กฎหมายชัดเจน รีสอร์ทเลี้ยงกระทิงมะลิ ผิดอาญาถึงติดคุก

กฎหมายชัดเจน รีสอร์ทเลี้ยงกระทิงมะลิ ผิดอาญาถึงติดคุก

13 ม.ค. 2554

สืบเนื่องจากกรณีที่รายการ “แจ๋ว” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง เมื่อเช้าวันที่ 13 มกราคม ทั้งนี้รายการดังกล่าวได้ไปเยี่ยมชมรีสอร์ทแห่งหนึ่งบริเวณใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา พร้อมกับแนะนำว่ารีสอร์ทดังกล่าวสามารถเลี้ยงกระทิงแม่-ลูก ซึ่งเป็นสัตว์ป่าได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมและถ่ายภาพได้ 

อย่างไรก็ตามหลัง จากรายการดังกล่าวได้ออกอากาศไปแล้ว ได้มีประชาชนจำนวนมากโทรศัพท์ไปสอบถามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ(ทส.) ว่ารีสอร์ทซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนของเอกชนสามารถเลี้ยงกระทิงซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่รายหนึ่งระบุว่า กระทิงคู่ดังกล่าวเป็นกระทิงสองแม่ลูก โดยตัวแม่ชื่อมะลิ ส่วนตัวลูกชื่อทองแดง เดิมกระทิงตัวแม่เป็นลูกกระทิงป่าที่ได้รับบาดเจ็บ และพลัดหลงออกมาจากฝูงที่หากินอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ ซึ่งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ช่วยกันเลี้ยงจนโตที่บริเวณที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ผากระดาษตั้งแต่ ปี 2549 โดย เลี้ยงแบบปล่อยให้อยู่กับธรรมชาติและหวังว่ามะลิจะพบฝูงและกลับเข้าป่าไปเอง จนกระทั่งเมื่อกลางปี 2553 กระทิง มะลิได้ตกลูกออกมาเป็นกระทิงเพศผู้ สร้างความประหลาดใจให้แก่ทุกคนเป็นอย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าไปติดลูกมาจากไหน หลวงพ่อคูณ หรือพระเทพวิทยาคม เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ได้ตั้งชื่อลูกกระทิงว่าทองแดง และกระทิง แม่ลูกก็หากินอยู่บริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ ผากระดาษนี้ จนกระทั่งเมื่อประมาณปลายเดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา กระทิง แม่ลูกได้หายไปจากอุทยานฯเขาใหญ่ และพบว่ากระทิงทั้ง ตัว ไปอาศัยอยู่ในบริเวณรีสอร์ททอสคานา วัลเลย์ คันทรี คลับ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับอุทยานฯ เขาใหญ่ ซึ่งรีสอร์ทดังกล่าวใช้อาหารโดยเฉพาะกล้วยซึ่งเป็นของโปรดของกระทิงล่อให้กระทิงเข้าไปอยู่ในบริเวณรีสอร์ทดังกล่าว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ เขาใหญ่กำลังเจรจากับเจ้าของรีสอร์ทเพื่อให้กระทิงออกมาจากรีสอร์ท เพราะทราบว่าขณะนี้เกิดปัญหากระทิงเริ่มทำร้ายนักท่องเที่ยวที่ไปรุมดูมัน รวมทั้งคุ้ยหาอาหารจากถังขยะและกินเข้าไปซึ่งมีทั้งถุงพลาสติกและวัสดุที่เป็นอันตราย อาจทำให้มันถึงแก่ชีวิตได้


นาย ชัชวาลย์ พิศดำขำ ผู้สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ซึ่งกระทิงแม่ลูกดังกล่าวติดคนมาก ตนทราบเรื่องแล้ว จึงได้มอบให้นายมาโนช การพนักงาน หัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่ ไปติดตามตัวกระทิงคืนมา และให้แจ้งแก่รีสอร์ทดังกล่าวว่ากระทิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ใครก็ตามไม่สามารถครอบครองกระทิงซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองได้เพราะเป็นสมบัติของชาติ หากครอบครองจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามกรณีที่ระบุว่ามีการเอาอาหารไปล่อกระทิงนั้นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและดูตามเจตนา ถ้าเจตนาชัดเจนก็ถือว่ามีความผิด เพราะขอยืนยันว่ากระทิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่สามารถครอบครองได้
นาย อำนวย อินทรักษ์ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ กรมอุทยานฯ อดีตหัวหน้าศูนย์ฝึกอบรมอุทยานฯ เขาใหญ่ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวน่าห่วงใย เพราะกระทิงเป็นสัตว์ป่าที่สำคัญ โดยเฉพาะกระทิงมะลิและทองแดงเป็นสายพันธุ์ป่าแท้ๆ แต่เติบโตในสภาพแวดล้อมแบบวัวบ้าน น่าจะมีการศึกษาพฤติกรรมว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร และเหตุใดคนโบราณจึงไม่นิยมนำกระทิงป่ามาเลี้ยงทั้งๆ ที่ตัวใหญ่วัวและควายบ้าน ซึ่งตนอยากให้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญควรได้รับการเอาใจใส่ดูแล และไม่ควรปล่อยให้เปล่าประโยชน์


นายโชคดี ปรโลกานนท์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์กระทิงเขาแพงม้า กล่าวว่า รีสอร์ทดังกล่าวทำไม่ถูกต้องแน่นอน ที่เอาสัตว์ป่าคุ้มครองไปเป็นจุดขาย ถือว่าเป็นการฉกฉวยโอกาสที่สมควรประณาม เพราะถ้าดูที่มาที่ไปของกระทิงแม่มะลิ ก็เป็นที่รับรู้ในกลุ่มเจ้าหน้าที่และนักอนุรักษ์ว่าเป็นสัตว์ป่าอาศัยอยู่บนเขาใหญ่ และถึงแม้จะมีการอ้างว่ากระทิง แม่ลูกจะหมดสภาพความเป็นสัตว์ป่าไปแล้วก็ไม่ได้ รีสอร์ทดังกล่าวต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าที่กล่าวอ้างต่อประชาชนว่าเป็นแห่งแรกที่สามารถเลี้ยงกระทิงได้ของประเทศไทย กระทิงดังกล่าวเอามาจากไหน อย่างไรก็ตามกระทิง แม่ลูกก็เดินไปเดินมาระหว่างผากระดาษกับรีสอร์ทดังกล่าว สัตว์ป่าไม่รู้อยู่แล้วว่าพื้นที่ใดเป็นอุทยานฯ หรือเอกชน แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องคุณธรรมของผู้ประกอบการว่าจะเอาสัตว์ป่ามาขายหรือชุบมือเปิบหรือไม่
        

นาย สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า กระทิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เอกชนไม่มีสิทธิ์เอาไปเลี้ยงดู กรณีที่เกิดขึ้นแม้เอกชนอาจจะอ้างว่าไม่ได้เลี้ยงและมันมาอยู่เอง แต่ลักษณะที่มีการให้อาหารทุกมื้อก็ถือว่าผิดแล้ว เพราะว่ากฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าห้ามให้อาหารสัตว์ป่าทุกชนิด กรณีดังกล่าวหัวหน้าอุทยานฯ เขาใหญ่จะต้องรีบเข้าไปจัดการให้ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ระบุว่าผู้ใดครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งสัตว์ป่าสงวนสัตว์ป่าคุ้มครองและซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามมิให้ผู้ใดทำการล่ามีไว้ในครอบครอง ค้าขายและนำเข้าหรือส่งออก หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา

  • ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Powered by Wimut Wasalai