ลักษณะทั่วไป
แมวพัลลัสมีรูปร่างโดดเด่นมาก
รูปร่างทั่วไปล่ำเตี้ย ขนยาวจนดูเหมือนเป็นแมวตัวใหญ่ แท้จริงแล้วเป็นแมวที่มีขนาดไล่เลี่ยกับแมวบ้านตัวโต ๆ เท่านั้น หนัก 2-5 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 500-600 มิลลิเมตร มีขนหนาแน่น ส่วนใหญ่มีสีเทาหรือเทาอมแดง มีขนชั้นบนสีขาว ทำให้มีสีขาวประปรายเหมือนน้ำแข็งเกาะ ขนบริเวณท้องยาวกว่าขนส่วนหลังราวสองเท่า มีริ้วสีดำพาดตามแนวขวางที่ส่วนท้ายของสันหลังราว 5-7 ริ้ว หางยาว 210-310 มิลลิเมตร มีวงสีดำเป็นปล้อง ราว 5-7 วง ขาสั้น สีเดียวกับส่วนลำตัว อาจมีแถบสีคล้ำพาดอยู่ในบางตัว ขนบริเวณอุ้งตีนมักมีสีอมแดง หัวเล็ก หน้าค่อนข้างแป้น กะโหลกของแมวพัลลัสค่อนข้างกลมและโหนกนูน กรวยปากสั้น ส่วนหุ้มสมองใหญ่ เบ้าตาอยู่ต่ำ กะโหลกตัวผู้มักใหญ่กว่าตัวเมีย ขอบตามีสีขาว ที่แตกต่างจากแมวชนิดอื่นมากคือ รูม่านตากลมแทนที่จะเป็นช่องเรียวอย่างแมวชนิดอื่น ๆ ใบหูกลม ตำแหน่งใบหูอยู่ต่ำจนดูว่าอยู่ข้างหัวมากกว่าอยู่บนหัว สีเนื้อ ปลายหูสีดำ หน้าผากและกระหม่อมมีสีเทาและมีจุดดำขึ้นประปราย หางตามีลายเส้นสีดำสองลากจากโค้งลงไปที่กรามข้างละสองเส้น ริมผีปาก คาง และคอมีสีขาว ริมฝีปากบนมีสีอมแดงเล็กน้อย หนวดยาวสีขาว
แมวพัลลัสมีสายเลือดใกล้ชิดกับแมวดาว นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าบรรพบุรุษของทั้งสองชนิดเริ่มแยกออกจากกันเมื่อ 5.9 ล้านปีก่อน (O'Brien and Johnson, 2007) ปัจจุบันมีการแยกแมวพัลลัสออกเป็นสองชนิดย่อย ได้แก่ O. m. manul [Pallas, 1776] อาศัยอยู่ในมณฑลกันซู่ ประเทศจีน มองโกเลีย คาซัคสถาน ไซบีเรียตอนใต้ อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และ O. m. nigripectus [Hodgson, 1842] อาศัยอยู่แถบเทือกเขาหิมาลัย อาศัยอยู่ในทิเบต แคชเมียร์ เนปาล และภูฏาน
นอกจากสีขนจะต่างไปตามถิ่นที่อยู่อาศัยแล้ว สีขนยังเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลอีกด้วย
ชื่อเรียกแมวพัลลัสในภาษาต่าง ๆอัฟกานิสถาน (ดาน) | psk kuhey |
บัสเกียร์ส | yalami |
บูคาเรียน | malem |
จีน | tu sun, wulun, manao, yang shihli |
อังกฤษ | manul |
ฝรั่งเศส | Chat manul |
เยอรมัน | Manul |
อินเดีย (ลาดัก) | ribilik |
คาซัคสถาน | malin, sabanchi |
คีย์กิสถาน | madail |
มองโกเลีย | malin |
รัสเซีย | manul |
Smirech'e | sabanchi |
ซอยอต | Mana |
สเปน | gato manul, gato de Pallas |
อุยกูร์ | molun |
อุสเบก | malin, dala mushugi |
ถิ่นที่อยู่อาศัย
เขตกระจายพันธุ์ของแมวพัลลัส
แมวพัลลัสพบได้ทั่วเอเชียกลาง ตั้งแต่ตะวันตกของอิหร่านจนถึงตะวันตกของจีน ทางตอนใต้ของรัสเซียลงมาจนถึงที่ราบสูงทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย
ลักษณะพื้นที่ที่แมวพัลลัสชอบคือ ทุ่งหญ้าสเต็ปป์ที่มีกองหินระเกะระกะ ไม่ชอบทุ่งหญ้าที่เปิดโล่ง พบได้ตั้งแต่พื้นที่ต่ำ 400 เมตรขึ้นไปจนถึง 4,800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แม้จะมีร่างกายที่ดูเหมือนจะกันหนาวได้ดี แต่ไม่ชอบอยู่ในพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี หรือหนาเกิน 15 เซนติเมตร
แม้จะเป็นแมวขนาดเล็ก แต่มีพื้นที่หากินอาจกว้างมาก การศึกษาครั้งหนึ่งในรัสเซียโดยการติดตามสัญญาณจากวิทยุปลอกคอ พบว่าแมวพัลลัสมีพื้นที่หากิน 5-30 ตารางกิโลเมตร พื้นที่หากินของตัวผู้จะกว้างกว่าของตัวเมีย 4-5 เท่า และมักซ้อนเหลื่อมกับพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว และอาจซ้อนกับตัวผู้ตัวอื่นด้วย ในบางพื้นที่พบว่าแมวพัลลัสใช้พื้นที่หากินกว้างถึง 100 ตารางกิโลเมตร
อุปนิสัย
แมวพัลลัสเป็นแมวรักสันโดษ หากินโดยลำพังในเวลากลางคืน โดยเฉพาะช่วงพลบค่ำกับช่วงใกล้รุ่ง ส่วนเวลากลางวันก็จะหลับพักผ่อนตามหลืบหรือโพรงหิน แมวพัลลัสขุดโพรงเองไม่เป็น แต่จะอาศัยอยู่ในโพรงเก่าของสัตว์ชนิดอื่น เช่น มาร์มอต หมาจิ้งจอก แบดเจอร์ ทั้งเป็นที่หลบภัย อยู่อาศัย และเลี้ยงลูก
อาหารหลักของแมวพัลลัสคือกระต่ายพิกาและสัตว์ฟันแทะตัวเล็ก ๆ เช่น โวล แฮมสเตอร์ เจอร์บัว ล่าเหยื่อด้วยการย่องและซุ่มรอ บางครั้งก็จับนกหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกินได้
แมวพัลลัสเป็นแมวที่วิ่งไม่เก่งนัก จึงมักหลีกหนีภัยอันตรายด้วยการหลบซ่อนและหมอบนิ่งมากกว่าวิ่งหนี สีขนที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมอย่างดีเยี่ยมช่วยให้แมวชนิดนี้เหมาะกับวิธีนี้ แมวพัลลัสในสถานที่เพาะเลี้ยงมักดุร้ายและไม่กลัวคน ส่งเสียงครางต่ำ ๆ แบบแมวบ้านได้ แต่เมื่อคนเข้าใกล้จะไม่ส่งเสียงครางในลำคอหรือพ่นลมอย่างแมวบ้าน จะส่งเสียงคำรามและร้องเสียงสูงคล้ายหมาเล็กเห่า
ชีววิทยา
แม่แมวพัลลัสมีช่วงเวลาติดสัดนาน 5 วัน ในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีตัวผู้เข้ามาติดพันหลายตัว ตั้งท้องนานราว 66-75 วัน ส่วนใหญ่ออกลูกราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม ออกลูกครอกละ 3-6 ตัว บางครั้งอาจมากถึง 8 ตัว ลูกแมวแรกเกิดตายังปิดอยู่ ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร และหนักประมาณ 300 กรัม เมื่ออายุได้ 2 เดือนก็จะผลัดขนชุดใหม่ เมื่ออายุได้ 3-4 เดือนก็เริ่มหากินเองได้แล้ว ตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 1 ปี อัตราตายของลูกแมวในธรรมชาติอยู่ที่ 68 เปอร์เซ็นต์ อายุขัยเฉลี่ยของแมวพัลลัสคือ 11-12 ปี
ภัยคุกคาม
