ครั้งแรกในโลก ภาพเคลื่อนไหวของกระซู่บอร์เนียว

ครั้งแรกในโลก ภาพเคลื่อนไหวของกระซู่บอร์เนียว

12 พ.ค. 2550

วิมุติ วสะหลาย wimut@hotmail.com

กองทุนสัตว์ป่าโลกและกรมสัตว์ป่าของสาขาซาบาห์ประเทศมาเลเซีย แถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 24 เมษายนว่า สามารถเก็บภาพพฤติกรรมในธรรมชาติของกระซู่บอร์เนียว สัตว์ที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลกไว้เป็นครั้งแรกโดยกล้องวิดีโอ
ท่อนฟิล์มนี้มีความยาว นาที แสดงภาพของกระซู่บอร์เนียวกำลังหากิน ส่งเสียงครืดคราด ดมกล้องและเดินผ่านหน้ากล้องไป

กระซู่บอร์เนียว

กระซู่บอร์เนียวเป็นชนิดย่อยของกระซู่ (Dicerorhinus sumatrensis) เป็นสัตว์หายากมาก ปัจจุบันคาดว่ามีเหลืออยู่เพียง 25-50 ตัวบนเกาะบอร์เนียวเท่านั้น อาศัยอยู่ในป่าทึบใจกลางเกาะ หรือที่เรียกกันว่า "ดวงใจแห่งบอร์เนียว" สัตว์ตระกูลแรดชนิดนี้หายากมากจนกระทั่งแม้แต่ภาพถ่ายภาพแรกในโลกเพิ่งถ่ายได้เมื่อปีที่แล้วนี้เอง และน้อยคนนักที่จะมีวาสนาได้เห็นกับตา
กล้องวิดีโอที่ถ่ายกระซู่บอร์เนียวได้สำเร็จในครั้งนี้พัฒนาโดย สตีเฟน ฮอกก์ หัวหน้าฝ่ายโสตทัศนะของกองทุนสัตว์ป่าโลกมาเลเซีย ก่อนหน้าที่จะนำกล้องมาใช้ในโครงการนี้ที่บอร์เนียว ได้ประสบความสำเร็จในการทดสอบกับเสือโคร่งมลายูในคาบสมุทรมลายูมาแล้ว โครงการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอนี้มีเพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของกระซู่ ช่วยจำแนกกระซู่แต่ละตัว รวมถึงสำรวจพฤติกรรมในธรรมชาติของกระซู่ด้วย

สตีเฟน ฮอกก์ จากกองทุนสัตว์ป่าโลกมาเลเซีย กำลังพัฒนากล้องวิดีโอที่ใช้ในการถ่ายภาพกระซู่บอร์เนียว (ภาพโดย Salmiah Abu)

ในเกาะบอร์เนียว ไม่เคยมีรายงานการพบกระซู่มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าอาจสูญพันธุ์ไปจากเกาะแล้ว กระซู่มีภัยคุกคามหลายด้าน ทั้งจากการล่า ถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และจากการที่เหลืออยู่เป็นจำนวนน้อยทำให้กระซู่แต่ละตัวต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว มีโอกาสเจอกันและผสมพันธุ์กันน้อย
"เราพบว่า กระซู่พวกนี้มีโอกาสสูญพันธุ์ได้ภายในสิบปีข้างหน้านี้หากการบุกรุกป่ายังคงเกิดขึ้นต่อไปและยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย" เรย์มอนด์ อัลเฟรด ผู้จัดการโครงการยุทธศาสตร์แรดและช้างเอเชีย (Asian Rhino and Elephant Action Strategy (AREAS)) ของกองทุนสัตว์ป่าโลกกล่าว
กระซู่เป็นสัตว์ที่พบได้ในเกาะสุมาตรา และคาบสมุทรมลายู เป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ในระดับวิกฤต พบในประเทศไทยด้วย ปัจจุบันเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 

ที่มา

Powered by Wimut Wasalai