หมาหริ่ง

Burmese ferret-badger, Large-toothed ferret-badger

Melogale personata

หมาหริ่งไม่ใช่หมา แต่เป็นสัตว์กินเนื้อในวงศ์เดียวกับนาก หมาไม้ และเพียงพอน ตัวเต็มวัยมีน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม ลำตัวยาว ความยาวหัว-ลำตัว 330-430 มิลลิเมตร หางฟู ยาว 150-230 มิลลิเมตร ขาสั้นแบบเดียวกับแบดเจอร์ทั่วไป อุ้งตีนกว้างและมีสัน เล็บยาวแข็งแรง ระหว่างนิ้วมีพังผืดเล็กน้อย ขนสีน้ำตาลหรือเทา ขนชั้นในสีอ่อน หัวมีส่วนสีขาวสามแต้มใหญ่ คือรอบตาและหางตาทั้งสองข้าง และตรงระหว่างตา รอบปลายจมูกและปากสีดำ หัวและหน้าผากสีดำ มีเส้นสีขาวแคบ ๆ พาดตามแนวสันหลังตั้งแต่หัวจนถึงโคนหาง ส่วนในหมาหริ่งจีนเส้นหลังสีขาวนี้จะลากไปไม่ถึงโคนหาง 

ถิ่นที่อยู่อาศัย


หมาหริ่งมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ตั้งแต่เนปาล ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ เวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา และเกาะชวา (ชนิดย่อย M. p. orientalisหมาหริ่งตัวผู้มีพื้นที่หากิน 0.04 0.09 ตารางกิโลเมตร อาศัยได้ทั้งในป่า ป่าดิบเขา ป่าสน ทุ่งแบบซะวันนา ทุ่งหญ้า หรือแม้แต่นาข้าว พบได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,950 เมตร หมาหริ่งตัวผู้มีอาณาเขตหากินประมาณ 25-56 ไร่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว 



อุปนิสัย


คาดว่าสัตว์ในสกุลนี้ทั้งหมดหากินโดยลำพัง ยกเว้นฤดูผสมพันธุ์ อาศัยอยู่บนพื้นดินเป็นหลัก แต่ก็ปีนต้นไม้ได้ อาจขึ้นต้นไม้เพื่อจับแมลงหรือหอยทากกินบ้าง หากินเวลากลางคืนโดยเฉพาะช่วงหัวค่ำและใกล้รุ่ง ส่วนในเวลากลางวันจะหลับพักในโพรง หมาหริ่งอาศัยโพรงเก่าของสัตว์ชนิดอื่นหรือโพรงธรรมชาติ  ไม่ขุดโพรงเอง อาหารหลักคือแมลง ไส้เดือน หนู กบ คางคก กิ้งก่า นก ไข่นก นอกจากนี้ยังกินซากและผลไม้ด้วย มีฟันใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ในสกุลหมาหริ่ง (Melogale) ทั้งหมด คาดว่าพัฒนามาเพื่อขบเปลือกหอยทากซึ่งเป็นอาหารโปรด หมาหริ่งใช้เวลาหากินเพียงสั้น ๆ เท่านั้น เวลาที่เหลือของวันจะหมดไปกับการนอน 

ชีววิทยา


ข้อมูลด้านชีววิทยาของหมาหริ่งมีน้อยมาก ในไทย หมาหริ่งออกลูกเฉลี่ยครั้งละ ตัว ออกลูกในโพรง ก่อนฤดูฝนเล็กน้อย  แม่หมาหริ่งเลี้ยงลูกในโพรงเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีชีวิตอยู่ได้ 10 ปี

หมาหริ่งพบได้ไม่บ่อยนักในธรรมชาติ จำนวนประชากรกระจายเป็นหย่อมในบางพื้นที่  บางพื้นที่หมาหริ่งถูกมนุษย์ล่าเพื่อบริโภค เช่นในลาวและในอินเดียตอนเหนือ แต่การที่สัตว์ในสกุลนี้ไม่คุกคามสัตว์เลี้ยงของเกษตรกรโดยตรง และหนังของมันก็ไม่มีค่าในตลาดขนสัตว์มากนัก มนุษย์จึงไม่ใช่ภัยคุกคามโดยตรงของหมาหริ่ง ปัจจุบันหมาหริ่งยังไม่นับว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่ในอนาคตก็อาจจะต้องประสบเคราะห์กรรมเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยกำลังหดเล็กลงเรื่อย ๆ ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพของหมาหริ่งว่ามีความเสี่ยงน้อย (2015) ในไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ภาพหมาหริ่งจากโซเชียลมีเดีย




Melogale personata
ชื่อไทยหมาหริ่ง
ชื่อวิทยาศาสตร์Melogale personata
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Mustelidae
วงศ์ย่อยMustelinae
สกุลMelogale

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 12 เม.ย. 65 แก้ไขครั้งล่าสุด : 16 ส.ค. 67

Powered by Wimut Wasalai