ชาวบ้านชนะ 'ศึกมาบตาพุด' ต้องให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ

ชาวบ้านชนะ 'ศึกมาบตาพุด' ต้องให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ

3 มี.ค. 2552

กรณีชาวบ้านมาบตาพุดจาก 11 ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ได้มอบอำนาจให้โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม  ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  ฐานละเลยต่อหน้าที่ไม่ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ  เพื่อควบคุม ลดและขจัดมลพิษ ซึ่งได้ยื่นต่อศาลปกครองระยอง ตั้งแต่เมื่อวันที่ ต.ค. 2550 นั้น
วันที่ มี.ค. นายสุทธิ อัชฌาศัย  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก  เผยภายหลังร่วมรับฟังคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง ร่วมกับชาวบ้านประมาณ 100 คนว่า ศาลปกครองระยอง ได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ ประกาศเขตพื้นที่เทศบาลมาบตาพุดทั้งเทศบาล เป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงได้แก่ ต.ทับมา   ต.เนินพระ   ต.มาบข่า อ.เมือง และอ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ และให้ดำเนินการประกาศเขตภายใน 60 วัน หลังจากมีคำสั่งศาลปกครอง ส่วนประเด็นความรับผิดชอบของบอร์ดชุดนี้กำลังหารือกับนักฎหมายว่าจะสามารถฟ้องร้องทางอาญา และทางแพ่งด้วยหรือไม่  อย่างไรก็ตาม  แต่การที่ชาวบ้านชนะคดีครั้งนี้ ถือเป็นแค่ก้าวแรกของความสำเร็จ และต่อไปเครือข่ายภาคประชาชนจะเดินหน้าเรื่องการปฎิบัติตามแผนลดและขจัดมลพิษ และจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมทบทวนแผนขยายปิโตรเคมีเฟส และกิจกรรมการพัฒนาในพื้นที่ว่าทำให้เกิดมลพิษเพิ่มหรือไม่   
นายสุทธิกล่าวอีกว่า  ขณะนี้ในเขตมาบตาพุด มีการปรับพื้นที่ถมทะเล เพื่อเตรียมขยายปิโตรเคมีเฟส ซึ่งหากหน่วยงานอนุญาต  โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อนุ มัติโครงการโดยไม่เข้าเกณฑ์เงื่อน ม.67 ชาวบ้านก็จะไปฟ้องหน่วยงานที่อนุญาตต่อไป

