สถานการณ์นกแต้วแร้ววิกฤติ เหลือไม่ถึงสิบ

วันที่ 25 มกราคม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เรื่องสถานการณ์นกแต้วแร้วท้องดำว่าอยู่ในสถานะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง โดยเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ กว่า 10 คู่ แต่ล่าสุดสำรวจพบ 3-4 ตัวเท่านั้น เป็นสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก โดยเร็วๆนี้ สำนักอนุรักษ์สัตว์ โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกแต้วแร้วจะลงพื้นที่สำรวจ หาทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เป้าหมายก็คือ ต้องเพิ่มจำนวนประชากรนกแต้วแร้วท้องดำให้ได้


นายศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า นกแต้วแร้วท้องดำเป็นสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าลุ่มต่ำ ที่เวลานี้พบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม เขานอจู้จี้ จ.กระบี่ ปัญหาหลักที่ทำให้นกแต้วแร้ว หายไปจากธรรมชาติจนเกือบหมดนั้น เกิดจากพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยถูกบุกรุกเป็นหลัก รวมไปถึงความไม่เข้าใจของคนในพื้นที่สำหรับเรื่องการประกาศพื้นที่อนุรักษ์บริเวณที่อาศัยของนกแต้วแร้วท้องดำ ทำให้เข้าใจผิดกันว่านกทำให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่นั้น เรื่องเหล่านี้ต้องไปสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสัตว์ชนิดนี้เอาไว้ด้วย

"เวลานี้ทางหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม เขายืนยันแล้วว่า เรื่องการบุกรุกพื้นที่นั้นตอนนี้ไม่มีแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ดี ที่เราจะต้องเข้าไปดำเนินการเรื่องของการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน หาแนวร่วมที่ดีที่สุด สำหรับช่วยกันอนุรักษ์นกแต้วแร้วให้มีชีวิตรอดให้มากที่สุด เป็นเป้าหมายหลักของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเลยว่าเราจะต้องทำเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งผมเองเชื่อว่าโดยศักยภาพของนักวิจัย และทีมงานของกรมอุทยานแล้วเราสามารถทำได้ ซึ่งเคยทำได้มาแล้ว"นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ความทุ่มเท ที่นักวิจัยของกรมอุทยานมีให้ต่อการอนุรักษ์นกแต้วแร้วท้องดำก่อนหน้านี้ เป็นความประทับใจที่หลายคนยังไม่เคยรู้

"ก่อนหน้านี้เราเจอนกแต้วแร้วท้องดำคู่สุดท้าย ลูกนกเพิ่งจะฟักออกมาจากไข่ คนของเราต้องไปกางเต็นท์เฝ้ากันเลยทีเดียว มีกันอยู่ คน ผลัดเวรกันเฝ้าคนละ ชั่วโมง ส่องกล้องดูกัน 24 ชั่วโมง ด้วยความที่กลัวลูกนกตาย มีอยู่วันหนึ่งส่องกล้องไปเจองูทางมะพร้าวเลื้อยจะเข้ามากินลูกนกขณะที่แม่นกไม่อยู่ ก็ต้องวิ่งไปไล่งู จากนั้นด้วยความที่กลัวว่าจะเกิดเหตุการแบบนี้ขึ้นมาอีก ตอนกลางคืนเราก็ไปเอาลูกนกมาดูแลเอง เนื่องจากแม่นกจะไม่กกลูก พอตอนเช้ามืดก็เอาไปคืนไว้ที่เดิม  นักวิจัยทั้ง คน ก็ไปไหนไม่ได้ เฝ้าลูกนกในป่า 2-3 เดือน ทำแบบนี้จนลูกนกโต ติดบ่วงขาได้ และสามารถติดตามวิถีการดำรงชีวิตของมันได้ ถือเป็นความทุ่มเทและเสียสละของนักวิจัยอย่างยิ่ง ซึ่งบอกให้รู้ว่า การจะรู้อะไร หรือได้อะไรมา ที่บางคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เบื้องหลังการได้มาต้องใช้ความพยายามอย่างมาก" นายศักดิ์สิทธิกล่าว

เขียนโดย ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่ : 27 ม.ค. 60 แก้ไขครั้งล่าสุด : 29 ม.ค. 60

Powered by Wimut Wasalai