เซอร์วัล
Serval
Leptailurus serval
ลักษณะทั่วไป
เซอร์วัล (ภาพจากวิกิพีเดียคอมมอนส์)
คำว่า
serval มาจากคำโปรตุเกส แปลว่า "กวางหมาป่า" ด้วยเหตุที่แมวชนิดนี้มี คอยาว หูใหญ่ หัวเล็ก คล้ายกวาง จึงนับเป็นแมวที่มีรูปร่างโดดเด่นสะดุดตามากชนิดหนึ่ง
เซอร์วัลมีขนาดใกล้เคียงกับคาราคัล มีลำตัวยาว 67-100 เซนติเมตร หนัก 9-18 กิโลกรัม ความสูง 40-65 เซนติเมตร ขนตามลำตัวสีเหลือง มีจุดและแต้มสีดำเรียงกันเป็นสายขนานกับแนวสันหลังตลอดทั้งตัว จุดบริเวณคอและหลัง จะเชื่อมกันเป็นเส้นยาว หน้าท้องสีเทาอ่อนหรือเหลืองอ่อน หัวยื่นยาวมากกว่าแมวทุกชนิด ตาสีเหลือง รูม่านตาเมื่อหดจะเป็นรูปหลอดด้าย มีแถบสีดำเหนือหัวคิ้ว และที่หัวกับหางตา ขายาวมาก เทียบสัดส่วนร่างกายแล้วเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่ขายาวที่สุด ขาหลังยาวกว่าขาหน้า หัวเล็ก หูใหญ่ โคนหูกว้างและเบียดชิดกัน หลังหูดำมีจุดขาวอยู่กลาง หางค่อนข้างสั้นเพียงประมาณหนึ่งในสามของความยาวลำตัว มีปล้องสีดำราว 6-7 ปล้อง ปลายหางดำ
ชื่อเรียกเซอร์วัลในภาษาต่าง ๆอังกฤษ | Serval |
ฝรั่งเศส | serval, chat-tigre, lynx tacheté |
เยอรมัน | Servalkatze |
สเปน | serval |
แอฟริกานส์ (แอฟริกาใต้) | tierboskat |
แอมฮารา (เอธิโอเปีย) | aner |
เบอร์เบอร์ (คาบีเลีย, แอลจีเรีย) | amich boudrar, ouchiak zilagla |
Chichewa (มลาวี) | njuzi |
Creole (กีนีบิสเชา) | onca de baga baga |
จู/โฮอันบุชแมน (Botswana, Namibia) | !’hòm!a |
โปรตุเกส | gato serval, gato lagar |
โซมาเลีย | muq shabeel, dumad xabashi, shabeel adari, shabeel yer |
เซตสวานา (บอตสวานา) | tadi |
คิสวาฮีลี | mondo |
โคซา, ซูลู (แอฟริกาใต้) | ingwenkala, indlozi |
เซอร์วัลบางตัวมีสีดำจากความผิดปรกติแบบเมลานิซึม เซอร์วัลดำมักพบในแหล่งที่ชุ่มชื้น
เซอร์วัลที่อยู่ในป่าทึบทางทางตะวันตกของทวีปมีลายจุดเล็กและละเอียดกว่า ไม่เด่นชัด ครั้งหนึ่งนักวิทยาศาสตร์เคยจัดแมวกลุ่มนี้แยกออกไปเป็นแมวอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า แมวเซอร์วาไลน์ (F. servalina) แต่ปัจจุบันพบว่าเป็นชนิดเดียวกัน
ชนิดย่อยของเซอร์วัล
ตามข้อมูลของบิกแคตออนไลน์ เซอร์วัลแบ่งออกเป็น 7 ชนิดย่อย ดังนี้
ชื่อวิทยาศาสตร์ | เขตกระจายพันธุ์ |
---|
L.s.brachyurus | เซียร์ราลีโอน |
L.s constantina | โมรอกโก แอลจีเรีย |
L.s.hindei | เคนยา แทนซาเนีย |
L.s.liptositictus | อูกันดาจนถึงแองโกลา |
L.s.phillipsi | เอธิโอเปีย |
L.s.serval | แทนซาเนียจนถึงเคป |
L.s.tanae | เอธิโอเปีย เอริเทรีย โซมาเลีย |
ถิ่นที่อยู่อาศัย
เขตกระจายพันธุ์ของเซอร์วัล
พื้นที่ที่แมวชนิดนี้ชอบที่สุดคือ ทุ่งซะวันนาใกล้แหล่งน้ำที่มีแพกกและพืชน้ำชนิดอื่นอยู่ด้วย มีต้นหญ้าสูง พบได้น้อยในที่แห้งแล้ง ไม่พบในป่าฝนและทะเลทราย
เขตกระจายพันธุ์ของเซอร์วัลแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ในตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา พบในประเทศโมรอกโก ตูนีเซีย และแอลจีเรีย อีกส่วนหนึ่งซึ่งใหญ่กว่าครอบคลุมพื้นที่กว้างตลอดแนวตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราตั้งแต่ชายฝั่งตะวันตกของทวีปไปจนถึงพื้นที่แบบแอลไพน์ (3,200-3,800 เมตร) ในเคนยาและเอธิโอเปีย เขตกระจายพันธุ์สองส่วนนี้คาดว่าแยกจากกันมากว่า 6,000 ปีแล้ว
อุปนิสัย
เซอร์วัลมักหากินเวลาตั้งแต่พลบค่ำจนถึงย่ำรุ่ง ในฤดูฝนหรือในช่วงที่ต้องเลี้ยงลูกแม่เซอร์วัลอาจหากินเวลากลางวันด้วย ในพื้นที่ที่ใกล้ชุมชนมนุษย์ เซอร์วัลจะหากินในเวลากลางคืนมากขึ้น ในเวลากลางวันเซอร์วัลมักพักร้อนในโพรงร้างของตัวอาร์ดวาร์กหรือในพุ่มไม้ทึบ เป็นแมวที่ปีนป่ายเก่งมาก มักหนีภัยอันตรายด้วยการขึ้นต้นไม้
อาหารหลักคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก เช่นกระต่ายป่า หนู กระรอกดิน นอกจากนี้ก็ยังมีนก สัตว์เลื้อยคลาน กบ ปลา และแมลงด้วย
เซอร์วัลมีประสาทการรับฟังดีมาก สามารถรับรู้เสียงอัลตราโซนิกได้ ด้วยการฟังเสียงเพียงอย่างเดียวก็ล่าสัตว์ในเวลากลางคืนหรือที่ซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ทึบหรือแม้แต่โพรงใต้ดินได้ บางครั้งก็ล่าเหยื่อใต้ดินด้วยการกระทืบซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเหยื่อช็อกหรือตายก่อนที่จะเข้างับเหยื่อ เมื่อเหยื่อจำพวกหนูอยู่ในโพรง เซอร์วัลก็อาจใช้ขาหน้าล้วงเกี่ยวหนูออกมา หรืออาจนั่งรอที่ข้างปากโพรง เมื่อหนูโผล่มาใกล้ปากโพรง ก็จะตวัดเหยื่อออกมาแล้วเหวี่ยงจนลอยขึ้นฟ้า
แม้เซอร์วัลจะมีขายาวแบบเสือชีตาห์ แต่ก็ไม่ใช่นักวิ่งเร็วอย่างชีตาห์ ขาที่ยาวของเซอร์วัลใช้ในการกระโดดมากกว่า เวลาวิ่งในพงหญ้าเซอร์วัลจะกระโดดตัวลอยขึ้นมาเป็นระยะเหมือนแอนทิโลป เซอร์วัลกระโดดได้สูงถึง 3 เมตรเพื่อจับหรือตะปบนกหรือแมลง
การล่าเหยื่อของเซอร์วัลมีโอกาสสำเร็จถึงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และจะยิ่งมากขึ้นถ้าเป็นแมวเซอร์วัลที่มีลูกอ่อน ในเซเรนเกตตี เซอร์วัลหนึ่งตัวกินสัตว์ฟันแทะประมาณ 4,000 ตัว งู 260 ตัว และนก 130 ตัวต่อปี ส่วนจำนวนของแมลงไม่มีการสำรวจแต่คาดว่าน่าจะสูงมากกว่าจำนวนเหล่านี้ทั้งหมดรวมกัน
มีรายงานว่าเซอร์วัลจับสัตว์ปีกของชาวบ้านกินเป็นอาหารบ้าง แต่ไม่มากจนเป็นปัญหา
ศัตรูตัวสำคัญได้แก่เสือดาวและหมา รวมถึงมนุษย์ด้วย
ในโงโรโงโรเครเตอร์ เซอร์วัลตัวผู้ตัวหนึ่งใช้พื้นที่หากินประมาณ 11.6 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียประมาณ 9.5 ตารางกิโลเมตร ส่วนในแอฟริกาใต้พื้นที่หากินของเซอร์วัลจะกว้างกว่านี้กว่าสองเท่า ตัวผู้จะทำเครื่องหมายประกาศอาณาเขตบ่อยมากด้วยการพ่นเยี่ยวทิ้งกลิ่น อาจบ่อยถึง 46 ครั้งต่อชั่วโมง หรือ 41 ครั้งต่อตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียจะทิ้งกลิ่นน้อยครั้งกว่าราวครึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังคงมากอยู่ดีเมื่อเทียบกับแมวชนิดอื่น
ชีววิทยา
เซอร์วัลไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน แต่ในอูกันดาและซาอีร์พบว่าออกลูกในเดือนมีนาคม-เมษายน กับกันยายน-พฤศจิกายน ตัวเมียตั้งท้องนาน 67-77 วัน ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว ส่วนใหญ่ 2 ตัว แม่แมวออกลูกในโพรงเก่า หลืบหิน หรือในพุ่มไม้ทึบ ลูกแมวแรกเกิดหนักประมาณ 250 กรัม ลืมตาได้เมื่ออายุ 12 วัน เริ่มกินอาหารแข็งได้เมื่ออายุ 3 สัปดาห์ ตัวเมียเลี้ยงลูกเพียงลำพัง ตัวผู้ไม่มีส่วนช่วยเลย แมวหนุ่มสาวเริ่มเป็นอิสระจากแม่เมื่ออายุได้ 6-8 เดือน แต่จะยังอยู่ในแหล่งหากินเดียวกับแม่อยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง พออายุได้ 18-24 เดือนก็จะถึงวัยเจริญพันธุ์ เมื่อถึงวัยนี้จะถูกแม่ขับออกจากอาณาเขต อายุขัยในธรรมชาติไม่ทราบแน่ชัด ในแหล่งเพาะเลี้ยงอยู่ได้ 20 ปี
ภัยคุกคาม
ลวดลายที่สวยงามของเซอร์วัลก็นำภัยมาสู่ตัวเหมือนกัน ในช่วงปี 2522-2523 มีการบันทึกซื้อขายหนังเซอร์วัลกันถึง 3,478 ผืน จำนวนนี้ยังไม่รวมการค้าในตลาดมืดและซื้อขายในชื่ออื่น หนังเซอร์วัลมักซื้อขายกันในชื่อลูกเสือดาวหรือลูกชีตาห์ อย่างไรก็ตามหนังเซอร์วัลมักซื้อขายกันในท้องถิ่นเพื่อใช้ในพิธีกรรม ใช้ทำยา หรือใช้ในการท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเป็นการค้าข้ามชาติ
บางชนเผ่าก็ถือว่าเซอร์วัลเป็นอาหารเด็ด การใช้ยาเบื่อเพื่อกำจัดหนูก็เป็นภัยแก่เซอร์วัลเหมือนกันเพราะหนูคืออาหารหลักของเซอร์วัล
สถานภาพ
การที่เซอร์วัลมีถิ่นอาศัยเฉพาะแบบ นั่นคือต้องใกล้แหล่งน้ำ ทำให้ในพื้นที่ที่แหล่งน้ำจำกัดเช่นในทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาถูกมนุษย์แย่งไป จึงเป็นเหตุให้เซอร์วัลชนิดย่อย L. s. constantinus ที่อยู่ในประเทศโมรอกโกและอัลจีเรียต้องตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ อย่างไรก็ตามสถานภาพของเซอร์วัลในพื้นที่อื่นยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ไซเตสจัดแมวชนิดนี้ไว้ในบัญชีหมายเลข 2 พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตกระจายพันธุ์ก็ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง มีเพียง 9 ประเทศจาก 14 ประเทศเท่านั้นที่ห้ามล่า
เซอร์วัลปรับตัวเข้ากับการแปลงพื้นที่เพื่อการเกษตรได้ดี เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวของมนุษย์เป็นการเพิ่มจำนวนหนูอาหารโปรดให้แก่เซอร์วัล เมื่อมองอีกแง่หนึ่ง การที่มีเซอร์วัลอยู่ก็เป็นผลดีต่อเกษตรกรมากกว่าก่อปัญหา เพราะเซอร์วัลช่วยควบคุมจำนวนหนูได้ดี
สถานภาพการอนุรักษ์
ไซเตส : บัญชีหมายเลข 2
ประเทศที่ห้ามล่า
แอลจีเรีย บอตสวานา คองโก เคนยา ไลบีเรีย โมแซมบิก ไนจีเรีย รวันดา แอฟริกาใต้ (เฉพาะเคป)
ประเทศที่ควบคุมการล่า
แองโกลา บูรกินาฟาโซ สาธารณรัฐแอฟริกากลาง กานา มลาวี เซเนกัล เซียร์ราลีโอน โซมาเลีย แทนซาเนีย โตโก ซาอีร์ แซมเบีย
ประเทศที่ไม่มีการคุ้มครอง
เบนิน แคเมอรูน เอธิโอเปีย กาบอง แกมเบีย กีนีบิสเชา ไอวอรีโคสต์ เลโซโท มลาวี มอริเตเนีย นามิเบีย ไนเจอร์ แอฟริกาใต้ ซูดาน สวาซิแลนด์ ตูนิเซีย อูกันดา ซิมบาบเว
ไม่มีข้อมูล
บุรุนดี ชาด จิบูตี กีนี
Leptailurus serval |
ชื่อไทย | เซอร์วัล |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Leptailurus serval |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Felidae |
วงศ์ย่อย | Felinae |
สกุล | Leptailurus |
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 17 ต.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 27 ต.ค. 66