พูมา

Puma, cougar, catamount, painter, Mexican lion, mountain lion, panther, florida panther, mountain devil, mountain screamer, Indian devil, king cat, sneak cat, red tiger, deer tiger

Puma concolor

เสือพูมามีชื่อเรียกหลากหลายมาก เช่น แคตาเมานต์ สิงโตภูเขา คูการ์ เป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จมากในฐานะของผู้ล่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากความสามารถในการปรับตัว จึงรอดพ้นการสูญพันธุ์ของสัตว์ตระกูลแมวครั้งใหญ่ที่เกิดช่วงท้ายของยุคไพลโตซีนในอเมริกาเหนือมาได้ 

ลักษณะทั่วไป

แม้จะดูตัวใหญ่อย่างเสือ แต่เชื่อว่าเสือพูมามีสายเลือดใกล้ชิดแมวมากกว่า ไม่มีกระดูกไฮออยด์ยืดหยุ่นและไม่มีสายเสียงขนาดใหญ่ดังที่มีในสัตว์ในสกุล Panthera แม้พูมาจะคำรามไม่ได้ แต่ก็เปล่งเสียงได้หลายแบบ และทั้งตัวผู้กับตัวเมียก็มีเสียงต่างกัน

เสือพูมา 


เสือพูมาตัวผู้หนักหนักเฉลี่ย 53-72 กิโลกรัม เคยพบตัวที่ใหญ่เป็นพิเศษ หนักถึง 120 กิโลกรัม ตัวเมียน้ำหนักเฉลี่ย 34-48 กิโลกรัม พูมาที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมักตัวเล็กกว่าตัวที่อยู่ใกล้ขั้วโลก มีอุ้งตีนใหญ่ ขาหลังยาว เทียบสัดส่วนต่อขาหน้าแล้ว พูมามีขาหลังยาวที่สุดในบรรดาเสือและแมวทั้งหมด  ไม่มีลวดลาย มีสีสันหลากหลายมาก ตั้งแต่สีเนื้ออ่อน น้ำตาลแดง จนถึงสีเทาอ่อน แม้แต่พี่น้องในครอกเดียวกันก็อาจมีสีต่างกัน ขนสั้นและหยาบ บริเวณแนวสันหลังสีเข้มกว่าบริเวณอื่นเล็กน้อย บริเวณหน้าอก หน้าท้อง และด้านในของขาทั้งสี่สีซีด ต้นขาหน้าอาจมีเส้นแนวนอนจาง ๆ มีวงรอบปากสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ พื้นที่รอบปากภายในวงรอบปากสีขาวหรือซีด หัวค่อนข้างเล็ก ม่านตามีสีหลายแบบตั้งแต่เหลืองอมเขียวจนถึงน้ำตาลอมเหลือง หูสั้นกลม หลังใบหูสีเทาหรือดำ ขาหน้าอุ้งตีนกว้าง หางยาวเรียว สีเข้มขึ้นไปตามความยาวหางจนถึงปลายหาง เสือพูมาที่พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้มีขนาดเล็กกว่าที่พบในอเมริกาเหนือ และพวกที่อยู่ทางเหนือและตามภูเขาสูงมักมีขนยาวกว่า

พูมาดำแบบเมลานิซึมพบได้บ่อย พูมาเผือกมีบ้างแต่ไม่บ่อยนัก ลูกพูมามีลายจุดทั้งตัวและตาสีฟ้า

ชนิดย่อยของเสือพูมา

นักวิทยาศาสตร์เคยแบ่งเสือพูมาออกเป็นชนิดย่อยไว้มากถึง 32 ชนิดย่อย ต่อมาในปลายทศวรรษ 1990 ได้มีการจัดแบ่งใหม่โดยใช้การวิเคราะห์ดีเอ็นเอไมโตรคอนเดรีย วิธีนี้แบ่งเสือพูมาออกเป็น ชนิดย่อย 

ชนิดย่อยชื่อวิทยาศาสตร์ชนิดย่อยเดิมที่ยุบรวมเข้าไว้
อเมริกาเหนือP. c. couguarP. c. arundivaga, P. c. aztecus, P. c. browni, P. c. californica, P. c. coryi, P. c. floridana, P. c. hippolestes, P. c. improcera, P. c. kaibabensis, P. c. mayensis, P. c. missoulensis, P. c. olympus, P. c. oregonensis, P. c. schorgeri, P. c. stanleyana, P. c. vancouverensis,  P. c. youngi
อเมริกาใต้ตอนเหนือP. c. concolorP. c. bangsi, P. c. incarum, P. c. osgoodi, P. c. soasoaranna, P. c. soderstromii, P. c. sucuacuara, P. c. wavula
คอสตาริกาP. c. capricornensisP. c. costaricensis
อเมริกาใต้ตอนใต้P. c. pumaP. c. araucanus, P. c. concolor, P. c. patagonica, P. c. pearsoni, P. c. puma
อาร์เจนตินาP. c. cabreraeP. c. hudsonii, P. c. puma
อเมริกาใต้ตะวันออกP. c. anthonyiP. c. acrocodia, P. c. borbensis, P. c. capricornensis, P. c. concolor


ชื่อเรียกเสือพูมาในภาษาต่าง 
ฝรั่งเศสpuma 
เยอรมันPuma, Silberlöwe 
สเปนléon, léon colorado, léon de montaña, león americano, león bayo, mitzli, onza bermeja
คอลอมเบียléon sabanero 
บราซิลonça vermelha, onça parda suçuarana 
เฟรชเกียนาtig rouge 
กัวรานีguasura, yaguá-pytá 
มายาcabcoh 
เมกซิโกleopardo
ซูรินาเมreditigri



ถิ่นที่อยู่อาศัยและเขตกระจายพันธุ์


เขตกระจายพันธุ์ของเสือพูมา 


เสือพูมามีเขตกระจายพันธุ์ครอบคลุมตามแนวละติจูดกว้างที่สุดในบรรดาสัตว์ตระกูลเสือและแมวทั้งหมด พบได้ตั้งแต่บริติชคอลอมเบียในแคนาดาจนถึงปลายล่างสุดของทวีปอเมริกาใต้ อาศัยได้ในพื้นที่หลายชนิด ตั้งแต่ป่าพืชเมล็ดเปลือย ป่าเบญจพรรณ  ป่าเขตร้อน  ป่าบึง ทุ่งหญ้า พื้นที่กึ่งทะเลทราย ทางระดับความสูงพบตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 5,800 เมตร 

ในอเมริกาเหนือ ความหนาแน่นของเสือพูมาอยู่ที่ประมาณ 0.5-4.9 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนในอเมริกาใต้มีความหนาแน่นสูงกว่า เช่นในพาทาโกเนีย มีความหนาแน่นเฉลี่ย ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่เป็นฟาร์มเปิดในแพนทานัลของบราซิลมีความหนาแน่นประมาณ 4.4 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนในพื้นที่ป่าเขตร้อนยังไม่เคยมีการประเมินความหนาแน่นประชากร

พื้นที่หากินของพูมาในอเมริกาเหนือเฉลี่ยกว้างตั้งแต่ 32-1,031 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียมักมีพื้นที่หากินน้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวผู้มีพื้นที่หากินกว้างหลายร้อยตารางกิโลเมตรและครอบคลุมพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว พื้นที่ของตัวเมียมักซ้อนเหลื่อมกันแต่พื้นที่ของตัวผู้ด้วยกันมักไม่ค่อยซ้อนเหลื่อมกันมากนัก อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งในเทือกเขาดิอาโบลในแคลิฟอร์เนียกลับเป็นไปในทางตรงข้าม นั่นคือพื้นที่ตัวผู้ซ้อนเหลื่อมกันส่วนพื้นที่ของตัวเมียไม่ซ้อนเหลื่อมกัน เสือพูมาที่มีพื้นที่หากินกว้างที่สุดจะเป็นพวกที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง พูมาที่อยู่ในเทือกเขาหิมะมักย้ายพื้นที่หากินลงที่ต่ำในช่วงฤดูร้อนตามการย้ายถิ่นของสัตว์กีบด้วย

