กวางป่า, กวางม้า
Sambar
Rusa unicolor
กวางป่า (Rusa unicolor) (ภาพโดย แสงชัย เตชะสถาพร)
กวางป่าเป็นกวางขนาดใหญ่
กวางตัวผู้ใหญ่ที่สุดอาจหนักได้ถึง 546 กิโลกรัม แต่ส่วนใหญ่หนัก 162-260 กิโลกรัม ความสูงที่หัวไหล่ 102-160 เซนติเมตร ขนตามลำตัวหยาบ มีสีน้ำตาลอ่อน บริเวณใต้ท้องและขาสีซีด เมื่อตกใจจะกระดกหางขึ้นลง ตัวผู้มักใหญ่กว่าตัวเมียและมีขนบริเวณคอหนากว่า กวางป่าตัวผู้เท่านั้นที่มีเขา เขาแต่ละข้างมี 3 หรือ 4 กิ่ง ผิวของเขาจะขรุขระคล้ายผลมะระแต่ละเอียดกว่า ผลัดเขาทุกปี เขากวางอาจยาวได้ถึง 1 เมตร บริเวณใต้ลำคอจะมีแผลเหมือนโรคผิวหนังเป็นดวง เรียกว่า "เรื้อนกวาง"
กวางป่าตัวเมีย
กวางป่าพันธุ์อินเดียซึ่งอยู่ในอินเดียและศรีลังกามีขนาดใหญ่ที่สุด รองลงมาคือพันธุ์จีนใต้ กวางป่าพันธุ์สุมาตราและบอร์เนียว มีสัดส่วนของเขาเทียบกับร่างกายเล็กที่สุด กวางป่าพันธุ์ฟอร์โมซันเป็นพันธุ์ที่มีร่างกายเล็กที่สุด มีสัดส่วนของเขาเทียบกับร่างกายใกล้เคียงกับกวางป่าพันธุ์จีนใต้
กวางป่ามี 13 ชนิดย่อย ดังนี้
ชนิดย่อย | เขตกระจายพันธุ์ |
---|
C. u. apoensis | | เกาะมินดาเนา ฟิลิปินส์ |
C. u. barandanus | | เกาะมินโดโร ฟิลิปินส์ |
C. u. basilanensis | บาซิลัน | เกาะบาซิลัน ฟิลิปินส์ |
C. u. boninensis | โบนิน | หมู่เกาะโบนิน (สูญพันธุ์) |
C. u. deejeani | จีนใต้ | จีนตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ |
C. u. equinus | มลายู | เกาะสุมาตรา, ไทย คาบสุมทรมลายู พม่า |
C. u. francianus | | มินโดโร ฟิลิปินส์ |
C. u. hainana | ไหหลำ | เกาะไหหลำ |
C. u. nigellus | | เกาะมินดาเนา ฟิลิปินส์ |
C. u. niger | อินเดีย | อินเดีย |
C. u. philippinus | ฟิลิปินส์ | ฟิลิปินส์ |
C. u. swimhoi | ฟอร์โมซัน | ไต้หวัน |
C. u. unicolor | ศรีลังกา | ศรีลังกา |
กวางป่ามีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในในอินเดีย ปากีสถาน พม่า ไทย ศรีลังกา ฟิลิปินส์ จีนตอนใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย บอร์เนียว สุมาตรา และชวา นอกจากนี้ยังมีประชากรบางส่วนที่เป็นสัตว์นำเข้าในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และเทกซัส ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ลาดเอียงเล็กน้อย หรือตามพื้นที่เชิงเขาที่เป็นหลั่นไม่ชันนัก พบในป่าหลายประเภทหลายระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงภูเขาสูง ป่าบึง ป่าไม้แคระ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ มักพบว่ากวางป่าชอบป่าไม่ไกลจากแหล่งการเกษตรของมนุษย์ ในบางพื้นที่อาจมีการย้ายถิ่นตามฤดูกาล เช่นย้ายลงมาในที่ต่ำกว่าในฤดูร้อนซึ่งมีร่มไม้มากกว่าในฤดูหนาว
