ชะมดแปลงลายจุด, อีเห็นลายเสือ
spotted linsang
Prionodon pardicolor
ชะมดแปลงลายจุด เป็นชะมดชนิดหนึ่ง รูปร่างผอมเพรียวคล้ายแมว ความยาวหัว-ลำตัว 38-41 เซนติเมตร หางยาว 33-35 เซนติเมตร ส่วนหัวคล้ายหมาจิ้งจอก แต่ปากยื่นยาวมากกว่า ดวงตาโต ประสาทหูไวมาก ใบหูชี้บิดได้คล่องแคล่ว ขนหนานุ่มเหมือนกำมะหยี่ มีลายจุดเรียงเป็นแนวพาดไปขนานกับลำตัว สีพื้นต่างกันไปในแต่ละตัว ตั้งแต่สีส้ม สีเนื้อ จนถึงน้ำตาลอ่อน หางยาวฟู มีลายปล้องสีคล้ำประมาณ 8-10 ปล้อง อุ้งตีนกว้างมีขนคลุม เล็บหดกลับได้ อุ้งตีนหน้ามีปลอกเล็บ มีขนคลุมตลอดขาซึ่งต่างจากสัตว์ชนิดอื่นในวงศ์ชะมดและอีเห็น (viverridae) ไม่มีต่อมข้างก้น และไม่มีฟันกรามบนคู่ที่สอง
ชะมดแปลงลายจุดอาศัยอยู่ในป่าทึบเขตร้อนมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย (อัสสัม) จนถึงเวียดนาม แต่ในหลายพื้นที่ได้สูญหายไปแล้ว เช่นในสิกขิมและประเทศไทย
ชะมดแปลงลายจุดกินเนื้อเป็นอาหารหากินบนต้นไม้เป็นหลัก เล็บที่ยาวแหลมบวกกับรูปร่างที่ปราดเปรียวช่วยให้มันกระโดดไปมาระหว่างกิ่งไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว บางครั้งอาจลงมาหากินบนพื้นดินด้วย หากินเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะหลับอยู่ในรังที่เป็นโพรงใต้รากไม้ พื้นรังบุด้วยใบไม้แห้งและกิ่งไม้
คาดว่าชะมดแปลงลายจุดเป็นสัตว์สันโดษไม่ชอบสุงสิงกับตัวอื่น มีการสื่อสารด้วยกลิ่นเช่นเดียวกับสัตว์ในกลุ่มชะมดด้วยกัน อาหารหลักคือสัตว์ฟันแทะ แต่ก็ยังล่านก แมลง สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก ไข่ รวมถึงซากสัตว์ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ากินผลไม้ด้วย
ชะมดแปลงลายจุดผสมพันธุ์ปีละสองครั้งครั้งหนึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และอีกครั้งราวเดือนสิงหาคม ตัวเมียแต่ละตัวออกลูกได้ปีละ 1-2 ครอก
ข้อมูลด้านชีววิทยาของชะมดแปลงลายจุดแทบไม่มีอยู่เลยไม่ว่าจะเป็นคาบการติดสัด อายุเมื่อหย่านม การมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกของตัวผู้ วัยที่แยกย้ายออกไปหากินเอง หรือวัยที่เข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์ คาดว่าชีววิทยาของชะมดแปลงลายจุดน่าจะคล้ายกับของ ชะมดแปลงลายแถบ (P. linsang ) ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุด
ชีววิทยาของชะมดแปลงลายแถบที่พอจะเอามาเทียบได้คือมีคาบนาน 11 วัน ส่วนใหญ่ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว ลูกแรกเกิดหนัก 40 กรัม รังเลี้ยงลูกมักเป็นโพรงใต้ต้นไม้ที่ปกคลุ้มด้วยไม้ล้มลุกแห้ง ๆ แม่จะเลี้ยงลูกอยู่ในรังจนกระทั่งลูกหย่านม ชะมดแปลงลายแถบในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุขัยประมาณ 10 ปี 8 เดือน
เช่นเดียวกับสัตว์ที่อาศัยในป่าฝนเขตร้อนส่วนใหญ่ภัยคุกคามอันดับหนึ่งของชะมดแปลงลายจุดคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยที่เกิดจากการทำป่าไม้แบบไม่ยั่งยืน และการแผ้วถางเพื่อแปลงเป็นพื้นที่กสิกรรม นอกจากนี้ ขนอันสวยงามของชะมดชนิดนี้ก็ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดขนสัตว์เช่นกัน ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพว่าอยู่ในระดับมีความเสี่ยงน้อย (2551) ไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 1
ชะมดแปลงลายจุดสตัฟ อยู่ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาคุนหมิง ประเทศจีน (ภาพโดย Daderot, Public domain, via Wikimedia Commons )
ชะมดแปลงลายจุดอาศัยอยู่ในป่าทึบเขตร้อน
ชะมดแปลงลายจุดกินเนื้อเป็นอาหาร
คาดว่าชะมดแปลงลายจุดเป็นสัตว์สันโดษ
ชะมดแปลงลายจุดผสมพันธุ์ปีละสองครั้ง
ข้อมูลด้านชีววิทยาของชะมดแปลงลายจุดแทบไม่มีอยู่เลย
ชีววิทยาของชะมดแปลงลายแถบที่พอจะเอามาเทียบได้คือ
เช่นเดียวกับสัตว์ที่อาศัยในป่าฝนเขตร้อนส่วนใหญ่
Prionodon pardicolor | |
---|---|
ชื่อไทย | ชะมดแปลงลายจุด, อีเห็นลายเสือ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Prionodon pardicolor |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Viverridae |
วงศ์ย่อย | Prionodontinae |
สกุล | Prionodon |
ข้อมูลอ้างอิง
- http://animaldiversity.ummz.umich.edu/site/accounts/information/Prionodon_pardicolor.html
- http://www.iucnredlist.org/details/41706/0