ชะนีมือขาว
Lar gibbon, white-handed gibbon, common gibbon
Hylobates lar
ชะนีมือขาว (Hylobates lar) (ภาพโดย นรา จิตต์สม)
ชะนีมือขาวตัวผู้หนักเฉลี่ย
5.0-7.6 กิโลกรัม ตัวเมียหนักเฉลี่ย 4.4-6.8 กิโลกรัม ความยาวหัว-ลำตัว 43.5-58.5 เซนติเมตร ตัวเมีย 42.0-58.0 เซนติเมตร ไม่มีหาง มีสีสองแบบ คือน้ำตาลเข้มจนถึงดำแบบหนึ่ง หรือสีเนื้ออมแดงและวงหน้าขาวอีกแบบหนึ่ง มือและตีนสีขาว รูปแบบของสีไม่เกี่ยวข้องกับเพศ
พบในป่าหลายประเภท เช่น ป่าเต็งรัง ป่าดิบ ป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ ป่าพรุ ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ต่ำกว่า 1,200 เมตร กระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า และไทย ในจีนเคยพบแต่เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว หรืออาจจะหลงเหลืออยู่ในตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน ในประเทศไทยพบทุกภาคยกเว้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ชะนีมือขาวมี 4 ชนิดย่อย แต่ละชนิดย่อยมีลักษณะใกล้เคียงกันมากจนจำแนกด้วยสัญฐานวิทยาได้ยาก ชนิดย่อย H. l. lar อาศัยอยู่ในคาบสมุทรมลายูและอาจรวมถึงไทย ชนิดย่อย H. l. carpenteri พบในประเทศพม่า ตะวันตกของลาว และตอนเหนือของประเทศไทย ชนิดย่อย H. l. entelloides พบในตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ภาคกลาง และภาคใต้ของไทย ชนิดย่อย H. l. vestitus พบในตอนเหนือของเกาะสุมาตรา
ชะนีมือขาวอาศัยกันเป็นครอบครัว ฝูงหนึ่งประกอบด้วยพ่อแม่ชะนีและลูก ๆ เป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว เมื่อจับคู่แล้ว ก็มักจะอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดิมตลอดชีวิต เมื่อลูกโตขึ้นมาจนหากินเองได้ก็จะแยกตัวออกไป เคยมีการพบคู่ผัวเมียชะนีที่ต้องมีอันเลิกรากันบ้างเหมือนกัน เมือแยกทางกันไปแล้วแต่ละฝ่ายก็อาจจับคู่ใหม่ได้
เช่นเดียวกับชะนีทุกชนิด ที่ประกาศอาณาเขตด้วยเสียงร้องที่ดังก้องไปทั้งป่า เสียงร้องประกาศอาณาเขตนี้มักเป็นเสียงร้องคู่ประสานกันระหว่างผัวเมีย
ชะนีหากินเวลากลางวันเป็นหลัก กิจกรรมของวันเริ่มต้นขึ้นก่อนรุ่งสางด้วยเสียงร้องของตัวผู้ตัวเดียวในฝูง เมื่อถึงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น ทุกตัวในฝูงจะตื่นหมด จะเริ่มกิจวัตรด้วยการห้อยโหนไปมาพร้อมกับขับถ่าย ก่อนที่จะออกไปหากิน
ชะนีมือขาวเป็นวานรช่างเลือกในเรื่องอาหารการกินมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีพืชมากกว่า 100 ชนิดที่ชะนีเลือกกิน อาหารส่วนใหญ่เป็นผลไม้สุก โดยเฉพาะลูกไทรที่ดูจะเป็นอาหารที่ชะนีมือขาวโปรดปรานที่สุด ถ้าเป็นใบไม้ ก็จะกินเฉพาะใบอ่อนและยอดอ่อนเท่านั้น นอกจากนี้ยังกินแมลงและไข่นกด้วย
ชะนีเคลื่อนที่เดินทางด้วยการห้อยโหนไปตามกิ่งไม้ บางครั้งอาจเดินบ้าง ซึ่งเดินได้ทั้งแบบสี่ขาและสองขา พื้นที่หากินของชะนีมือขาวกว้างประมาณ 0.4 ตารางกิโลเมตร เดินทางหากินวันละประมาณ 1.4 กิโลเมตร เสียงร้องในช่วงกลางวันมักเป็นเสียงโต้ตอบกันระหว่างชะนีหนุ่มสาว
นอกจากเสียงร้องแล้ว ชะนียังแสดงอารมณ์ด้วยสีหน้าและท่าทางได้เหมือนมนุษย์อีกด้วย
บางครั้งชะนีมือขาวก็อาจหากินร่วมกับวานรชนิดอื่นด้วย เช่น ลิงอุรังอุตัง ไซแมง ชะนีมงกุฎ ค่าง ลิงลม ลิงกัง
ยามนอน ชะนีในฝูงจะนอนบนต้นไม้ใกล้ ๆ กัน โดยมักเลือกต้นที่สูงที่สุดที่อยู่บนพื้นที่ลาดชันเป็นเรือนนอน
ชะนีมือขาวไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน ตั้งท้องได้ประมาณสองปีครั้ง แม่ชะนีตั้งท้องนานประมาณ 7 เดือน ลูกชะนีหย่านมได้เมื่ออายุ 2 ปี หลังจากหย่านมแล้วก็จะยังคงหากินอยู่กับฝูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง ชะนีเด็ก ๆ จะได้รับการดูแลไม่เพียงจากแม่เท่านั้น พ่อและพี่ก็จะมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ด้วย แม้ชะนีวัยรุ่นจะหากินและดูแลตัวเองได้ตั้งแต่อายุน้อย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะยังไม่แยกตัวออกจากฝูงจนกว่าจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งอยู่ราวปีที่ 8
ในธรรมชาติคาดว่าชะนีมือขาวมีอายุขัยราว 25 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยง อาจมีอายุได้มากถึง 50 ปี
แม้ชะนีอาศัยจะอยู่บนเรือนยอดของต้นไม้ ซึ่งปลอดภัยจากผู้ล่าหลายชนิด แต่ก็อาจตกเป็นเหยื่อของงูใหญ่เช่นงูเหลือมและงูหลาม นกนักล่าจำพวกเหยี่ยว เสือและแมวบางชนิดก็เก่งพอที่จะล่าชะนีได้ เช่นเสือดาว เสือไฟ และแมวลายหินอ่อน ภัยคุกคามต่อชะนีที่สำคัญก็คือจากการล่าโดยมนุษย์ บางพื้นที่นิยมกินเนื้อชะนี รวมถึงความนิยมจับลูกชะนีมาเลี้ยงของคนเมืองก็คุกคามชีวิตชะนีเช่นกัน เพราะชะนีจำนวนมากต้องตายไประหว่างการจับกุมและการขนส่ง ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ชะนีมือขาวอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ไอยูซีเอ็นประเมินจำนวนประชากรว่าอันตราย ในประเทศไทย คาดว่ายังมีประชากรชะนีมือขาวอยู่ประมาณ 15,000-20,000 ตัว
Hylobates lar |
ชื่อไทย | ชะนีมือขาว |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Hylobates lar |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Primates |
วงศ์ | Hylobatidae |
สกุล | Hylobates |
ข้อมูลอ้างอิง
- Lar gibbon จาก Primate Info Net (http://pin.primate.wisc.edu)
- Hylobates lar จาก Animal Diversity Web (http://animaldiversity.ummz.umich.edu)
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 15 ต.ค. 66