กวางป่าหากินตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ กินใบไม้ ผลไม้ หญ้า หัวพืช ยอดอ่อน ตอนกลางวันจะพักผ่อนอยู่ในป่าทึบ ว่ายน้ำเก่งและชอบแช่ปลัก ตัวผู้ทำสัญลักษณ์บอกอาณาเขตด้วยกลิ่นที่ผลิตจากต่อมกลิ่น
ฤดูผสมพันธุ์ของกวางป่าไม่แน่นอน แต่มักเกิดขึ้นราวเดือนกันยายนจนถึงเดือนมกราคม ในฤดูผสมพันธุ์ กวางตัวผู้จะก้าวร้าวต่อตัวผู้ด้วยกันมากและหวงถิ่น ตัวเมียจะจับกลุ่มกันเป็นฝูงที่อาจมีสมาชิกมากถึง 8 ตัว ตัวผู้จะผสมพันธุ์กับตัวเมียได้หลายตัวในแต่ละฤดู ตัวเมียตั้งท้องนาน 9 เดือน ออกลูกครั้งละตัว ลูกกวางแรกเกิดหนัก 10 กิโลกรัมและตื่นตัวมาก มีขนสีน้ำตาล มีจุดขาวทั่วตัว จุดขาวนี้จะจางลงจนหายไปหลังจากแรกเกิดไม่นาน กวางหนุ่มจะเริ่มมีเขาในปีแรกหรือปีที่สอง เขาในสองปีแรกจะมีขนาดเล็ก ต้องรอให้ถึงปีที่ 3 หรือ 4 จึงจะมีเขาที่สมบูรณ์ กวางสาวจะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ราว 2 ปี ลูกกวางจะอยู่กับแม่ราว 1-2 ปี กวางป่าในธรรมชาติมีอายุขัยราว 20 ปี ส่วนในแหล่งเพาะเลี้ยงอาจอยู่ได้กว่า 26 ปี
ปัจจุบันประชากรของกวางป่ายังมีอยู่มาก ในอินเดียคาดว่ามีอยู่ราว 50,000 ตัว ไอยูซีเอ็นประเมินว่าอยู่ในระดับ เสี่ยงสูญพันธุ์ (VU) ไซเตสยังไม่จัดประเภทการคุ้มครอง ในเมืองไทยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ทราบหรือไม่?
●ในฟิลิปินส์ มีกวางที่เป็นญาติใกล้ชิดกับกวางป่าอีกสองชนิด คือกวางฟิลิปินส์ (Cervus mariannus) และกวางจุดฟิลิปินส์ (Cervus alfredi) ทั้งสองชนิดมีขนาดเล็กกว่ากวางป่า
●ในเกาะชวาและบาหลีในประเทศอินโดนีเซีย มีกวางอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกวางป่า นั่นคือกวางรูซา (Cervus timorensis)
●"กวางเขาเทียน" หมายถึงกวางป่าที่ยังมีเขาไม่สมบูรณ์ เป็นแท่งตรงไม่มีกิ่งคล้ายลำเทียน
Rusa unicolor |
ชื่อไทย | กวางป่า, กวางม้า |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Rusa unicolor |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Artiodactyla |
วงศ์ | Cervidae |
วงศ์ย่อย | Cervinae |
สกุล | Rusa |
ข้อมูลอ้างอิง
- นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล, จารุจินต์ นภีตะภัฏ, สัตว์กีบ, องค์การค้าของคุรุสภา
- Sambar Deer จาก wikipedia
- Rusa unicolor จาก Animal Divisity Web
- สมโภชน์ ศรีโกสามาตร, ทรอย แฮนเซล. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อัมรินทร์พริ้นติ้ง จาก Animal Divisity Web
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 13 ต.ค. 64