ในปี 2531 มีข่าวดีสำหรับแรด เมื่อมีการพบประชากรแรดในบริเวณริมแม่น้ำดองไนในจังหวัดลัมดอง ของเวียดนาม ซึ่งพบเพียงไม่ถึง 20 ตัว แต่ประชากรแรดในส่วนนี้ก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งแรดตัวสุดท้ายตายลงในปี 2554 ด้วยลูกกระสุนปืนพราน



ปัจจุบัน พื้นที่ที่พบแรดอยู่มีเพียงที่เดียวเท่านั้น คือที่คาบสมุทรอูจุงคูลอนทางตะวันตกของเกาะชวา ในช่วงทศวรรษ  1960 จำนวนประชากรแรดในอุทยานแห่งชาติอูจุงคูลอนเหลือน้อยมากเพียง  20-30 ตัวเท่านั้น  แต่หลังจากการคุ้มครองอย่างเข้มงวดของทางการอินโดนีเซียทำให้จำนวนเริ่มมากขึ้นอย่างช้า ๆ ตัวเลขจำนวนประชากรของแรดล่าสุด (2565) คือ 76 ตัว1 ส่วนในพื้นที่อื่นมีรายงานว่าพบเห็นบ้างแต่มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ยืนยันได้คือในปี พ.ศ. 2531 ที่นายพรานล่าแรดได้และส่งกระดูกไปฮานอย

แรดตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ราว 3-4 ปี ไม่มีฤดูผสมพันธ์ที่แน่นอน คาบการเป็นสัดนานราว 16 เดือน ออกลูกครั้งละตัว ลูกแรดจะดูดนมแม่เป็นเวลาหนึ่งหรืออาจนานถึงสองปี และกว่าแม่แรดจะผสมพันธุ์อีกครั้งก็ห่างจากคราวก่อนถึง 4-5 ปี

แรดประสบภัยคุกคามหลายด้าน ภัยที่ร้ายแรงที่สุดคือการล่า แรดเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดยาจีน อวัยวะทุกส่วนของแรดนำไปใช้เป็นส่วนประกอบยาจีนได้ทั้งหมดโดยเฉพาะนอ ในเกาหลีใต้ มีการนำนอแรดไปรักษาโรคหลายชนิด ตั้งแต่ หวัด ลมชัก ลมอัมพาต จนกระทั่งเอดส์ 

ในประเทศเวียดนาม ชาวบ้านเผ่าสเตียงและเชามาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่พบแรดหลายบ้านมีปืนไว้ล่าสัตว์ใหญ่เป็นอาหารเป็นประจำ และพร้อมจะฆ่าแรดได้ทุกเมื่อที่พบเห็น ด้วยราคาค่าหัวแรดที่สูงลิบ แรดจึงถูกมองว่าเป็นลาภก้อนใหญ่มากกว่าสัตว์ป่าที่ควรอยู่คู่ป่า นอแรดมีราคาในตลาดในตะวันออกไกลมีค่ามากถึง 60,000 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ลูกค้าหลักคือ จีน เยเมน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ 

ภัยที่คุกคามอีกอย่างที่มีต่อแรดก็คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ทั้งจากประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น และจากการทำไม้ อย่างไรก็ตามการคุกคามนี้ยังอยู่ในการควบคุมจากการประกาศให้เป็นเขตคุ้มครอง

การที่ประชากรแรดเหลือน้อยมากในจังหวัดลัมดองทำให้ไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมและเพิ่มโอกาสในการผสมพันธุ์ในสายเลือด การขาดความหลากหลายทางพันธุ์กรรมทำให้ลูกหลานแรดปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมไม่ได้ จากการศึกษาแรดห้าตัวที่ตายในในอุทยานแห่งชาติอูจุงคูลอนระหว่างปี 2524-2525 พบว่าตายจากการติดเชื้อไวรัส สิ่งนี้ยิ่งเป็นการยืนยันว่าประชากรที่น้อยนิดเปราะบางต่อโรคภัยธรรมชาติอย่างไร 

ในประเทศอินโดนีเซีย แรดได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2474 และอุทยานอูจุงคูลอนก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์แรดโดยเฉพาะ ในเวียดนาม แรดได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายท้องถิ่นที่อนุมัติโดยกระทรวงป่าไม้ ไซเตสบรรจุชื่อแรดไว้ในบัญชีหมายเลข ตั้งแต่ปี 2520 ห้ามการค้าขายระหว่างประเทศ ในประเทศไทย แม้จะไม่พบแรดมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่แรดก็ยังเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย

สัตว์ในตระกูลแรดมีทั้งสิ้น ชนิด นอกจากแรดแล้วยังมี กระซู่ แรดอินเดีย แรดขาว และแรดดำ สัตว์ในตระกูลแรดอาจเรียกเหมารวมกันว่า แรด ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึงแรดคำเดียว อาจหมายถึงแรดชนิดใดชนิดหนึ่งในห้าชนิดนี้ หรืออาจหมายถึงแรดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhinoceros sondaicus นี้ก็ได้ ด้วยเหตุนี้การเอ่ยเพียงคำว่า แรด จึงอาจเกิดความกำกวมขึ้นได้ วิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในการเลี่ยงความกำกวมก็คือ เมื่อเอ่ยถึงแรดที่หมายถึง Rhinoceros sondaicus จะเรียกว่า แรดชวา แทนซึ่งเป็นชื่อที่ถอดความมาจากชื่อภาษาอังกฤษ (Javan Rhinoceros) 

Rhinoceros sondaicus
ชื่อไทยแรด
ชื่อวิทยาศาสตร์Rhinoceros sondaicus
ชั้นMammalia
อันดับPerissodactyla
วงศ์Rhinocerotidae
สกุลRhinoceros

ข้อมูลอ้างอิง

เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 21 พ.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai