ชะมดแผงหางปล้อง
Large Indian Civet
Viverra zibetha
ชะมดแผงหางปล้องเป็นชะมดขนาดใหญ่ ตัวเต็มวัยหนัก 5-11 กิโลกรัม โดยทั่วไปคล้ายชะมดแผงสันหางดำ (Viverra megaspila ) มาก ลำตัวสีเทาอมน้ำตาล ความยาวหัว-ลำตัว 86 เซนติเมตร หางยาว 33 เซนติเมตร ตามลำตัวมีลายจุดเล็กทั่วทั้งตัว ข้างคอมีลายแถบขาวดำ ส่วนใหญ่มีแถบขาวสองแถบและแถบดำสามแถบ หางมีลายขาวดำสลับกันเป็นปล้อง ขาทั้งสี่สีเข้ม ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย
ชะมดแผงหางปล้องมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศภูฏานบังกลาเทศ จีน เกาะไหหลำ อินเดีย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย พม่า เนปาล สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม พบได้ในป่าหลายประเภท ตั้งแต่ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าชั้นสอง ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกหรือแม้แต่ใกล้ชุมชนมนุษย์ พบได้สูงสุดถึง 1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
เป็นสัตว์หากินลำพังออกหากินเวลากลางคืนเป็นหลัก อาจพบในเวลากลางวันบ้าง พบบนพื้นดินเป็นหลักแต่ก็ปีนต้นไม้ได้ อาหารหลักคือสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ปลา นก กิ้งก่า กบ แมลง ปู บางครั้งก็บุกเข้าไปจับเป็ดไก่ในฟาร์มของชาวบ้าน หรือบางครั้งก็คุ้ยขยะกินด้วย ชะมดแผงหางปล้องล่าเหยื่อด้วยการคาบแล้วสะบัดจนกระดูกสันหลังหลุด จากการศึกษาโดยติดตามด้วยปลอกคอวิทยุในประเทศไทย พบว่าชะมดแผงหางปล้องตัวผู้ตัวหนึ่งใช้พื้นที่หากินราว 12 ตารางกิโลเมตร
ตัวเมียติดสัดได้ปีละหลายครั้งจึงผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ปีหนึ่งออกลูกได้สองครอก ครอกละ 2-4 ตัว แม่ชะมดออกลูกและเลี้ยงดูลูกในโพรงที่มักเป็นโพรงเก่าของสัตว์อื่น ลูกชะมดแรกเกิดหนักไม่ถึง 100 กรัม เปิดตาได้เมื่ออายุได้สิบวัน เมื่ออายุได้ 12 วันน้ำหนักก็จะมากเป็นสองเท่าของน้ำหนักแรกเกิด เมื่ออายุได้หนึ่งเดือนก็หนักเป็นสี่เท่าของแรกเกิดและหย่านมได้ ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุได้มากถึง 20 ปี
น้ำมันชะมดของชะมดแผงหางปล้องก็ใช้ประโยชน์ได้เช่นกันแต่มีการใช้กันไม่มากเท่ากับน้ำมันที่ได้จากชะมดเช็ด
การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามหลักต่อสัตว์ชนิดนี้นอกจากนี้ชาวบ้านหลายพื้นที่ก็กินเนื้อชะมดด้วย โดยเฉพาะในจีนและเวียดนามที่ความต้องการกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามสถานการณ์โดยรวมยังไม่ถือว่าแย่เกินไป ชะมดแผงหางปล้องยังคงพบได้ทั่วไปในเขตกระจายพันธุ์ ภาพถ่ายจากกล้องดักจับสัตว์มักติดภาพของสัตว์ชนิดนี้อยู่เสมอ ยกเว้นเพียงบางพื้นที่เท่านั้นเช่นในตอนใต้ของประเทศจีนที่ประชากรหายไป
ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพประชากรไว้ว่าใกล้ถูกคุกคาม (2558) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 3 ในไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ชะมดแผงหางปล้อง (Viverra zibetha ) (ภาพโดย นรา จิตต์สม)
ชะมดแผงหางปล้องมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศภูฏาน
เป็นสัตว์หากินลำพัง
ตัวเมียติดสัดได้ปีละหลายครั้ง
น้ำมันชะมดของชะมดแผงหางปล้องก็ใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามหลักต่อสัตว์ชนิดนี้
ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพประชากรไว้ว่า
ภาพชะมดแผงหางปล้องในโซเชียลมีเดีย
Viverra zibetha | |
---|---|
ชื่อไทย | ชะมดแผงหางปล้อง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Viverra zibetha |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Viverridae |
วงศ์ย่อย | Viverrinae |
สกุล | Viverra |
ข้อมูลอ้างอิง
- Large Indian Civet จาก IUCN Red List
- Viverra zibetha จาก animaldiversity.org