นกกระเรียน

Sarus Crane

Grus antigone

นกกระเรียน (Grus antigoneที่อ่างเก็บน้ำสนามบิน จ.บุรีรัมย์ (ภาพโดย นรา จิตต์สม)


นกกระเรียน เป็นนกในตระกูลนกกระเรียนที่สูงที่สุด และเป็นนกบินได้ที่สูงที่สุดในโลก มีความสูงถึง 176 เซนติเมตร หนัก 6.35 กิโลกรัม ปีกกว้าง 240 เซนติเมตร ลำตัวสีเทาอ่อน กระหม่อมไม่มีขน มีหนังเปลือยเปล่าสีอมเขียว ส่วนคอและใบหน้าเปลือยเปล่า หนังขุขระสีแดงหรือส้ม ที่หูมีกระจุกขนสีขาวอมเทาขนาดเล็ก

นกกระเรียนพันธุ์อินเดีย (G. a. antigoneมีขนรอบคอสีขาว ขาและนิ้วสีแดง ตัวผู้และตัวเมียลักษณะเกือบเหมือนกัน ตัวเมียเล็กกว่าเล็กน้อย พันธุ์อินเดียกระจายพันธุ์อยู่ในที่ราบทางเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกของประเทศอินเดีย และทางตะวันตกของที่ราบต่ำทีไร (Terai) ในประเทศเนปาล พบบ้างในประเทศปากีสถาน  นกกระเรียนที่พบในประเทศไทยคือนกกระเรียนพันธุ์ตะวันออก (G. a. sharpiiเคยอาศัยอยู่ทั่วไปในคาบสุมทรอินโดจีน แต่ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมาจำนวนได้ลดลงอย่างมาก ปัจจุบันเหลืออยู่บ้างในประเทศพม่า เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนในมณฑลยูนนานของประเทศจีนและประเทศลาวอาจเหลือน้อยมากหรืออาจหมดไปแล้ว ส่วนในประเทศไทยได้สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 20 แล้ว นกกระเรียนอีกพันธุ์หนึ่งคือนกกระเรียนพันธุ์ออสเตรเลีย (G. a. gilliอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย

นกกระเรียนอาศัยอยู่ในพื้นที่หลายประเภท แต่พื้นที่ที่ชอบที่สุดได้แก่หนองน้ำขนาดเล็กที่มีเฉพาะฤดูกาล พื้นที่ราบที่ถูกน้ำท่วม พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลมาก ไร่ที่เพิ่งไถ และทุ่งนา ชอบกินหัวพืชใต้ดิน และกินสัตว์ขนาดเล็กด้วย

ในประเทศอินเดีย นกกระเรียนส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่น แต่นกกระเรียนในอินโดจีนและออสเตรเลียอาจมีการย้ายถิ่นตามฤดูกาล นกกระเรียนอินเดียค่อนข้างปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ดี นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่อยู่ในบางส่วนของประเทศพม่าก็ปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ดีเช่นกัน

การเกี้ยวพาราสีของนกกระเรียนน่าชมและน่าฟังมาก นกกระเรียนทุกชนิดจะขับร้องเพลงเป็นเพลงเสียงประสาน น้ำเสียงของตัวผู้และตัวเมียต่างกันแต่ร้องในทำนองเดียวกันและประสานกันอย่างพร้อมเพรียง ทั้งคู่จะทำท่าทางเหมือนเต้นรำโดยแอ่นคอโค้งไปด้านหลังจนปากชี้ฟ้าและส่งเสียงร้อง ขณะเต้นรำตัวผู้จะเหยียดปีกลู่ไปด้านหลัง ส่วนตัวเมียจะเก็บปีกไว้เสมอ นอกจากการเต้นรำแล้วนกกระเรียนอาจแสดงกริยาอย่างอื่นอีกเช่น กระโดด วิ่ง ก้มหัว จิกหรือพุ้ยหญ้า และกระพือปีก

สถานที่ทำรังของนกกระเรียนมีหลายที่ เช่น ข้างลำคลอง กลางทุ่งนา บางครั้งทำรังอยู่บนที่น้ำตื้นที่มีพืชน้ำโผล่พ้นน้ำขึ้นมา ในอินเดียนกกระเรียนทำรังด้วยต้นข้าวในทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง

แม่นกมักวางไข่ครั้งละ ฟอง ทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันกกไข่เป็นเวลาประมาณ 31-34 วัน ระหว่างนี้ตัวผู้มักต้องรับบทเป็นผู้ปกป้องรังจากอันตรายรอบด้านด้วย ลูกนกจะเริ่มบินได้เมื่ออายุได้ 50-65 วัน

ภัยหลักที่คุกคามนกกระเรียนคือการที่พื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลาย การลักลอบจับลูกนกไปขายก็ทำให้จำนวนของนกกระเรียนลดลง ปัจจุบันคาดว่าจำนวนประชากรนกกระเรียนในโลกอยู่ในช่วง 15,500-20,000 ตัว มีแนวโน้มลดลงและเสี่ยงสูญพันธุ์ ไซเตสจัดนกกระเรียนไว้ในบัญชีหมายเลขสอง เป็นหนึ่งใน 15 สัตว์ป่าสงวนของไทย

ข้อมูลอ้างอิง

  • Sarus Crane จาก International Crane Foudation (http://www.savingcranes.org/index.cfm)

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 24 ส.ค. 64

Powered by Wimut Wasalai