อุปนิสัย

เสือพูมาทำเครื่องหมายบอกเขตแดนด้วยรอยข่วนและการพ่นเยี่ยวเป็นฝอย เดินทางเก่ง มักพบว่าเดินทางเป็นระยะทางถึง 16 กิโลเมตรภายในไม่กี่ชั่วโมง 

เสือพูมาเป็นนักกระโดดและปีนป่ายชั้นยอด แม้จะไม่ค่อยชอบน้ำแต่ก็ว่ายน้ำได้เก่ง สายตาและหูดีมาก แต่จมูกไม่ค่อยไวนัก ส่วนใหญ่หากินกลางคืนเพียงตัวเดียว มักหากินตอนเช้ามืดและตอนหัวค่ำ โดยตระเวนหาเหยื่อเป็นพื้นที่กว้าง การล่าใช้วิธีย่องเข้าหาและกระโจนลงบนหลัง หรือพุ่งเข้าใส่ในระยะประชิด สัตว์ที่เป็นอาหารของเสือพูมาได้แก่ มูส กวางวาปิตี กวางแคริบู บีเวอร์ เม่น กระรอกดิน มาร์มอต พากา อะกูตี กระต่ายป่า แรกคูน ไคโยตี โอพอสซัม หมูป่า กัวนาโก หนูชนิดต่าง ๆ รวมถึงค้างคาวและตั๊กแตน บางครั้งก็เข้ามาล่าสัตว์เลี้ยงอย่างแกะ วัว และม้าด้วย พูมาในอเมริกาเหนือมักล่าสัตว์กีบขนาดใหญ่มากกว่าสัตว์เล็ก ส่วนทางใต้ลงมา พูมามีแนวโน้มจะเลือกสัตว์เล็กมากกว่า

เมื่อเสือพูมากินเหยื่อขนาดใหญ่ไม่หมด จะคลุมเหยื่อด้วยกิ่งไม้ใบไม้หรือเศษสิ่งของต่าง ๆ ที่หาได้ และจะไม่ไปไหนไกลจากเหยื่อ เพื่อกลับมากินอีกครั้งในคราวหลัง บางครั้งอาจกินซากที่ล่าโดยสัตว์อื่นด้วย แต่กรณีเช่นนี้พบได้ยาก

ชีววิทยา

เสือพูมาสาวเป็นสัดหลายครั้งในรอบปี มีฤดูกาลผสมพันธุ์แต่มีขอบเขตเวลาไม่ชัดเจน เสือพูมาที่อยู่ทางอเมริกาเหนือมักออกลูกในปลายฤดูหนาวจนถึงฤดูใบไม้ผลิ ช่วงเวลายอมรับตัวผู้อาจนานได้ถึง วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวเท่านั้นที่ตัวผู้และตัวเมียจะอยู่ด้วยกัน คาบการเป็นสัด 23 วัน พูมาสาวมักออกลูกปีเว้นปี ตั้งท้องนานประมาณ 80-96 วัน ออกลูกครั้งละ 1-6 ตัว ส่วนใหญ่ 2-4 ตัว แม่เสือออกลูกในถ้ำ หลืบหิน โพรงไม้ ใต้กองไม้ล้ม หรือพุ่มไม้ทึบ ลูกเสือแรกเกิดหนัก 226-453 กรัม และมีลายจุดสีน้ำตาลเข้มทั่วตัว จุดนี้จะจางลงเมื่อเติบใหญ่ขึ้น ตาสีฟ้าค่อยเปลี่ยนเป็นสีไพลหรือสีน้ำตาลอมเหลืองแบบตัวเต็มวัยเมื่ออายุได้ 16 เดือน ตาลืมได้เมื่ออายุ 10 วัน และเริ่มเดินได้เมื่ออายุ 14 วัน เริ่มกินเนื้อได้เมื่ออายุได้ สัปดาห์ ลูกเสือจะอยู่กับแม่นาน 18-24 เดือน พูมาพี่น้องอาจหากินอยู่ด้วยกันต่อไปนานอีกหลายเดือนก่อนจะแยกย้ายกันไป พูมาสาวจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุสองปีครึ่ง ส่วนตัวผู้ต้องรอถึงสามปีขึ้นไป 

พูมาส่วนใหญ่มีอายุขัยราว 8-15 ปี เคยพบมากถึง 21 ปี

ภัยคุกคาม

แม้พูมาเป็นหนึ่งในสัตว์ผู้ล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่ก็ต้องถูกล่าอย่างหนักด้วยน้ำมือมนุษย์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองก็เคยมีโครงการควบคุมจำนวนสัตว์ผู้ล่า ทำให้พูมาหลายร้อยตัวถูกกำจัดโดยโครงการนี้ 

แม้จะมีเขตอนุรักษ์เพื่อคุ้มครองพูมา แต่ก็ยังประสบปัญหาจากการที่ต้องอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน มีจำนวนไม่น้อยต้องถูกรถชนตาย หรือการได้รับพิษจากเหยื่อ นอกจากนี้พูมามีภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาของเจ้าของฟาร์มเปิด เนื่องจากเป็นภัยต่อสัตว์เลี้ยง จึงมักถูกกำจัดอยู่เสมอ การที่พูมามักกลับมากินเหยื่อเดิมที่กินเหลือ จึงถูกวางยาเบื่อได้ง่าย และเมื่อถูกหมาไล่จะหนีขึ้นต้นไม้ ก็ทำให้ถูกกำจัดได้ง่ายเช่นกัน

ตลอดพื้นที่ตะวันตกของอเมริกาเหนือ อาณาเขตของพูมาอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนมาก จึงมีโอกาสที่จะเผชิญหน้าและทำร้ายคน แม้จะไม่บ่อยนัก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สถานภาพ

แม้จะถูกล่าอย่างหนัก แต่จำนวนพูมาก็ยังคงมีอยู่มาก มีเพียงพันธุ์ฟลอริดาเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง พันธุ์นี้เคยมีอยู่ทั่วไปในทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา แต่ได้ถูกกวาดล้างอย่างหนักในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันคาดว่าเหลือประชากรอยู่เพียงไม่ถึง 50 ตัวอยู่ในฟลอริดาตอนใต้ และหากไม่มีการเข้าแทรกแซงโดยมนุษย์ คาดว่าอาจไม่เหลือรอดต่อไปอีกภายใน 30 ปีข้างหน้า 

การสำรวจจำนวนประชากรพูมาในแคนาดาในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ประชากรส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของบริติชโคลัมเบีย คาดว่ายังมีประชากรอยู่ 3,500-5,000 ตัว ในอัลเบอร์ตาคาดว่ายังมีอยู่ 685 ตัว แต่ในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 93 ที่อาศัยอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนพื้นที่ที่พบบ้างไม่บ่อยนักเช่น ทางนอร์ทเวสต์เทอร์ริทอรี ซัสแกตชวาน แมนิโทบา ออนแทริโอ ควิเบก นิวบรันสวิก และโนวาสโกเทีย 

ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พูมายังคงพบได้ทั่วไปตลอดเขตกระจายพันธุ์ และได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายของทุกประเทศยกเว้นเพียงเอกวาดอร์และกายานา 

ไซเตสจัดเสือพูมา พันธุ์ (อิงการแบ่งชนิดย่อยแบบเก่า) อยู่ในบัญชีหมายเลข ได้แก่ P.c.coryiP.c.costaricensis และ P.c.cougar (2552)

ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพของพูมาว่ามีความเสี่ยงน้อย (2551)

ประเทศที่ห้ามล่า

อาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย ชิลี คอลอมเบีย คอสตาริกา เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิคารากัว ปานามา ปารากวัย ซูรินาเม เวเนซุเอลา อุรุกวัย

ประเทศที่ควบคุมการล่า

แคนาดา เมกซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา

ไม่มีการคุ้มครอง

เอกวาดอร์ เอลซาวาดอร์ กายานา 
Puma concolor
ชื่อไทยพูมา
ชื่อวิทยาศาสตร์Puma concolor
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลPuma

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://www.canuck.com/iseccan/cougar.html
  • http://en.wikipedia.org/wiki/Cougar
  • http://www.catsg.org/catsgportal/cat-website/20_cat-website/home/index_en.htm
  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/puma.htm

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 31 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 29 ก.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai