ครั้งแรกในรอบ 3 ปี เสียงนกแต้วแร้วท้องดำจากป่า

ครั้งแรกในรอบ 3 ปี เสียงนกแต้วแร้วท้องดำจากป่า

14 เม.ย. 2560

ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วันที่ 12 เมษายน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักของกรมอุทยานฯที่ตั้งเป้าเอาไว้ในปี 2560 คือ การฟื้นฟูประชากรนกแต้วแร้วท้องดำในธรรมชาติให้ได้ เนื่องจากในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาไม่มีใครเจอนกแต้วแร้วท้องดำในธรรมชาติอีกเลย ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา ทางสำนักสัตว์ป่า ได้ระดมนักวิชาการผู้ที่เชี่ยวชาญและศึกษาเรื่องธรรมชาติวิทยาของนกแต้วแร้วท้องดำ ลงพื้นที่้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม (เขานอจู้จี้) จ.กระบี่ ถิ่นที่อยู่อาศัยเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยของนกชนิดนี้ เพื่อ สำรวจพื้นที่อย่างละเอียด และวางแผนการฟื้นฟูประชากรอย่างจริงจัง

นายธัญญา กล่าวว่า หลายๆปัญหาที่เคยเจอและเป็นอุปสรรคสำหรับการฟื้นฟูประชากรนกแต้วแร้วท้องดำเวลานี้คลี่คลายไปหมดแล้ว เช่น ก่อนหน้านี้ มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาประ-บางคราม เวลานี้ทุกคนย้ายออกมาจากพื้นที่หมดแล้ว ภายใต้การสนับสนุนและดูแลจากโครงการซีเอสอาร์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทำให้นักวิจัยเข้าไปทำงานสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้รับคำสัญญาจากชาวบ้านในพื้นที่เรื่องการเข้ามาช่วยฟื้นฟูประชากรนกแต้วแร้วท้องดำอีกด้วย


นส.สมหญิง ทัฬหิกรณ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกแต้วแร้วท้องดำ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มเข้าไปศึกษาเพื่อฟื้นฟูประชากรนกแต้วแร้วท้องดำในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคมตลอดทั้งเดือน กรมอุทยานได้ระดม นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ประมาณ 50 คน สำรวจพื้นที่เขานอจู้จี้แบบปูพรมอย่างละเอียด ครั้งใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัยเดิมของนกแต้วแร้วท้องดำภายในพื้นที่ 30 ตารางกิโลเมตร

“ถึงแม้ว่าเราจะไม่เจอตัวนกแต้วแร้วท้องดำเลย แต่เรามีความมั่นใจมากว่า ในพื้นที่ดังกล่าวต้องมีนกแต้วแร้วท้องดำแน่ๆอย่างน้อย ตัว เพราะระหว่างการสำรวจนั้นทีมวิจัยชุดหนึ่งอยู่ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ได้ยินเสียงนกแต้วแร้วท้องดำตัวผู้ร้อง แต่ยังไม่ได้ยินเสียงนกตัวเมีย อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก เพราะมั่นใจมากว่า หากมีนกตัวผู้อยู่ ก็จะต้องมีนกตัวเมียแน่ๆ เพียงแต่ยังหาตัวไม่เจอเท่านั้น ทั้งนี้ได้วางแผนเพิ่มเติมว่า ประมาณวันที่ 20-23 เมษายน นี้จะเข้าไปสำรวจแบบละเอียดอีกครั้ง”นส.สมหญิง กล่าว

เมื่อถามว่า หากเจอตัวนกทั้งตัวผู้และตัวเมียในธรรมชาติจริงๆ จะต้องจับมาผสมพันธุ์หรือไม่ นส.สมหญิง กล่าวว่า จะไม่มีการจับเพื่อเอามาผสมพันธุ์เด็ดขาด เพราะโอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากนกป่าเป็นนกที่มีความละเอียดอ่อนสูงมาก การถูกจับมาอยู่ในกรงจะยิ่งทำให้นกเกิดความเครียด จะไม่ยอมผสมพันธุ์และออกไข่ค่อนข้างยาก วิธีการคือ เฝ้าดูแลในพื้นที่ป่าบริเวณนั้นอย่างใกล้ชิด แต่ต้องไม่ให้นกรู้ตัว คือ เฝ้าระวังไม่ให้ลูกนก หรือไข่นกถูกงูแส้หางม้า หรืองูปล้องทองเข้ามากิน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญของการแพร่ขยายพันธุ์ของนกแต้วแร้วท้องดำคือ ศัตรูในธรรมชาติ

“วิธีการหนึ่งที่เราทำได้ผลมาแล้วคือ ต้องช่วยแม่นกเลี้ยงลูกในตอนกลางคืน โดยเมื่อประมาณปี 2546 ตอนนั้นเราเจอรังนกแต้วแร้วท้องดำ แม่นกกำลังกกลูก หากปล่อยเอาไว้ลูกนกคงไม่รอดแน่ๆ เพราะมีงูปล้องทองจ้องที่จะกินนกอยู่ วิธีการช่วยแม่นกเลี้ยงลูกของเราในตอนแรกคือ การผลัดเวรกันเฝ้านกตลอด 24 ชั่วโมง คอยไล่งูไม่ให้เลื้อยเข้าไปในรังนก ที่ยากก็คือ ต้องทำไม่ให้แม่นกรู้ตัวด้วย ชนิดที่ต้องจับจ้องตลอดเวลา ต่อมากลัวจะพลาด เลยใช้วิธี ตอนพลบค่ำเข้าไปขโมยลูกนกมาดูแลเอง พอตีห้า ยังไม่สว่างก็ค่อยเอาลูกนกไปคืน โดยที่แม่นกไม่รู้ว่า เราช่วยเอาลูกไปเลี้ยง ทำอยู่เช่นนี้จนลูกนกบินได้ และติดห่วงเครื่องหมายให้นกตัวนี้ได้ กระทั่งปี 2553 ยังสามารถถ่ายรูปนกตัวที่เราเคยช่วยเลี้ยงได้ เป็นครั้งสุดท้าย”นส.สมหญิง กล่าว

นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 20 เมษายน นี้ นักวิจัยจะลงพื้นที่เขานอจู้จี้อีกครั้ง มีความหวังเต็มเปี่ยมว่าจะเจอตัวจริงๆของนกแต้วแร้วท้องดำที่ไม่เจอในธรรมชาติมานาน และมีความหวังว่าในอนาคตจะสามารถขยายพันธุ์นกในธรรมชาติให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะเวลานี้ปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรคได้คลี่คลายไปเกือบหมดแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นกแต้วแร้วท้องดำ เป็นหนึ่งในนกแต้วแร้ว 12 ชนิดที่พบในประเทศไทย รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ตัวผู้หัวสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องแต้มสีดำสมชื่อ ตัวเมียกระหม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น

นกแต้วแร้วท้องดำอาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งมีระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบตามที่ราบ ใกล้ร่องน้ำหรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ เขตกระจายพันธุ์อยู่ในทางใต้ของพม่าที่ติดต่อกับประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศไทยพบเพียงแห่งเดียวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม (เขานอจู้จี้) จ.กระบี่เพียงแห่งเดียว

ปัจจุบันสถานภาพของนกแต้วแร้วท้องดำในประเทศไทยน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2529 เคยพบ 44-45 คู่ แต่ในปี พ.ศ. 2540 เหลือเพียง คู่เท่านั้น ปัจจุบันไม่มีใครพบในธรรมชาติมา 2-3 ปีแล้ว เป็นหนึ่งในสัตว์สงวน 15 ชนิดของไทย ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ไอยูซีเอ็นเคยประเมินสถานภาพไว้ว่า ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง แต่จากการที่การสำรวจพบประชากรของนกชนิดนี้ในพม่ามากขึ้น ในปี 2551 จึงปรับสถานภาพให้ดีขึ้นเล็กน้อยเป็น ใกล้สูญพันธุ์
Powered by Wimut Wasalai