ปูปากกาทะเลชนิดใหม่ที่พัทยา

ปูปากกาทะเลชนิดใหม่ที่พัทยา

9 เม.ย. 2552

เมื่อวันที่ 20-22 มีนาคม 2552 ทีมงานวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการสำรวจทะเลพัทยาในเขตแนวปะการังเกาะล้าน เกาะครก และเกาะสาก โดยค้นพบปูปากกาทะเลที่อาจเป็นชนิดใหม่ของโลก
ปูปากกาทะเล หรือชื่อสามัญคือ Porcellanid Crab มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudoporcellanella sp. เป็นปูขนาดเล็ก อาศัยอยู่ร่วมกับปากกาทะเล สัตว์ทะเลกลุ่มหนึ่งที่ฝังตัวอยู่บนพื้นทรายในทะเล ในเมืองไทยมีรายงานพบ ชนิด ปัจจุบันปากกาทะเลมีจำนวนลดน้อยลง เพราะเกิดปัญหาจากอวนรุนอวนลาก อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมงานสำรวจพื้นที่นอกแนวปะการัง บริเวณหัวแหลมทางทิศเหนือของเกาะสาก เมืองพัทยา ที่ระดับความลึก 14-16 เมตร พื้นท้องทะเลเป็นทรายปนหินก้อนเล็กๆ มีตะกอนมาก ได้ค้นพบสัตว์เกาะติดในกลุ่ม ปะการังอ่อน กัลปังหา ขนาดเล็ก แส้ทะเล ปะการังดำ และปากกาทะเลกระจายอยู่ทั่วบริเวณ 
ปูปากกาทะเลที่พบนี้มีลักษณะแปลก อาศัยอยู่เป็นคู่ เพศผู้และเพศเมีย กระดองกว้าง 0.8 เซนติเมตร ยาว 1.2 เซนติเมตร และกว้าง 1.0 เซนติเมตร ยาว 1.5 เซนติเมตรตามลำดับ จัดอยู่ในกลุ่มปูไม่แท้จริง (Infraorder Anomura) ครอบครัวเดียวกับปูดอกไม้ทะเล (วงศ์ Porcellanidae) พบเกาะอาศัยอยู่เป็นคู่บนตัวของปากกาทะเล 
จากการสืบค้นของ ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงพันธ์ และทีมงานผู้เชี่ยวชาญเรื่องปู พบว่าปูชนิดนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับปู Pseudoporcellanella manolinesis ที่เคยค้นพบใน ค.ศ. 1961 อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแล้ว อาจเป็นได้ว่าปูที่ค้นพบเป็นปูต่างชนิดกัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป ข้อมูลที่ยืนยันได้ ณ ขณะนี้ คือการปรึกษากับ ดร.มะซะยุกิ โอะซะวะ ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาปูในกลุ่มนี้ (Porcellanidae) ระบุว่า เป็นปูที่หายาก และมีตัวอย่างในการค้นพบน้อยมาก แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นศูนย์รวมของตัวอย่างการศึกษาปูจากทั่วโลก ยังมีตัวอย่างปูกลุ่มนี้เพียง ตัว  
นอกจากการค้นพบปูปากกาทะเลชนิดนี้แล้ว ในบริเวณใกล้เคียง ยังพบปูปากกาทะเลชนิด Porcellnella picta ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ทั่วไปในอ่าวไทย มีขนาดเล็กกว่ามาก อาศัยร่วมอยู่ด้วย 
ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง ให้ความเห็นว่า ในพื้นที่ทะเลพัทยามีการค้นพบสัตว์แปลกอยู่เสมอ หลายชนิดเป็นรายงานแรกของประเทศไทย การค้นพบปูชนิดนี้ช่วยยืนยันความสำคัญของพื้นที่ และจะดำเนินการประสานงานกับเมืองพัทยาและผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพื่อจัดทำโครงการสำรวจทะเลบริเวณนี้โดยละเอียด ข้อมูลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์พื้นที่และสัตว์หายาก และการส่งเสริมให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งดำน้ำท่องเที่ยวที่สำคัญ เพราะปัจจุบันนักดำน้ำจำนวนมากให้ความสนใจสัตว์แปลกใต้ทะเล และทะเลบริเวณนี้ก็มีการดำน้ำกันมากอยู่แล้ว

ที่มา

  • ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Powered by Wimut Wasalai