กระแตหางหนู

Northern smooth-tailed tree shrew

Dendrogale murina

กระแตหางหนูเป็นกระแตชนิดที่เล็กที่สุดในโลก ความยาวหัว-ลำตัวประมาณ 11.5 เซนติเมตร หางยาว 4-5 เซนตเมตร น้ำหนักประมาณ 35-55 กรัม ใบหน้ามีลาย (ต่างจากกระแต Dendrogale melanura ซึ่งไม่มีลายที่ใบหน้า) ลำตัวช่วงบนสีน้ำตาลเข้ม ส่วนล่างสีจาง ขนสั้นเกรียน ไม่มีลายที่หัวไหล่ หางสีเข้มและเข้มมากขึ้นทางปลาย อุ้งตีนค่อนข้างเล็ก

 (ภาพโดย Broobas)


กระแตหางหนูอาศัยอยู่ในป่าฝนเขตร้อนตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,500 เมตร มักอาศัยอยู่ในป่าดิบ บางแห่งพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าไผ่ชั้นสอง อาศัยได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล หากินอยู่ในระดับต่ำใกล้พื้นดินที่มีกิ่งไม้ระเกะระกะ มีเขตกระจายพันธุ์ในเวียดนามใต้ และพื้นที่เล็ก ๆ ในเวียดนามเหนือ ตอนใต้ของลาว กับพูชา ในไทยพบเฉพาะภาคตะวันออกแถบระยอง จันทบุรี และตราด



อาหารหลักของกระแตหางหนูคือผลไม้ สัตว์ขนาดเล็ก ระบบทางเดินอาหารเรียบง่ายมาก อาหารจึงเดินทางผ่านอย่างรวดเร็ว ดังนั้นกระแตหางหนูจึงต้องกินเกือบตลอดเวลาเพื่อให้ได้พลังงานอย่างเพียงพอ

กระแตหางหนูมีแนวโน้มจะเริ่มผสมพันธุ์ในช่วงที่ผลไม้ในท้องที่ออกผลมากที่สุด

มักให้ลูกแฝดสอง หย่านมเมื่ออายุได้ 30 วัน ลูกกระแตแรกเกิดหนัก 6-10 กรัม ไม่มีขนและตาปิด แม่กระแตให้น้ำนมจากหัวนมสองหัว น้ำนมจากแม่มีไขมันสูงมาก คู่กระแตหางหนูจะผสมพันธุ์และให้กำเนิดลูกเฉลี่ยทุก 45 วัน ลูกกระแตหางหนูเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้เพียง เดือน เมื่อถึงเวลานั้นก็จะถูกขับออกจากรังทันที กระแตหนุ่มสาวที่แยกออกมาหากินก็พร้อมจะหากินมองหาคู่ด้วยตัวเอง

ในแหล่งเพาะเลี้ยง กระแตหางหนูมีอายุขัย 9-10 ปี ในธรรมชาติอาจอยู่ได้ถึงกว่า 12 ปี

ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพประชากรไว้อยู่ในระดับ มีความเสี่ยงน้อย (2551) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 2
Dendrogale murina
ชื่อไทยกระแตหางหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์Dendrogale murina
ชั้นMammalia
อันดับScandentia
วงศ์Tupaiidae
สกุลDendrogale

เผยแพร่ : 30 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 31 ต.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai