วัดป่าหลวงตาบัว อาจพัวพันกับตลาดมืดเสือโคร่ง

วัดป่าหลวงตาบัว อาจพัวพันกับตลาดมืดเสือโคร่ง

22 มิ.ย. 2551

วิมุติ วสะหลาย wimut@hotmail.com

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่วัดป่าหลวงตาบัว  ญาณสัมปันโน หรือที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่า "วัดเสือ" ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนกันเข้ามาไม่ขาดสาย บางวันอาจมากถึง 800 คน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องเสียค่าผ่านประตู 300 บาทเพื่อที่จะเข้ามามีประสบการณ์ใกล้ชิดกับเสือใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้
แม้ชื่อเสียงด้านเสือโคร่งของวัดจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่มีอีกมุมหนึ่งของวัดที่สาธารณชนอาจไม่ได้เห็นได้กระตุ้นให้องค์กรอนุรักษ์ สัตว์ป่าทั้งของไทยและนานาชาติจับตามองกิจกรรมของวัดนี้มากขึ้น
ล่าสุดได้มีรายงานจากองค์การแคร์ฟอร์เดอะไวลด์อินเตอร์เนชันแนล หรือซีดับเบิลยูไอ (CWI--Care for the Wild International) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ของสหราชอาณาจักร ระบุว่า วัดป่าหลวงตาบัวฯ ไม่ได้มีการอนุรักษ์เสือใกล้สูญพันธุ์ดังที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังพบว่าทางวัดได้มีการค้าขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายกับฟาร์มเสือโคร่งในลาวอีกด้วย
"เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนต้องรู้ว่านี่ไม่ใช่การอนุรักษ์ที่แท้จริง เขากำลังหลอกลวงประชาชน และกำลังแสวงประโยชน์จากสัตว์ป่า" กุนา สุพรามเนียม ผู้อำนวยการซีดับเบิลยูไอสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว



ซีดับเบิลยูไอได้ดำเนินการสืบสาวเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2548 จนถึง 2551 โดยได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลที่มีชื่อเป็นอาสาสมัครของทางวัด และตัวของสุพรามเนียมก็ได้มาที่วัดด้วยตนเองในปี 2549 กับ 2550 ด้วย
เจ้าหน้าที่ทางวัดได้ปฏิเสธการเกี่ยวข้องใด ๆ กับการค้าขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย
ตามข้อมูลของทางวัด พระอาจารย์ภูษิต ขันติธโร เจ้าอาวาสวัด ได้เริ่มเลี้ยงดูเสือที่ถูกทอดทิ้งและเสือกำพร้ามาตั้งแต่ปี 2542 
"การปล่อยสัตว์ที่ไม่ต้องการให้วัดเป็นเรื่องปกติสำหรับชาวพุทธ ซึ่งผู้ปล่อยเชื่อว่าจะได้บุญ" สุพรามเนียมกล่าว
หลังจากที่ทางวัดเริ่มเปิดให้เข้าชมสัตว์ในเชิงท่องเที่ยวเมื่อราวปี 2543 พระสงฆ์ก็เริ่มขยายพันธุ์เสือโคร่งจนปัจจุบันมีเสือโคร่ง 16 ตัวáÅéÇ
พระในวัดกล่าวว่า เงินค่าผ่านประตูและเงินบริจาคผ่านเว็บไซต์จะนำไปใช้ในโครงการปล่อยคืนเสือโคร่งสู่ป่าเมืองไทย 
ปัจจุบันประเทศไทยเหลือเสือโคร่งในธรรมชาติเพียง 250-500 ตัว ส่วนทั่วโลกเหลือเสือโคร่งในธรรมชาติเพียงไม่ถึง 4,000 ตัวเท่านั้น 
"เราต้องการเป็นหนึ่งในด้านการบริหารจัดการเสือโคร่ง" โรดริโก กอนซาเลซ หนึ่งในผู้ดูแลเสือโคร่งของวัดที่ทำงานมาตั้งแต่ปี 2545 กล่าว
แต่รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่าทางวัดมีการดำเนินงานด้านอนุรักษ์น้อยมาก นอกจากนี้ยังกลับมีการแลกเปลี่ยนเสือโคร่งกับฟาร์มเสือโคร่งแห่งหนึ่งในลาวอย่างผิดกฎหมาย 
เสือโคร่งตัวใหม่ที่ถูกนำเข้ามาในวัดมักได้ชื่อเหมือนกับเสือโคร่งตัวที่ออกจากวัดไป และส่วนใหญ่เสือโคร่งตัวผู้ที่อายุมากจะถูกแทนที่ด้วยเสือโคร่งตัวเมียที่อายุน้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะตัวผู้ที่อายุมากจะควบคุมยากขึ้น
รายงานของซีดับเบิลยูไอยังพบว่า แม้ลูกเสือตัวแรกอาจมาจากการบริจาคอย่างถูกต้อง แต่ตัวที่เหลือกลับได้มาจากการซื้อจากฟาร์ม
ซีดับเบิลยูไอยังได้พบเอกสารที่ลงนามโดยเจ้าของฟาร์มเสือโคร่งในลาวกับเจ้าอาวาสในปี 2548 เป็นสัญญาแลกเปลี่ยนเสือโคร่งโดยระบุวัตถุประสงค์ว่าเพื่อการอนุรักษ์
ภายใต้อนุสัญญาไซเตส การขนย้ายเสือโคร่งข้ามชายแดนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เว้นแต่จะมีการอนุญาตให้แก่สถาบันทางวิทยาศาสตร์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์เท่านั้น แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าทางวัดได้รับการอนุญาตดังกล่าว
"ขณะนี้รัฐบาลไทย ซึ่งในทางกฎหมายถือเป็นเจ้าของสัตว์ในวัดกำลังพิจารณาถึงอนาคตของสัตว์ป่าในวัดนี้ โดยถือความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสัตว์เป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง" นายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าว
รัฐบาลไทยถือว่าวัดนี้เป็นเขตที่พักพิงสัตว์ป่าชั่วคราว ไม่ใช่ศูนย์อนุรักษ์
ในประเด็นเรื่องการค้าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย นายสามารถกล่าวว่ายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าทางวัดเกี่ยวข้องกับการค้าดังกล่าวจริง
กอนซาเลสยืนยันหนักแน่นว่าทางวัดไม่เกี่ยวข้องกับการค้าเสือโคร่ง แต่ก็ยอมรับว่าทางวัดไม่ได้สืบเสาะถึงที่มาของเสือตัวใหม่ที่นำเข้ามาในวัด
"ถ้าใครต้องการจะซื้อขายหรือแสวงประโยชน์จากเสือโคร่ง ก็ไปเมืองจีนสิ" กอนซาเลซเสริม "เรื่องที่เราทำที่นี่เป็นเรื่องที่ดี ถ้าพวกเขา(องค์กรอนุรักษ์)มองไม่เห็น มันก็เป็นความผิดของเขา"
เอ็ดวิน วิก จากมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ซึ่งมีความเห็นแตกต่างไปกล่าวว่า "ผมประหลาดใจมากที่เขามีการจัดโชว์เสือราวกับว่าเสือเหล่านี้เพิ่งถูกช่วยชีวิตออกมาจากป่า ทั้งที่เสือพวกนี้มาจากฟาร์ม"
ฟีโอนา แพตแชตต์ ชาวนิวซีแลนด์ อาสาสมัครของวัดระหว่างปี 2548-2549 ยืนยันว่าเคยเห็นการแลกเปลี่ยนลูกเสือและการลงนามในสัญญาด้วย เจ้าหน้าที่ของวัดบอกเธอว่าลูกเสือตัวนั้นมาจากฟาร์มในลาว ในขณะนั้นเธอเข้าใจว่าเป็นขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เพิ่งมาทราบภายหลังว่าไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากนั้นยังกล่าวอีกว่าในช่วงเวลาที่เธอทำงานอยู่นั้น มีเสือโคร่งหกหรือเจ็ดตัวหายไปโดยไร้คำอธิบาย
บางครั้งเสือโคร่งในวัดนี้ซึ่งปกติจะอยู่ในกรง 21 ชั่วโมงต่อวันก็ถูกกระทำอย่างไม่เหมาะสม เธอเคยเห็นเจ้าหน้าที่นั่งบนตัวเสือ ทุบตีเสือด้วยหินหรือกำปั้น หรือเล่นอวัยวะเพศเสือ พฤติกรรมดังกล่าวก็มีกล่าวถึงในรายงานของซีดับเบิลยูไอเช่นกัน
ครั้งหนึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวเขียนแจ้งไปยังเว็บไซต์ว่าเสือที่นี่ดูเหมือนกับถูกให้ยาเพื่อให้เซื่องซึม แต่รายงานของซีดับเบิลยูไอพบว่าไม่มีหลักฐานในข้อกล่าวหาข้อนี้
นอกจากนี้ทางวัดยังมีการเพาะพันธุ์เสือโดยไม่ได้คำนึงถึงพันธุ์ของเสือ ทำให้เกิดลูกผสมซึ่งในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญถือว่าไม่ส่งผลบวกในแง่อนุรักษ์ 
"เป็นเรื่องผิดทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางชาติพันธุ์" วิก จากมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่าให้ความเห็น
แต่กอนซาเลซ ซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์มาก่อนที่จะมาทำงานที่นี่เช่นเดียวกับอาสาสมัครส่วนใหญ่ของวัด กล่าวว่า เป้าหมายของทางวัดคือการอนุรักษ์เสือโคร่งทั้งหมด
"เสือแต่ละพันธุ์ต่างก็ลดจำนวนลงเหมือนกันทั้งนั้น เราจำเป็นต้องหยุดแยกแยะ แล้วก็หุบปากเสีย เราสนใจเฉพาะเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลเท่านั้น" กอนซาเลซกล่าว "พวกองค์กรอนุรักษ์ชอบคิดว่าตัวเองสูงส่ง แต่พวกเราไม่หยุมหยิมแบบนั้น"
ทางวัดกำลังมีโครงการสร้างนิคมเสือโคร่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในโครงการนี้ เจ้าหน้าที่ของวัดจะสอนให้เสือโคร่งล่าเหยื่อเอง แล้วปล่อยให้หากินในนิคมนี้เพื่อให้ทายาทรุ่นต่อไปจะได้เป็นเสือป่า
ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าโครงการนี้ไม่เป็นธรรมชาติ ยังไม่เคยมีเสือโคร่งที่เลี้ยงดูในแหล่งเพาะเลี้ยงประสบความสำเร็จในการกลับสู่ธรรมชาติเลย มาเฮนดรา เชรสทา ผู้อำนวยการกองทุนอนุรักษ์เสือโคร่ง (Save the Tiger Fund) ประจำกรุงวอชิงตันดีซีกล่าว
"ทางวัดทำเรื่องนี้เหมือนกับว่าการทำให้เสือโคร่งกลายเป็นเสือป่าเป็นเรื่องง่าย" เชรสทากล่าว "มันให้ภาพของการอนุรักษ์ที่ผิดอย่างสิ้นเชิง"
"ควรจะให้ความสนใจไปที่เสือโคร่งที่ยังหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติเป็นสำคัญ" วิกกล่าว "เรายังมีเสือโคร่งเหลืออยู่ในคลังของธรรมชาติที่ยังได้รับการปกป้องอยู่ เสือพวกนี้ยังมีโอกาสมีอนาคต จึงเป็นพวกที่ต้องให้ความสนใจเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ไปเน้นที่เสือโคร่งในกรงซึ่งไม่ใช่พันธุ์บริสุทธิ์"

ดาวน์โหลดรายงานของ CWI ได้ที่ http://www.cwiftp.co.uk/browse.asp

ที่มา

Powered by Wimut Wasalai