กรมอุทยานเตรียมสำรวจดีเอ็นเอจากขี้ช้าง

กรมอุทยานเตรียมสำรวจดีเอ็นเอจากขี้ช้าง

14 ก.พ. 2555

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้าง มาทำความเข้าใจแนวทางการศึกษาดีเอ็นเอช้างบ้านและช้างป่า โดยเร็ว ๆ นี้กรมอุทยานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลจะตรวจดีเอ็นเอช้างจากขี้ช้าง เพื่อจะตรวจสอบว่าช้างตัวดังกล่าวเป็นช้างบ้านหรือช้างป่า

นส.ชมชื่น ศิริพันธุ์แก้ว อาจารย์หลักสูตรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ในทางวิทยาศาสตร์การเก็บศึกษาข้อมูลดีเอ็นเอของช้างโดยใช้ขี้ช้างนั้น สามารถทำได้ แต่ในแง่ความชัดเจนแล้ว เมื่อเทียบกับการเก็บดีเอ็นเอจากเลือดแล้ว ดีเอ็นเอจากเลือดจะมีความชัดเจนแม่นยำมากกว่า นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายการตรวจดีเอ็นดีช้างจากขี้ช้างในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ก็ค่อนข้างสูงคือ ตัวอย่างละประมาณ 5,000 บาท เมื่อเทียบกับตัวอย่างที่ใช้เลือด ซึ่งใช้ตัวอย่างละ 3,000 บาทเท่านั้น
“การเก็บขี้ช้างเพื่อมาตรวจดีเอ็นเอ ถ้าเราตั้งโจทย์ว่า เพื่อศึกษาจำนวนประชากรช้างก็สามารถทำได้ แต่ถ้าทำเพื่อต้องการตรวจสอบว่าเป็นช้างป่าหรือช้างบ้านก็อยากให้ทบทวนวิธีการด้วย  เวลานี้เรามีช้างในป่าอยู่ประมาณ 4,000 ตัวในอุทยานแห่งชาติ 33 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 28 แห่ง รวมพื้นที่หากินของช้างทั้งหมด 56,270 ตารางกิโลเมตร จะต้องใช้ขี้ช้างมากถึง 8,100 ตัวอย่าง ถึงจะตรวจดีเอ็นเอได้อย่างครอบคลุม”นส.ชมชื่นกล่าว
นส.กรรณิการ์ อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า ขี้ช้างที่จะนำมาสกัดดีเอ็นเอจะต้องเป็นขี้ช้างสดอายุไม่เกิน 24 ชั่วโมง และค่อนข้างเก็บยาก เพราะต้องใช้ส่วนที่อยู่ขอบๆเนื่องจากติดกับผนังลำไส้มากที่สุด มีโอกาสจะได้ดีเอ็นเอมากที่สุด ปัญหาคือ เวลานี้หน่วยงานมีบุคลากรแค่ 4 คน คือน้อยมาก

ที่มา

  • ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Powered by Wimut Wasalai