กวางผา, ม้าเทวดา

Common goral , Goral, Thai Goral, Chinese Goral, Long-tailed Goral

Naemorhedus caudatus

 (ภาพโดย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย)


กวางผาเป็นสัตว์ตระกูลแพะเช่นเดียวกับเลียงผา รูปร่างทั่วไปคล้ายเลียงผา แต่กวางผามีขนาดเล็กกว่าราวครึ่งหนึ่ง มีคอเล็กกว่า หางยาวกว่า และขาสั้นกว่า ต่อมหัวตาที่เป็นช่องเปิดระหว่างจมูกและตาของกวางผาเล็กมาก กระดูกจมูกของกวางผาเป็นคนละชิ้นกับกระดูกหน้า ซึ่งต่างจากเลียงผา กวางผาในเมืองไทยมีความยาวลำตัว 80-120 เซนติเมตร หางยาว 7-20 เซนติเมตร หูยาว 10-14 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ 50-70 เซนติเมตร หนักราว 22-32 กิโลกรัม

ขนกวางผาหยาบยาวสีน้ำตาลอมเทา ขนหางฟูและดำ ใต้คางและอกมีสีน้ำตาลเข้มมีลายจาง ๆ บริเวณต้นขาสีเข้มและค่อย ๆ จางลงเมื่อไล่ลงไปถึงปลายขา เขาสีดำเขาโค้งไปด้านหลัง  กวางผาตัวเมียมักมีสีจางกว่าตัวผู้ เขาสั้นกว่าและมีพาลีไม่เด่นชัดเท่าตัวผู้

กวางผาอาศัยอยู่บนภูเขาสูง พบที่ระดับความสูง 3,300-13,500 ฟุตที่เป็นหน้าผาที่มีพืชขึ้นเป็นหย่อมและมีหลืบหินสำหรับหลบซ่อน อาศัยเป็นฝูงครอบครัวเล็ก ๆ ประมาณ 5-6 ตัว ส่วนตัวผู้จะหากินโดยลำพังยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น 

เขตกระจายพันธุ์แพร่ตั้งแต่เขตอัลซูรีในรัสเซีย แมนจูเรีย จีน เกาหลี ลงมาจนถึงพม่า และตะวันตกเฉียงเหนือของไทย ปัจจุบันในเมืองไทยพบกวางผาเฉพาะในเทือกเขาที่เป็นต้นน้ำปิงเท่านั้น

กวางผากินหญ้า ใบไม้ และผลไม้เป็นอาหาร มีสายตาดี จึงพึ่งพาประสาทการมองมากกว่าประสาทรับกลิ่นหรือประสาทรับฟัง ซึ่งต่างจากสัตว์หากินเป็นฝูงชนิดอื่น เมื่อตกใจกลัวจะทำตัวแข็งทื่อ หากภัยอันตรายเข้าใกล้ตัวมากจึงวิ่งหนีไป

 ฤดูผสมพันธุ์ของกวางผาอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ตั้งท้องนานประมาณ สัปดาห์ ออกลูกครั้งละตัว ลูกกวางผาจะอยู่กับแม่เป็นเวลาประมาณ เดือนแล้วจึงแยกย้ายไป พอถึงวัย 2-3 ขวบก็ผสมพันธุ์ได้แล้ว อายุขัยประมาณ 8-10 ปี 

เนื่องจากกวางผาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก จึงมีศัตรูในธรรมชาติน้อยมาก นอกจากเสือไฟเท่านั้น อย่างไรก็ตามกวางผาต้องประสบภัยคุกคามจากการล่าของมนุษย์ และการบุกรุกถางป่าก็ทำให้กวางผาไม่มีที่อยู่อาศัยจนกระทั่งปัจจุบันอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

กวางผาเป็นหนึ่งใน 15 สัตว์ป่าสงวนของไทย ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพไว้อยู่ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2547)

ทราบหรือไม่?


คำว่า goral มาจากภาษาฮินดี

ภาพกวางผาจากโซเชียลมีเดีย

Naemorhedus caudatus
ชื่อไทยกวางผา, ม้าเทวดา
ชื่อวิทยาศาสตร์Naemorhedus caudatus
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Bovidae
วงศ์ย่อยCaprinae
สกุลNaemorhedus

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 6 ม.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai