ห้วยขาแข้งอุดมสมบูรณ์สุดขีด เสือล้นไปป่าข้างเคียง

ห้วยขาแข้งอุดมสมบูรณ์สุดขีด เสือล้นไปป่าข้างเคียง

27 ธ.ค. 2555

ห้องข่าวกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ห้วยขาแข้งอุดมสมบูรณ์สุดขีด เสือล้นป่าคาดมีมากถึง 90 ตัว ต้องไปอาศัยป่าข้างๆ ผู้เชี่ยวชาญเสือเป็นปลื้มปี 55 พบเสือโคร่งป่าแม่วงก์ 10 ตัว ป่าคลองลาน ตัว ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยเจอมาก่อน คาดออกจากห้วยขาแข้งมาหาบ้านใหม่
วันที่ 26 ธันวาคม นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 จ.นครสวรรค์ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ได้จับเสือโคร่งตัวเต็มวัย เพศเมียได้ ตัว เป็นเสือที่ค่อนข้างสวยงามและสมบูรณ์ นำมาชั่งน้ำหนักได้ประมาณ 115 กิโลกรัม ยาว เมตร สุขภาพสมบูรณ์ดี เจ้าหน้าที่ติดวิทยุตามตัวเสร็จเรียบร้อยก็ปล่อยเข้าป่าไป ติดตามจากสัญญาณวิทยุเบื้องต้น พบว่า เดินหากินอยู่ในป่าห้วยขาแข้งเป็นปกติดี

นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์เสือโคร่งในป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา ถือว่า ค่อนข้างดีมาก ภายใต้พื้นที่ประมาณ 1.7 ล้านไร่ ของผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศ พบเสือโคร่งที่เป็นตัวเต็มวัยประมาณ 70 ตัว ในจำนวนนี้เป็นเสือแม่ลูกอ่อนอีก 5-6 ตัว เสือแม่ลูกอ่อนแต่ละตัวมีลูกประมาณ 2-4 ตัว ดังนั้นคาดว่า ป่าห้วยขาแข้งน่าจะมีเสือโคร่งอยู่ราว 85-90 ตัว เป็นอย่างน้อย โดยเฉลี่ยแล้ว พบว่า ภายในพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตรนั้น จะมีเสือโคร่งหากินอยู่ประมาณ 2.4 ตัว
“ในความจริง ก่อนหน้านี้ เราคาดว่าน่าจะมีมากกว่านี้ แต่เนื่องจากเสือแต่ละตัว จะมีอาณาเขตในการหากินค่อนข้างกว้าง คือ ตัวผู้จะใช้พื้นที่ประมาณ 200-300 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียประมาณ 60-80 ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมที่สุด ไม่แคบ และไม่หลวมจนเกินไป แต่จากการสำรวจพื้นที่ป่าโดยรอบห้วยขาแข้ง คือ ที่บริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน พบว่า ทั้ง พื้นที่ เราไม่เคยสำรวจพบเสือเลย ตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ปีนี้เราถ่ายรูปเสือโคร่งตัวเต็มวัยได้มากถึง 10 ตัว ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และที่อุทยานแห่งชาติคลองลานได้อีก 3-4 ตัว เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่พบเสือในอุทยานแห่งชาติที่อยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ไม่เคยเจอมาก่อนนั้น เป็นเพราะเสือที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งเริ่มล้นพื้นที่หากิน เพราะธรรมชาติของเสือโคร่งแล้วจะไม่หากินทับพื้นที่ซึ่งกันและกัน หากทับพื้นที่กัน ตัวใดตัวหนึ่ง จะหลีกออกไปหาพื้นที่ของตัวเอง โดยพื้นที่ใหม่ที่เข้าไปอยู่นั้น ต้องเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ และมีเหยื่อให้กินอย่างเพียงพอ แสดงว่า ทั้งคลองลานและป่าแม่วงก์นั้นอุดมสมบูรณ์พอที่จะทำให้เสือขนาดใหญ่อย่างเสือโคร่งอยู่ได้
“ในบรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดนั้น ประเทศไทย ถือว่าเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เรื่องเสือมากที่สุด คือ อุดมสมบูรณ์ทั้งในแง่ของที่อยู่อาศัย และเหยื่อ ซึ่งทำให้เสือสามารถมีชีวิตได้อย่างมีความสุข ความจริงแล้ว เสือโคร่งจะอยู่ในพื้นที่ป่าที่เป็นป่าแบบทุ่งราบ มีแหล่งน้ำ ซึ่งป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นป่าอนุรักษ์ที่เป็นภูเขาและเป็นเนินเขา ต่างกับที่อินเดียและรัสเซีย ที่พื้นที่ป่าอนุรักษ์จะเป็นที่ราบและมีแหล่งน้ำเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เสือมีการกระจายพันธุ์มากกว่าในประเทศไทย” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อเพิ่มปริมาณเสือในป่าอนุรักษ์ให้มากขึ้นกว่านี้ นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า เสือจะอยู่ไม่ได้หากไม่มีเหยื่อ และไม่มีพื้นที่หากิน ซึ่งวันนี้ ถือเป็นโชคดีของเสือในป่าอนุรักษ์ในประเทศไทย ที่ค่อนข้างจะอยู่ดีและอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่สามารถวางใจได้เต็มร้อย เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจของเสือนั้นสูงมาก มีคนอยากได้ไปครอบครองมาก มีความพยายามที่จะล่าเสือในป่าตลอดเวลา ก่อนหน้านี้ก็เห็นบ้างในป่าห้วยขาแข้ง ที่พรานป่าพยายามจะเข้าไปล่า วางยาเบื่อ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนแบบเข้มข้นขึ้น ก็พบน้อยลง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถวางใจได้

Powered by Wimut Wasalai