แมวป่ายุโรป

European Wildcat

Felis silvestris

แมวป่ายุโรปมีขนาดใหญ่กว่าแมวบ้านเล็กน้อย สัดส่วนความยาวขาจะยาวกว่าแมวบ้าน มีหัวกว้าง ใบหูใหญ่ ขนหนาแน่น สั้นและอ่อนนุ่ม มีสีน้ำตาลอมเทา ซึ่งจะยาวขึ้นในฤดูหนาว หางฟูและมีลายเป็นปล้อง ปลายหางสีดำ บางตัวมีจุดสีขาวที่คอ ตัวผู้หนัก 4-5 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 2.4-4 กิโลกรัม ความยาวหัว-ลำตัว 50-75 เซนติเมตร หางยาว 21-35 เซนติเมตร

Lviatour, CC BY-SA 3.0 <https://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0>, via Wikimedia Commons (ภาพโดย Luc Viatour)


อนุกรมวิธาน

อนุกรมวิธานของแมวป่ายุโรปเคยเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า แมวป่ายุโรปเป็นบรรพบุรุษของแมวบ้าน โดยแยกแมวบ้านไว้เป็นชนิดย่อยของแมวป่ายุโรป (F. s. catus) แต่บางคนจัดไว้เป็นคนละชนิดกันโดยให้แมวบ้านอยู่ในชนิด F. catus นักวิทยาศาสตร์บางคนจัดเอาแมวภูเขาจีนไว้เป็นชนิดย่อยของแมวป่ายุโรป (F. s. bietiด้วย

ครั้งหนึ่ง แมวป่ายุโรป เคยจัดเป็นชนิดหน่อยหนึ่งของแมวป่า1ร่วมกับแมวป่าเอเชียและแมวป่าแอฟริกา ในปี 2560 มีการจัดอนุกรมวิธานของแมวป่ายุโรปเสียใหม่ โดยให้แยกแมวป่ายุโรปออกมาเป็นชนิดต่างหาก และมีสองชนิดย่อยคือ F. s. silvestris อาศัยอยู่ในทวีปยุโรป และ F. s. caucasica อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอานาโตเลียและภูมิภาคคอเคซัส สองชนิดย่อยนี้มีสัญฐานภายนอกเกือบเหมือนกัน ส่วนแมวป่าแอฟริกาและแมวป่าเอเชียยุบเข้าเป็นชนิดเดียวกันเป็นแมวป่าแอฟโฟร-เอเชียติก (Felis lybica)

เคยเป็นที่เข้าใจว่าแมวบ้านสืบเชื้อสายมาจากแมวป่ายุโรป แต่การจัดอนุกรมวิธานใหม่นี้ ทำให้แมวป่ายุโรปไม่ใช่บรรพบุรุษของแมวบ้าน บรรพบุรุษของแมวบ้านที่แท้จริงคือแมวป่าแอฟโฟร-เอเชียติก อย่างไรก็ตาม แมวป่ายุโรปยังผสมข้ามพันธุ์กับแมวป่าแอฟโฟร-เอเชียติกและแมวบ้านได้ 

 (ภาพโดย By Michael Gäbler, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=9504184)



ชื่อเรียกแมวป่ายุโรปในภาษาอื่น

อาร์เมเนียvairi katu, antarayin katu
บัลแกเรียdiwa kotka
คอร์ซิกาghjattu volpe
เชคkoka divoká
ดัตช์Wilde kat
ฝรั่งเศสchat forestier, chat silvestre
จอร์เจียtkis cata
เยอรมันWildkatze
ฮังการีvadmacska
อิตาลีgatto selvatico
โปแลนbik
โปรตุเกสgato bravo
โรมาเนียpisic slbtic
รัสเซียdikaja koschka
สโลวะเกียmaka diva
สเปนgato montés, gato silvestre
ตุรกีyaban kedisi
วัลลูน (เบลเยียม)sauvadge tché


เขตกระจายพันธุ์ของแมวป่ายุโรป พื้นที่สีแดงคือพื้นที่ที่พบแมวป่ายุโรปในปัจจุบัน พื้นที่สีเหลืองคือบริเวณที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว (ภาพโดย CAT Specialist Group)


อุปนิสัย


แมวป่ายุโรปเป็นแมวรักสันโดษยิ่งกว่าแมวบ้าน พื้นที่หากินของแมวตัวผู้จะซ้อนเหลื่อมกับพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว มันมักพ่นละอองปัสสาวะตามสิ่งต่าง ๆ เพื่อสื่อสารถึงแมวตัวอื่น เช่นใช้ประกาศอาณาเขต และเพื่อแสดงสถานะความพร้อมในการผสมพันธุ์ แมวมีต่อมกลิ่นบริเวณหน้าผาก ข้างปาก และโคนหาง ซึ่งจะใช้ต่อมกลิ่นถูกกับสิ่งต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกับแมวตัวอื่นด้วย

มีประสาทรับกลิ่นและเสียงที่ดีมาก หูบิดไปมาได้อย่างรวดเร็วเพื่อใช้ในการหาตำแหน่งของต้นเสียง หูแมวรับความถี่ได้ถึง 25,000 เฮิรตซ์ จึงฟังเสียงของสัตว์ฟันแทะได้ สายตาของแมวป่ายุโรปก็นับว่าดีแม้จะยังเป็นรองสายตามนุษย์ แมวรับรู้สีได้น้อยกว่ามนุษย์ ตำแหน่งของลูกตาเหมาะสำหรับการกะระยะของวัตถุที่อยู่เบื้องหน้า แต่ก็มีจุดบอดที่ใต้จมูกตัวเอง มองเห็นในที่มืดได้ดี 

สัตว์ฟันแทะ และกระต่าย ดูจะเป็นเหยื่อสุดโปรดของแมวป่ายุโรป นอกจากนี้ยังกินนก ลูกสัตว์กีบ สัตว์เลื้อยคลาน แมลง เคยมีคนเห็นแมวป่ายุโรปกินซากด้วย และพบว่ารู้วิธีซ่อนอาหารด้วย บางครั้งก็กินหญ้าเพื่อเก็บกวาดเอาสิ่งที่ย่อยไม่ได้ออกจากกระเพาะอาหาร เช่น กระดูก ขนสัตว์ แมวป่าจับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับตัวมันได้ แต่มักเลี่ยงที่จะแตะต้องสัตว์ที่มีเปลือกแข็ง มีหนาม หรือมีกลิ่นแรง 

ศัตรูในธรรมชาติของแมวป่าเช่น หมาจิ้งจอก หมาป่า นกล่าเหยื่อขนาดใหญ่ 

ชีววิทยาของแมวป่ายุโรป


ช่วงติดสัดของตัวเมีย แมวตัวผู้จะพยายามเข้าหาตัวเมีย โดยอาจใช้วิธีหวีดร้อง คราง เพื่อดึงดูดความสนใจ และอาจต้องต่อสู้กับตัวผู้ตัวอื่นเพื่อแย่งสิทธิ์ ในช่วงติดสัดแต่ละครั้งตัวเมียอาจผสมพันธุ์กับตัวผู้หลายตัว ดังนั้นในลูกแมวในแต่ละครอกอาจมีพ่อคนละตัวได้

ฤดูผสมพันธ์จะอยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูหนาว แม่แมวตั้งท้องนานราว 56-68 วัน ออกลูกในราวเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ  ออกลูกคราวละ 1-8 ตัว เฉลี่ย 3.4 ตัวต่อครอก โดยแม่แมวจะเลือกออกลูกในโพรงหรือในพุ่มไม้ที่รกทึบ ลูกแมวที่เพิ่งเกิดตายังปิดอยู่ เมื่ออายุได้ 10 วันตาจึงเริ่มเปิด ลูกแมวจะอยู่กับแม่เป็นเวลา เดือน บางกรณีอาจนานถึง 10 เดือน ก่อนจะถูกแม่ขับให้พ้นอ้อมอกไป ส่วนแมวตัวผู้ไม่มีส่วนในการเลี้ยงลูก แมวสาวจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 10-11 เดือน ส่วนตัวผู้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 9-22 เดือน 

ในธรรมชาติแมวป่ายุโรปมีอายุขัยประมาณ 15 ปี 



ภัยคุกคาม


ประชากรแมวป่ายุโรปในยุโรปตะวันตกและยุโรปตอนกลางหายไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และ 20 เนื่องจากชาวยุโรปมองว่าแมวชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสัตว์ในฟาร์ม นอกจากนี้ถิ่นที่อยู่อาศัยก็ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ภัยคุกคามอื่นเช่น ถูกรถชน ติดโรคมาจากแมวบ้าน 

ภัยคุกคามสำคัญอย่างหนึ่งต่อแมวป่ายุโรปคือจากการผสมข้ามพันธุ์กับแมวบ้าน ทำให้พันธุกรรมดั้งเดิมของแมวป่าหายไป บางประเทศเช่นที่สก็อตแลนด์พบว่าแมวป่ายุโรปถึง 80 เปอร์เซ็นต์มีสายเลือดของแมวบ้าน แมวป่ายุโรปเลือดแท้อาจยังพบได้ในยุโรปตะวันออก

สถานภาพ


จำนวนแมวป่ายุโรปหายไปจากหลายพื้นที่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา แต่ในกลางศตวรรษที่ 20 ประชากรแมวป่ายุโรปเริ่มกลับมาในหลายพื้นที่ (เช่น เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี สก็อตแลนด์ สโลวะเกีย รัสเซีย) แต่ในบางประเทศถึงกับสูญพันธุ์ฺไปแล้ว เช่นในออสเตรีย ความหนาแน่นประชากรแมวป่ายุโรปอยู่ที่ 9-50 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันคาดว่ามีประชากรในธรรมชาติไม่เกิน 2,500 ตัว ไอยูซีเอ็นประเมินว่าอยู่ในระดับอันตราย (2018) ปัจจุบันแมวป่ายุโรปได้รับการคุ้มครองในทุกประเทศของยุโรป 

หมายเหตุ

[1] คำว่า "แมวป่า" ในบทความนี้ หมายถึง Felis silvestris ในความหมายเดิมที่รวมเอาแมวป่ายุโรป แมวป่าเอเชีย และแมวป่าแอฟริกาไว้ด้วยกันโดยไม่ระบุชนิดย่อย ตามชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า (wildcat) แต่มิได้หมายถึง แมวป่า (Felis chausทีคนไทยเรียก เสือบอง หรือ เสือกระต่าย



Felis silvestris
ชื่อไทยแมวป่ายุโรป
ชื่อวิทยาศาสตร์Felis silvestris
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลFelis

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 15 เม.ย. 65 แก้ไขครั้งล่าสุด : 28 ต.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai