ลิงกัง, กะบุด
Pigtail macaque
Macaca nemestrina
ลิงกังมีขนสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมเทา บริเวณท้องสีขาว ขนบริเวณกระหม่อมสีดำหรือน้ำตาลเข้มและแผ่ออกเหมือนไว้ผมทรงลานบิน หางสั้นประมาณ 13-24 เซนติเมตรและมีขนสั้น ขายาว ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียราวสองเท่า ความยาวหัว-ลำตัวประมาณ 49-56 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ย 6.2-14.5 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียความยาวหัว-ลำตัวประมาณ 46-56 หนักประมาณ 4.7-10.9 กิโลกรัม ตัวผู้จะมีเขี้ยวแหลมยาวประมาณ 12 มม. ส่วนตัวเมียก็มีเขี้ยวแต่สั้นกว่ามากเพียง 7.3 มม.
ลิงกังเหนือ
เดิมลิงกังมีสามชนิดย่อย ได้แก่ ลิงกังเหนือ (M.n. leonina ) ลิงกังใต้ (M.n. nemestrina ) และลิงกังปาไก (M.n. pagensis ) ลิงกังเหนือมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน ทางใต้สุดจรดแอ่งสุราษฎร์ธานี-กระบี่ ลิงกังใต้มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่แอ่งสุราษฎร์ธานี-กระบี่ลงไป รวมถึงเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ส่วนลิงกังปาไกพบได้เฉพาะในหมู่เกาะปาไกของอินโดนีเซียเท่านั้น
ในปี2558 มีการพิจารณาแยกลิงกังทั้งสามชนิดย่อยเป็นลิงต่างชนิดกัน เป็น ลิงกังเหนือได้ชื่อวิทยาศาตร์ว่า Macaca leonina ลิงกังใต้ได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macaca nemestrina และลิงปาไกได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macaca pagensis ข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่นชีววิทยา พฤติกรรมของลิงกังเหนือกับลิงกังใต้เหมือนกัน บทความนี้จึงเสนอข้อมูลรวมกันของทั้งลิงกังเหนือและลิงกังใต้
เป็นที่น่าสนใจว่าประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่พบลิงกังได้ทั้งลิงกังเหนือและลิงกังใต้ในธรรมชาติ
ลิงกังอาศัยอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบในหลายประเทศ ตั้งแต่ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ทางใต้ของจีน อินโดนีเซีย (บอร์เนียว กาลิมันตัน สุมาตรา) ตะวันออกของบังกลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย (แผ่นดินใหญ่) พบในพื้นที่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนสูงถึง 2,000 เมตร อาศัยในป่าทึบ ส่วนใหญ่เป็นป่าฝนและป่าบึง
ฝูงลิงกังประกอบด้วยตัวผู้หลายตัวและตัวเมียหลายตัวสมาชิกตัวเมียเป็นกลุ่มครอบครัวเดียวกัน ฝูงหนึ่งมีสมาชิกประมาณ 15-40 ตัว เป็นตัวผู้ราว 5-6 ตัว แต่ละตัวเป็นตัวผู้ที่แยกออกมาจากฝูงที่ตัวเองเกิด เมื่อมีตัวผู้ตัวใหม่เข้ามาสู่ฝูง จะมีลำดับชั้นต่ำสุด หลังจากนั้นจึงค่อยต่อสู้เพื่อเลื่อนอันดับตัวเองให้สูงขึ้น ส่วนตัวเมียก็มีลำดับชั้นเช่นกัน ตัวเมียที่อันดับสูงสุดมักมีหลายตัวและเป็นพี่น้องกันที่รักใคร่ปรองดองกัน แม้กลุ่มตัวเมียจะมีอำนาจด้อยกว่าตัวผู้ แต่ก็รวมตัวกันเหนียวแน่นกว่าและอาจร่วมกันต่อสู้กับตัวผู้ที่อันดับต่ำในการแย่งชิงอาหารได้
เมื่อการต่อสู้กันระหว่างสมาชิกผ่านพ้นไปการแสดงความยอมรับหลังสงบศึกมีหลายรูปแบบ ตัวเมียด้วยกันอาจขึ้นคร่อมกันเอง โดยตัวที่มีอันดับสูงกว่าขึ้นคร่อมตัวที่ด้อยกว่า แต่ในหมู่ตัวผู้ ตัวที่เป็นฝ่ายขึ้นคร่อมกลับกลายเป็นตัวที่มีอันดับต่ำกว่า เป็นการแสดงความยอมรับในตัวที่ด้อยกว่าของตัวผู้อันดับสูง
ลิงกังหากินเวลากลางวันหากินบนพื้นดินมากกว่าบนต้นไม้ พื้นที่หากินกว้าง ตั้งแต่ 0.6-8.28 ตารางกิโลเมตร และมักย้ายพื้นที่หากินอยู่เสมอ เดินทางวันละประมาณ 800-3,000 เมตร พื้นที่ของแต่ละฝูงมักซ้อนเหลื่อมกัน แต่ลิงกังแต่ละฝูงก็ไม่ค่อยจะมีเรื่องวิวาทในเรื่องเขตแดนมากนัก
อาหารหลักคือผลไม้นอกจากผลไม้ยังมีแมลง เมล็ดพืช ใบไม้ เห็ด นก ตัวอ่อนปลวก ปู เป็นต้น ขณะออกหากินจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มละ 2-6 ตัว บ่อยครั้งที่เข้ามาเก็บกินผลไม้ในสวนของเกษตรกร เมื่อลิงกังบุกรุกถิ่นของคน จะมีการจัดตั้งทหารยามเพื่อเฝ้าระวังคนด้วย
ลิงกังจัดเป็นลิงที่ค่อนข้างเงียบไม่ส่งเสียงมากนัก นอกจากเวลาต่อสู้กันเท่านั้น นอกจากการสื่อสารด้วยเสียงแล้ว ลิงกังยังมีภาษาท่าทางและสื่อสารผ่านสีหน้าได้ด้วย
ลิงกังผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปีแต่ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ตัวเมียมีคาบการติดสัดประมาณ 30-35 วัน ตั้งท้องนาน 162-182 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกลิงแรกเกิดมีสีดำ เมื่อพ้นสามเดือนสีขนจึงค่อยจางลงเป็นสีน้ำตาลอ่อน แม่ลิงจะเลี้ยงลูกเป็นเวลา 8-12 เดือน ตัวผู้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 4.5 ปี ส่วนตัวเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 3 ปี เมื่อตัวเมียติดสัด ต่อมแก้มก้นและอวัยวะเพศจะบวมแดงอย่างเห็นได้ชัดเจน และจะแสดงท่าทีอวดก้นแดงให้หนุ่ม ๆ ในฝูงดูอย่างโจ่งแจ้ง ลูกลิงที่พ้นวัยเด็กไปแล้ว ยังคงได้รับการดูแลจากแม่อยู่แม้จะไม่มากเท่ากับวัยเด็ก โดยเฉพาะลูกสาวที่แม่มักดูแลไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าลูกสาวจะแยกฝูงออกไป
ลิงกังเปลี่ยนคู่ได้หลายครั้งตลอดอายุขัยในช่วงที่ตัวเมียในฝูงติดสัดเป็นจำนวนน้อย ตัวผู้ที่เป็นหัวหน้าจะปกป้องตัวเมียอย่างแข็งขันไม่ให้ตัวผู้ตัวด้อยกว่าในฝูงเข้าใกล้และผสมพันธุ์ แต่ถ้ามีตัวเมียติดสัดหลายตัว ตัวผู้หัวหน้าอาจควบคุมไม่ทั่วถึง ทำให้ตัวผู้ที่อันดับด้อยกว่ามีโอกาสลอบเข้ามาผสมพันธุ์กับตัวเมียได้
ลำดับชั้นของสมาชิกตัวเมียในฝูงมีผลต่อเพศของลูกที่จะเกิดมาด้วยตัวเมียที่มีลำดับชั้นสูงกว่าจะมีโอกาสให้ลูกตัวเมียมากกว่า
อันตรายอย่างหนึ่งของลูกลิงก็คือในช่วงที่ลูกอายุเกิน 5 สัปดาห์ไปแล้ว ลูกลิงจะเริ่มซุกซนและอยากรู้อยากสำรวจโลกรอบด้าน ซึ่งอาจทำให้ต้องห่างจากอกแม่ หากแม่ลิงเป็นลิงที่มีลำดับชั้นต่ำ ช่วงนี้ลูกลิงอาจถูกลิงที่มีอันดับสูงกว่าแย่งไปได้ และหากแม่ลิงแย่งกลับมาไม่ได้ ลูกลิงก็มักต้องอดตาย
ในธรรมชาติลิงกังมีอายุขัยประมาณ 26 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยง เคยพบลิงกังที่อยู่ได้ถึงเกือบ 35 ปี
ศัตรูตามธรรมชาติของลิงกังคือเสือและงูแต่ศัตรูตัวร้ายที่สุดก็หนีไม่พ้นคน ลิงกังจำนวนมากถูกล่าเพื่อเอาเป็นอาหาร ทำยาจีน และเพื่อการแพทย์ ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้ว่าเสี่ยงสูญพันธุ์ ไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
เคยพบฝูงลิงกังที่มีสมาชิกถึง 89 ตัว
●ลิงกังเลี้ยงให้เชื่องได้ง่ายจึงถูกนำมาใช้งานเป็นลิงเก็บมะพร้าว
●ลิงแสมกลัวลิงกัง โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีเคยนำลิงกังไปช่วยไล่ฝูงลิงแสมที่มักมาทำร้ายนักเรียนในโรงเรียน
ลิงกัง (Macaca nemestrina )
ลิงกังเหนือ ลิงกังใต้
เดิมลิงกังมีสามชนิดย่อย ในปี
เป็นที่น่าสนใจว่า
ลิงกังอาศัยอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ฝูงลิงกังประกอบด้วยตัวผู้หลายตัวและตัวเมียหลายตัว
เมื่อการต่อสู้กันระหว่างสมาชิกผ่านพ้นไป
ลิงกังหากินเวลากลางวัน
อาหารหลักคือผลไม้
ลิงกังจัดเป็นลิงที่ค่อนข้างเงียบ
ลิงกังผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี
ลิงกังเปลี่ยนคู่ได้หลายครั้งตลอดอายุขัย
ลำดับชั้นของสมาชิกตัวเมียในฝูงมีผลต่อเพศของลูกที่จะเกิดมาด้วย
อันตรายอย่างหนึ่งของลูกลิงก็คือ
ในธรรมชาติ
ศัตรูตามธรรมชาติของลิงกังคือเสือและงู
ทราบหรือไม่?
●ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่●ลิงกังเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย
●ลิงแสมกลัวลิงกัง โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรีเคยนำลิงกังไปช่วยไล่ฝูงลิงแสมที่มักมาทำร้ายนักเรียนในโรงเรียน
Macaca nemestrina | |
---|---|
ชื่อไทย | ลิงกัง, กะบุด |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Macaca nemestrina |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Primates |
วงศ์ | Cercopithecidae |
วงศ์ย่อย | Cercopithecinae |
สกุล | Macaca |
ข้อมูลอ้างอิง
- Southern Pig-tailed Macaque
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984)
- สมโภชน์ ศรีโกสามาตร และ ทรอย แฮนเซล. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
- Macaca nemestrina. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://animaldiversity.ummz.umich.edu/site/accounts/information/Macaca_nemestrina.html. (วันที่ค้นข้อมูล : 15 มีนาคม 2555).
- Northern Pig-tailed Macaque