ครั้งหนึ่งแมวพัลลัสเคยถูกล่าอย่างหนักเพื่อเอาขนที่สวยงาม โดยเฉพาะในจีนและมองโกเลีย แต่ปัจจุบันมีการคุ้มครองในหลายประเทศยกเว้นมองโกเลีย การล่าจึงลดลงอย่างมากจนไมใช่ภัยคุกคามหลักต่อแมวชนิดนี้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ในบางท้องที่ของประเทศรัสเซียและจีนมีการวางยาเบื่อสัตว์ป่าเพื่อป้องกันโรคระบาดและต้องการกำจัดสัตว์ที่ไปแย่งหญ้าของปศุสัตว์กิน สัตว์ที่เป็นอาหารของแมวพัลลัสก็ต้องโดนยาเบื่อตายไปด้วย ทำให้แมวพัลลัสต้องขาดแคลนอาหาร หรือหากแมวพัลลัสไปกินเหยื่อที่โดนยาตายก็จะได้รับอันตรายจากพิษนั้นด้วย
ทุ่งหญ้าสเตปป์ในหลายพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของแมวพัลลัสก็ถูกครอบครองโดยมนุษย์และปศุสัตว์มากขึ้น หมาต้อนสัตว์ที่ชาวฟาร์มเลี้ยงไว้ก็เป็นอันตรายต่อแมวพัลลัสเหมือนกัน
สถานภาพ
การประเมินความหนาแน่นประชากรในทุ่งหญ้าสเตปป์ในภาคกลางของมองโกเลีย ให้ผลว่ามีความหนาแน่นราว 4-8 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ในแถบทะเลสาบไบคาลและสาธารณรัฐอัลไต ความหนาแน่นจากการประเมินโดยตามรอยบนหิมะ อยู่ที่ 17.6-19.5 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร เคยมีโครงการสำรวจหนึ่งในทุ่งหญ้าดาอูเรียของรัสเซีย เจ้าหน้าที่จับแมวพัลลัสตัวเต็มวัยได้ 12 ตัวภายในพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบได้กับ 75 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ความหนาแน่นประชากรที่ต่ำของแมวชนิดนี้คาดว่าเป็นธรรมชาติที่ปรับให้สมดุลกับจำนวนเหยื่อและจำนวนสัตว์ชนิดอื่นที่แมวพัลลัสใช้ยืมรัง
ในคีย์กิสถาน มองโกเลีย และปากีสถานจัดแมวพัลลัสไว้ในบัญชีแดงของประเทศ ในประเทศจีนและเติร์กเมนิสถาน ประเมินสถานภาพสัตว์ชนิดนี้ว่าอันตราย ส่วนในอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน คาดว่าสูญพันธุ์ไปจากประเทศแล้ว ในเติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน และทาจิกิสถานก็ไม่มีใครพบเห็นมาเป็นเวลานานแล้ว
อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมถือว่าสถานการณ์ของแมวชนิดนี้ไม่ย่ำแย่เกินไปนัก เพราะยังคงพบได้อยู่ตลอดเขตกระจายพันธุ์ แต่ความหนาแน่นของประชากรต่ำ และจำนวนประชากรลดลง ประเทศที่มีแมวชนิดนี้มากที่สุดน่าจะเป็นประเทศมองโกเลีย ไอยูซีเอ็นประเมินว่าปัจจุบันมีประชากรตัวเต็มวัยอยู่ที่ประมาณ 58,000 ตัว และประเมินสถานภาพของประชากรว่า ไม่ถูกคุกคาม (2562) ไซเตสใส่ชื่อของแมวพัลลัสไว้ในบัญชีหมายเลข 2
ประเทศที่คุ้มครอง
อัฟกานิสถาน ภูฏาน จีน อินเดีย อิหร่าน คาซัคสถาน คีย์กิสถาน เนปาล ปากีสถาน รัสเซีย เติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน