แมวภูเขาจีน, แมวทะเลทรายจีน

Chinese Mountain Cat, Chinese desert cat

Felis bieti

ลักษณะทั่วไป

แมวภูเขาจีนมีอีกชื่อหนึ่งว่าแมวทะเลทรายจีน เป็นแมวอีกชนิดหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์มีข้อมูลน้อยมาก บางคนคาดว่าแมวภูเขาจีนอาจเป็นเพียงชนิดย่อยของแมวป่ายุโรป (Felis silvestrisและบางคนเชื่อว่าน่าจะมีสายเลือดใกล้ชิดกับแมวป่า แมวป่ายุโรป และแมวทราย แต่ยังไม่แน่ชัดเนื่องจากยังไม่มีการวิเคราะห์ทางโครโมโซม



แมวภูเขาจีนเป็นแมวขนาดกลาง ตัวใหญ่กว่าแมวป่ายุโรปเล็กน้อย รูปร่างอ้วนล่ำ  ตัวยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ขาค่อนข้างสั้นและมีลายจาง ขนชั้นในหนานุ่ม ขนชั้นนอกยาวและหนา โดยทั่วไปสีเทาอมเหลืองแซมดำ บริเวณหลังดำกว่าที่อื่น ใต้ลำตัวสีขาวหรือเทาอ่อน บางตัวมีลายสีน้ำตาลบริเวณสีข้างและแก้ม ในฤดูหนาวขนเปลี่ยนเป็นสีเทาซีด ในฤดูร้อนสีขนจะเข้มขึ้น มีลายแถบตามแนวนอนจาง ๆ บริเวณข้างลำตัวและขา หูสั้นและมีขนสีดำหรือสีน้ำตาลเข้มชี้ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร บริเวณใต้หูมีสีน้ำตาลแดง หลังหูสีเข้มเหมือนสันหลัง ตีนปกคลุมด้วยขนยาว คาดว่าเป็นการปรับตัวเพื่อเดินทางในพื้นที่ลื่น แต่ไม่มากเท่ากับของแมวทรายหรือแมวขาดำ หางค่อนข้างสั้นและฟู ยาวประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของความยาวหัว-ลำตัว มีลายเป็นปล้องสีเทาเข้มประมาณ 5-6 ปล้อง ปลายหางทื่อ สีดำ   ตัวผู้หนัก กิโลกรัม ตัวเมีย 6.5 กิโลกรัม

ชื่อเรียกแมวภูเขาจีนในภาษาต่าง 
ฝรั่งเศสchat de Biet
เยอรมันGraukatze
สเปนgato de Biet, gato del deserto de China
จีน荒漠猫
คาซัคshel misigi
อุยกูร์qel müshüki


ถิ่นที่อยู่อาศัย

แม้จะมีชื่อว่าแมวภูเขาจีนและแมวทะเลทรายจีนตามภาษาอังกฤษว่า Chinese mountain cat กับ Chinese desert cat แต่แมวชนิดนี้มักไม่อยู่ตามภูเขาชันและทะเลทราย แต่มักพบตามทุ่งหญ้าสเต็ปป์ ทุ่งอัลไพน์และป่าทึบ ป่าไผ่ หรือริมเขาที่มีไม้พุ่มทั่วไป พบได้สูงถึง 4,100 เมตร มีเขตกระจายพันธุ์ค่อนข้างจำกัด เป็นแมวป่าสัญชาติจีนโดยแท้ พบเฉพาะตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบสูงทิเบต มณฑลเสฉวน และมณฑลชิงไห่ เทือกเขาต้าทงและต๋าปั่นแถบซีหนิงที่ระดับความสูง 2,800-4,100 เมตร เทือกเขาทางตอนใต้ของกานซู่ ภูเขาใกล้หลันโจว เมืองหลวงของชิงไห่ เขตกระจายพันธุ์ทางเหนือแพร่ไปไกลถึงบริเวณที่ราบกึ่งทะเลทราย <!--(F.b. chutuchta and F.b. vellerosa: Pocock 1951)--> พื้นที่อยู่นี้เป็นที่ภูมิอากาศโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีฤดูร้อนที่ร้อนจัดและมีฤดูหนาวที่หนาวจนอุณหภูมิติดลบ มีลมที่พัดความแห้งแล้งมาตลอดทั้งปี 

เขตกระจายพันธุ์ของแมวภูเขาจีน 


มีรายงานไม่เป็นที่ยืนยันว่าพบทางตอนเหนือของที่ราบสูงทิเบต แถบเทือกเขาพามี๋เอ่อและคุนหลุนในมณฑลซินเจียงด้วย 

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เคยมีผู้พบซากแมวภูเขาจีนวางขายอยู่ในตลาดขนสัตว์ในต่าเจี้ยนหลูและซงพานซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าไผ่ซึ่งเป็นที่อยู่ของหมีแพนด้า อย่างไรก็ตาม ซากนั้นอาจไม่ได้เก็บมาจากท้องถิ่นบริเวณนี้ก็ได้

อุปนิสัย




ข้อมูลด้านอุปนิสัยส่วนใหญ่ได้มาจากการสังเกตในกรงเลี้ยงของสวนสัตว์ซีหนิงซึ่งเคยเลี้ยงแมวภูเขาจีนมา 34 ตัวนับตั้งแต่ปี 1973 ถึง 1985 แมวทะเลทรายจีนหากินเวลากลางคืน มักพบหากินตอนหัวค่ำและก่อนรุ่งสาง พักผ่อนและเลี้ยงลูกตามโพรง โดยเฉพาะโพรงที่หันหน้าไปทางทิศใต้ โพรงของตัวเมียค่อนข้างลึกกว่า ปลอดภัยกว่า และมีทางเข้าเพียงทางเดียว 

จากการวิเคราะห์ขี้ของแมว พบว่าอาหารราว 90 เปอร์เซ็นต์คือสัตว์ฟันแทะ อาหารหลักคือ หนูตุ่น (mole rat) หนู โวลป่าสนหางขาว (white-tailed pine vole) กระต่ายพิกา และนก การล่าหนูตุ่นจะอาศัยการฟังเสียงเคลื่อนไหวของเหยื่อในอุโมงค์ใต้ดินที่ลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร เมื่อหาตำแหน่งได้ก็จะขุดจับเหยื่อขึ้นมา 

ชีววิทยา

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ราวเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ออกลูกราวเดือนพฤษภาคม ออกลูกครั้งละ 2-4 ตัว ลูกแมวถึงวัยเป็นอิสระจากแม่เมื่ออายุได้ 7-8 เดือน 

ภัยที่คุกคาม

ในปี 2501 มีการวางยาเบื่อครั้งใหญ่เพื่อกำจัดกระต่ายพิกาซึ่งจีนถือเป็นสัตว์รบกวน เพราะแย่งหญ้ากินกับปศุสัตว์  แต่กระต่ายพิกาเป็นสัตว์เหยื่อที่สำคัญของแมวภูเขาจีนด้วย โครงการนี้จึงส่งผลต่อแมวภูเขาจีนอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตามการวางยานี้ยุติลงในปี 2521 เนื่องจากพบว่ายานี้ได้ฆ่าสัตว์ที่ล่าพิกาเป็นอาหารด้วย

การล่าเพื่อเอาหนังก็เป็นภัยคุกคามแมวภูเขาจีน ปัจจุบันยังพบขนของแมวชนิดนี้วางขายอยู่ทั่วไปในตลาดของซีหนิง

สถานภาพ

สถานภาพและจำนวนประชากรของแมวชนิดนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด และไม่มีบันทึกการพบเห็นในพื้นที่คุ้มครอง แต่ยังมีการพบหนังของแมวชนิดนี้มาวางขายตามตลาดท้องถิ่นบ่อย ๆ 

กฎหมายจีนให้การคุ้มครองทั่วพื้นที่ ไซเตสจัดชื่อแมวภูเขาจีนไว้ในบัญชีหมายเลข 2
Felis bieti
ชื่อไทยแมวภูเขาจีน, แมวทะเลทรายจีน
ชื่อวิทยาศาสตร์Felis bieti
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลFelis

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/chinacat.htm
  • http://www.canuck.com/iseccan/chinese.html
  • Wild Cats of the World, Mel Sunquist and Fiona Sunquist, the University of Chicago press.
  • http://lynx.uio.no/catfolk/bieti-01.htm
  • http://www.canuck.com/iseccan/where.html

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 21 ก.ย. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 10 ม.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai