กระซู่

Sumatran Rhinoceros, Asian Two-Horned Rhinoceros, Hairy Rhinoceros

Dicerorhinus sumatrensis

กระซู่ (Dicerorhinus sumatrensis(ภาพโดย ภาพจาก Cincinnati Zoo and Botanical Garden)


กระซู่เป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุดในจำนวน ชนิดที่มีอยู่ รูปร่างหนาบึกบึน สีลำตัวน้ำตาลแดง ลักษณะเด่นที่ต่างจากพวกพ้องตระกูลแรดชนิดอื่นก็คือ มีขนสีน้ำตาลแดงยาวทั่วตัว บางครั้งฝรั่งก็เรียกว่า แรดขน สีขนจะเข้มขึ้นตามอายุ หนักราว 600-950 กิโลกรัม ความสูง 1-1.5 เมตร ความยาวลำตัว 2.0-3.0 เมตร หางยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ขาสั้นม่อต้อ ริมฝีปากบนแหลมเป็นจงอยใช้หยิบจับได้

กระซู่เป็นแรดในเอเชียเพียงชนิดเดียวที่มีสองนอ นอหน้ายาวประมาณ 25-79 เซนติเมตร นอในอยู่หว่างคิ้วและเล็กกว่ามาก มักยาวไม่ถึง 10 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียบางตัวอาจไม่มีนอใน  หนังกระซู่สีน้ำตาลอมเทาเข้ม หนาเฉลี่ย 16 มิลลิเมตร หนังรอบตายับย่น มีรอยพับข้ามตัว รอย คือที่หลังขาหน้าและหน้าขาหลัง ดูเหมือนหุ้มเกราะ 

กระซู่มีสองชนิดย่อยคือ กระซู่ตะวันตก (Dicerorhinus sumatrensis sumatrensisพบในเกาะสุมาตรา อินโดจีน และคาบสมุทรมลายู และ กระซู่ตะวันออก (Dicerorhinus sumatrensis harrissoniอาศัยอยู่ในเกาะบอร์เนียว ก่อนหน้านี้เคยมีอีกชนิดย่อยหนึ่งคือ (Dicerorhinus sumatrensis lasiotusพบในอินเดีย บังกลาเทศ และพม่า แต่ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว แม้จะยังมีความหวังว่าอาจยังมีเหลืออยู่ในพม่าก็ตาม 

อาหารหลักของกระซู่คือ ใบไม้ กิ่งไม้ ยอดอ่อน ผลไม้ เช่น ทุเรียนป่า มะม่วงป่า ลูกไทร ไผ่ และพืชที่ขึ้นตามป่าชั้นสอง  กินอาหารเฉลี่ยวันละ 50 กิโลกรัม กระซู่หากินโดยลำพังตอนเช้ามืดและหัวค่ำ เดินทางตอนกลางคืน ส่วนตอนกลางวันจะนอนแช่ปลักหรือในบึงเพื่อพักผ่อน กระซู่มักทำปลักส่วนตัวโดยจะถางบริเวณในรัศมี 10-35 เมตรให้ราบเรียบเพื่อเป็นที่พักผ่อน กระซู่มีการย้ายถิ่นตามฤดูกาล โดยในฤดูฝนจะย้ายไปอยู่ที่สูง ส่วนในฤดูอื่นจะย้ายลงมาอยู่ในที่ต่ำ แม้จะดูอ้วนเทอะทะแต่กระซู่ปีนป่ายหน้าผาชันได้เก่ง และว่ายน้ำได้ดี เคยมีผู้พบเห็นกระซู่ว่ายในน้ำทะเลด้วย 

กระซู่จำเป็นต้องลงกินโป่งอยู่เสมอ เคยพบว่าพื้นที่รอบโป่งแห่งหนึ่งมีจำนวนกระซู่มากถึง 13-14 ตัวต่อตารางกิโลเมตร ตัวผู้มีพื้นที่หากินประมาณ 30 ตารางกิโลเมตรและซ้อนเหลื่อมกันมาก ส่วนตัวเมียมีอาณาเขตเล็กกว่า เพียง 10-15 ตารางกิโลเมตรและซ้อนทับกับตัวเมียตัวอื่นเล็กน้อย ทั้งตัวผู้และตัวเมียทำเครื่องหมายประกาศอาณาเขตด้วยรอยครูด ขี้ ละอองเยี่ยว และรอยลู่ของไม้อ่อน

กระซู่อาศัยได้ในป่าหลายประเภท แต่ชอบที่สูงที่มีมอสปกคลุมและป่าฝนเขตร้อน มักพบใกล้แหล่งน้ำ ป่าชั้นสองที่มีความหนาแน่นพอสมควรก็ดึงดูดกระซู่ได้ นอกจากนี้ยังเคยพบว่ากระซู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งด้วย

ฤดูกาลผสมพันธุ์ไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบว่าลูกกระซู่มักเกิดช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุก แม่กระซู่ตั้งท้องนาน 477 วัน ออกลูกครั้งละ ตัว ลูกกระซู่แรกเกิดหนัก 25 กิโลกรัม สูง 60 เซนติเมตรและยาว 90 เซนติเมตร มีขนแน่นและสีขนออกแดง ช่วงวันแรก ๆ ลูกกระซู่จะซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ทึบใกล้โป่งขณะที่แม่ออกไปหากิน พออายุได้ เดือนจึงออกติดตามแม่ไปได้ หย่านมได้เมื่ออายุ 18 เดือน แต่จะยังอยู่กับแม่จนกระทั่งอายุ 2-3 ปี กระซู่วัยเด็กอาจอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อโตแล้วก็จะแยกย้ายกันไปหากินตามลำพัง 

ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ ปี ส่วนตัวผู้ต้องรอไปถึงอายุ ปี ตัวเมียมีระยะตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกัน 3-4 ปี กระซู่ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุขัยประมาณ 35 ปี

กระซู่นับเป็นสัตว์ใหญ่ที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก ในต้นศตวรรษที่ 20 กระซู่ยังพบอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัย ภูฏาน อินเดียตะวันออกจนถึงมาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว กระซู่ตะวันตกในแผ่นดินใหญ่เหลือเพียงประมาณ 100 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ในคาบสมุทรมลายู ในประเทศไทยอาจเหลือเพียง 10 ตัว และในเกาะสุมาตรามีจำนวนประมาณ 300 ตัว กระซู่ตะวันออกที่เคยพบทั่วเกาะบอร์เนียวเหลือเพียงประมาณ 60 ตัวในรัฐซาบาห์เท่านั้น ส่วนในรัฐซาราวักและกาลิมันตันไม่พบอีกแล้ว  

กระซู่ประสบถูกคุกคามเนื่องจากป่าที่อยู่อาศัยถูกบุกรุกอย่างหนักจนเริ่มขาดจากกันเป็นผืนเล็กผืนน้อย ยิ่งกว่านั้น ทุกพื้นที่ที่พบกระซู่ล้วนแต่มีแนวโน้มประชากรลดลง ศัตรูหลักของกระซู่คือมนุษย์และเสือโคร่ง

โครงการขยายพันธุ์กระซู่ในแหล่งเพาะเลี้ยงที่ผ่านมาไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก นับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา มีกระซู่ถูกจับมาจากป่าเพื่อมาเข้าโครงการนี้ 40 ตัว แต่ก็ตายไปถึง 19 ตัว การผสมเทียมก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ความล้มเหลวดังกล่าวน่าจะเป็นผลมาจากการขาดความรู้ด้านโภชนาการและการสืบพันธุ์ของกระซู่ ปัจจุบันเราทราบแล้วว่ากระซู่ต้องการพื้นที่กว้างกว่าเดิมและมีสภาพเป็นธรรมชาติมากกว่าที่เคยมีอยู่ 

แม้เวลาจะเหลือน้อยลงทุกที แต่ความพยายามที่จะรักษาเผ่าพันธุ์กระซู่ยังคงดำเนินต่อไป

ไอยูซีเอ็นจัดให้กระซู่อยู่ในสภาวะวิกฤต ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 1

ทราบหรือไม่?

ลูกกระซู่ภาษาอังกฤษเรียกว่า calf
Di- มาจาก dis ในภาษากรีก แปลว่า สอง keras เป็นภาษากรีกแปลว่านอหรือเขา rhis เป็นภาษากรีกแปลว่าจมูก รูปเจ้าของเป็น rhinos  -ensis เป็นภาษาละติน เป็นปัจจัยที่เติมเพื่อบอกว่าเป็นของ
บันทึกนอกระซู่ที่ยาวที่สุดที่เคยวัดได้คือ 80 และ 69 เซนติเมตร

Dicerorhinus sumatrensis
ชื่อไทยกระซู่
ชื่อวิทยาศาสตร์Dicerorhinus sumatrensis
ชั้นMammalia
อันดับPerissodactyla
วงศ์Rhinocerotidae
สกุลDicerorhinus

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 25 ส.ค. 64

Powered by Wimut Wasalai