ภาพจาก www.greenpeace.org


“การยื่นฟ้องของชาวบ้านครั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลมีโครงการขยายปิโตรเคมี ระยะที่  แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบมาบตาพุด ประสบปัญหาความเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งและระบบทางเดินหายใจมานานกว่า  20 ปีจากการมีนิคมอุตสากรรมมาบตาพุด  โดยมีผลการยืนยันจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติว่า คนระยองเป็นมะเร็งมากขึ้น รวมทั้งหลักฐานจาก ดร.เรณู เวชรัตน์พิมล เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม และ ดร.เดชรัตน์  สุขกำเนิด เป็นต้น  ซึ่งชัดเจนแต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กลับชะลอการประกาศเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59 พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535” นายสุทธิ ระบุ
ด้านนายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางกองนิติการ คพ. ได้ส่งรายละเอียดคำพิพากษาของศาลปกครอง ให้กับนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดี คพ. แล้ว  เพื่อเตรียมนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานบอร์ดชุดใหม่ในเร็วๆนี้  เนื่องจากตามระยะเวลาที่ศาลมีคำสั่ง 60 วันเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม  ในช่วง ปี ที่ผ่านมาคพ.ได้แก้ไขปัญหามลพิษพื้นที่มาบตาพุดมาอย่างต่อเนื่อง และถือว่าความคืบหน้ามากทั้งในแง่ของฟื้นฟูคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศโดยได้ออกมาตรฐานการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายในบรรยากาศ ประเภทอาทิ เบนซีน บิวทาดีน เป็นต้น และมาตรฐานค่าเฝ้าระวัง  24 ชั่วโมงเพิ่มอีก 19 รายการ อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ส่วนการศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ต่อการรองรับของมลพิษยังไม่แล้วเสร็จ
ขณะที่แหล่งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ตามกระบวนการการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ต้องนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการควบคุมมลพิษก่อน จากนั้นจึงจะเสนอบอร์ดสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดิมนายอภิสิทธิ์ ประธานบอร์ดสิ่งแวดล้อมชุดใหม่ จะนัดประชุมเมื่อวันที่  มี.ค. ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากทาง สผ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการบอร์ดเห็นว่าควรให้กรรมการได้อ่านวาระที่จะเสนอเข้าพิจารณา สัปดาห์ล่วงหน้า ดังนั้น คาดว่าภายในกลางเดือน มี.ค. นี้ อาจจะมีการประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อมชุดใหม่เป็นครั้งแรก พร้อมกับนำวาระการประกาศเขตควบคุมมลพิษที่มาบตาพุด และบ้านฉาง จ.ระยอง เข้าพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนด้วย  
ส่วนนายเกษมสันต์ จิณณวาโส   อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช   อดีตเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  กล่าวว่า  การที่บอร์ดสิ่งแวดล้อมชุดเก่าได้ ชะลอการประกาศเขตควบคุมมลพิษที่มาบตาพุด  เนื่องจากต้องการให้ใช้มาตรการบรรเทาและลดมลพิษ  80:20 ก่อน โดยเชื่อว่าหากดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้อย่างสมบูรณ์จะช่วยให้มลพิษทางอากาศลดลงไปได้  อีกทั้งผลการศึกษาในตอนนี้ยังคงพบว่าอัตราการปล่อยมลพิษในพื้นที่ยังไม่เกินด้วย 
นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำวิจัยเรื่องสถานการณ์ปัญหามลพิษและผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน แนวทางการดำเนินงานของรัฐ และข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา กรณีพื้นที่อุตสาหกรรม อำเภอเมืองและอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้สัมภาษณ์ว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษนั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่จะประกาศให้ท้องถิ่นใดที่ประสบปัญหามลพิษ ที่มีแนวโน้มร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
“ถือเป็นมิติใหม่ของประชาชนที่ศาลพิพากษาออกมาเช่นนี้ แม้ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะสามารถอุทธรณ์ได้ แต่คิดว่าไม่น่าอุทธรณ์ เพราะกรณีนี้ประชาชนไม่ได้ฟ้องเรียกเงินหรือค่าเสียหาย แต่เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้รัฐบาลใช้กฏหมายที่มีอยู่แล้ว การประกาศเขตควบคุมมลพิษจะช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีกลไกในการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยกันควบคุมและลดมลพิษภายในพื้นที่ และมีขั้นตอนการดำเนินงานที่เป็นระบบมากขึ้น โดยมีการจัดทำแผนดำเนินการและมีเป้าหมายการดำเนินการร่วมกันอย่างชัดเจน
นายเดชรัตน์ กล่าวว่า เมื่อมีการประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว การแก้ปัญหามลภาวะจะเป็นไปอย่างมีระบบและมีเป้าหมายมากขึ้น ในขณะเดียวกันภาคส่วนต่างๆ จำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาที่เป็นผลกระทบทางสุขภาพ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยเช่นกัน โดยควรมีการจัดทำแผนปฏิบัติการในลักษณะเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ภาวะความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่บรรเทาลง  
นายเดชรัตน์ กล่าวต่อว่าหากปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตควบคุมมลพิษ มีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตจำเป็นต้องแก้ไขทันที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็สามารถเสนอให้มีการ ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ ดังนี้ 1. กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน 2. ห้ามการกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3. กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ให้ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 4. กำหนดวิธีการจัดการรวมทั้งขอบเขต หน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน 5. กำหนดมาตรการอื่น ๆ ที่เห็นสมควรและเหมาะสมกับสภาพของพื้นที่ โดยการใช้มาตรฐานดังกล่าวต้องเสนอขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ ความเห็นชอบ และเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
เมื่อถามว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษจะทำให้ศักยภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ชะลอลงหรือไม่ นายเดชรัตน์ กล่าวว่า เคยสำรวจจังหวัดที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษในประเทศไทย ไม่พบว่ามีจังหวัดใดเลยที่การพัฒนาอุตสาหกรรมหยุดหรือชะงักไปในทางตรงกันข้ามจะเป็นการดีด้วยซ้ำที่จะได้มีการส่งเสริมเทคโนโลยีสะอาด รัฐบาลไม่ควรกังวลเรื่องนี้ เพราะในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดี ก็ชูเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีสะอาดเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน 

คำสั่งศาล

   ชาวบ้านกว่า 100 คนดีใจ หลังศาลปกครองระยองพิพากษาให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
ศาลปกครองระยอง- นางสายสุดา เศรษฐบุตร อธิบดีศาลปกครองระยอง เจ้าของสำนวน นายประสิทธิศักดิ์ มีลาภ  รองอธิบดีศาลปกครองระยอง และ นายสรศักดิ์ มไหศิริโยดม ตุลาการศาลปกครองระยอง ได้อ่านคำพิพากษาคดีนายเจริญ เดชคุ้ม พร้อมพวก รวม 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 
โดยอ้างว่าการดำเนินการของนิคมอุตสาหกรรมในเขตเทศบาลมาบตาพุด ได้ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดอย่างรุนแรง ทั้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษจากกากของเสียอันตราย ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก  แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลย มิได้ประกาศกำหนดให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุดและเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมร้ายแรงฯ เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บัญญัติไว้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปรากฏตามร่ายงานของกรมควบคุมมลพิษ เอกสารแนบท้ายการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 11/2548 ว่าปัญหามลพิษทางอากาศพบสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิด  เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด ใน 20 ชนิดพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งที่มีค่าเกินระดับเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศจำนวน 19 ชนิด  
สรุปว่าหากแหล่งกำเนิดทุกแหล่งในพื้นที่มาบตาพุดระบายมวลสารทางอากาศออกในอัตราสูงสุด ตามค่าที่ได้รับอนุญาต จะมีผลทำให้ค่าความเข้มข้นของมวลสารในบางค่าสูงกว่ามาตรฐาน
ในปีพ.ศ.2540-2544 สถาบันมะเร็งแห่งชาตินำเสนอข้อมูลจากโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งทุกชนิดในประเทศไทยของ จ.ระยอง สถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิด และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของ อ.เมืองระยอง สูงกว่าอำเภออื่นเป็น เท่าและ เท่า คุณภาพน้ำคลองสาธารณะ ปี พ.ศ.2550 คลองสาธารณะส่วนใหญ่ในพื้นที่มาบตาพุดอยู่ในระดับเสื่อมโทรมพบสารปนเปื้อนโลหะหนักสูงเกินค่ามาตรฐาน
ศาลรับฟังได้ว่าเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหามลพิษ มีแนวโน้มที่ร้ายแรงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงสมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ตำบลบางส่วนอยู่ในพื้นที่ ต.เนินพระ ตำบลมาบข่า และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย
นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมเอเชียตั้งอยู่ในอำเภอบ้านฉาง พบว่าคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งหาดพยูนมีแบคทีเรียและเหล็กมีค่าเกินมาตรฐาน ศาลจึงมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า  ตำบลทับมา อำเภอเมืองระยองทั้งตำบล ตลอดจนท้องที่ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางทั้งตำบล เป็นเขตควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วสร็จภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา  

ที่มา

  • ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Powered by Wimut Wasalai