ควายป่า

Wild water buffalo

Bubalus bubalis

ควายป่ามีรูปร่างคล้ายควายบ้าน แต่ตัวใหญ่กว่ามาก หนักได้ถึง 800-1,200 กิโลกรัมในขณะที่ควายบ้านมักหนักไม่ถึง 500 กิโลกรัม ลำตัวยาว 2.4-3 เมตร แข็งแรง มีวงเขากว้างได้ถึงกว่าสองเมตร กว้างที่สุดในบรรดาสัตว์จำพวกวัวควายทั้งหมด สีลำตัวดำ หรือเทาเข้ม ขาทั้งสี่สีขาวหรือสีเทาเหมือนใส่ถุงเท้า ที่หน้าอกมีเสี้ยวแบบพระจันทร์เสี้ยวสีขาวเหมือนใส่สร้อยคอ

 (ภาพโดย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย)


ควายป่ามีนิสัยดุร้าย แม้จะมีขนาดใหญ่โตแต่ก็ปราดเปรียวมาก ชอบอาศัยอยู่ในป่าโปร่ง ทุ่งหญ้าที่ชื้นแฉะ กินหญ้าและพืชในน้ำเป็นอาหาร หากินเวลาเช้าและเย็น เวลากลางวันจะนอนในพุ่มไม้ที่รกทึบ หรือนอนแช่ปลัก บางครั้งอาจมุดหายไปในปลักทั้งตัวโดยโผล่จมูกขึ้นมาเท่านั้น การแช่ปลักนอกจากช่วยระบายความร้อนแล้ว ยังช่วยกำจัดแมลงรบกวนตามผิวหนังได้อีกด้วย

ปกติควายป่ามักชอบอยู่ที่ต่ำ แต่ในเนปาล ควายป่ามักพบในที่สูงถึง 2,800 เมตร

ควายป่าอาศัยกันเป็นฝูงโดยมีสมาชิกในฝูงเป็นตัวเมียและควายเด็ก มีตัวเมียเป็นจ่าฝูง ส่วนควายหนุ่มที่ไม่ได้ร่วมฝูงตัวเมียก็หากินโดยลำพัง หรืออาจรวมกลุ่มกันเป็นฝูงควายหนุ่มราวสิบตัว ในฤดูผสมพันธุ์จะอาศัยรวมฝูงกับตัวเมีย ควายหนุ่มจะมีการประลองกำลังกันเพื่อชิงสิทธิ์ในการครอบครองตัวเมีย แต่การต่อสู้นี้มักไม่ดุเดือดรุนแรงมากนัก 

เดิมควายป่ามีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตะวันออกของเนปาลและอินเดียมาจนถึงเวียดนาม ไปทางใต้จนถึงมาเลเซีย แต่ปัจจุบันพบได้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ในอินเดียพบในอัสสัมและมัธยประเทศ ควายป่าในพื้นที่นี้อาจไม่มีสายเลือดควายป่าแท้หลงเหลืออยู่เลยก็ได้ เนื่องจากมีการผสมกับควายบ้าน ส่วนพวกที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติมานัสของภูฏานยังเป็นพันธุ์แท้อยู่ ในประเทศไทยพบได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น จากการสำรวจเมื่อปี 2565 ประเมินว่ามีควายป่าในห้วยขาแข้ง 44-64 ตัว

ภัยคุกคามสำคัญที่สุดของควายป่าคือ การผสมข้ามพันธุ์กับควายบ้าน การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การล่า และการติดโรคและปรสิตที่ติดต่อมาจากควายบ้าน 

ในฤดูฝน ควายป่าตัวผู้จะเริ่มเข้าฝูงตัวเมียเพื่อผสมพันธุ์ แต่ไม่ได้มาครอบครองฝูงหรือตัวเมียตัวใด ตัวเมียจะติดสัดเป็นเวลา 11 จนถึง 72 ชั่วโมง ควายตัวผู้จะตรวจสอบความพร้อมของตัวเมียด้วยการดมปัสสาวะและก้น หลังจากผสมพันธุ์เสร็จแล้วตัวผู้จะถูกขับออกจากฝูง แม่ควายป่าตั้งท้องนาน 300-340 วัน ออกลูกครั้งละ ตัว ลูกควายหย่านมได้เมื่ออายุ 6-9 เดือน พออายุได้ 18 เดือนก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

ในธรรมชาติควายป่ามีอายุขัยประมาณ 25 แต่ในแหล่งเพาะเลี้ยงอาจอยู่ได้ถึง 29 ปี

ประเทศที่ยังพบควายป่ามากที่สุดคือในอินเดียและศรีลังกา ซึ่งมีประชากรอยู่ระดับหลักพันตัว ประเทศเนปาลก็ยังมีอยู่ประมาณ 220 ตัว นอกนั้นเหลือเพียงจำนวนน้อยหรือไม่ก็สูญพันธุ์ไปแล้ว ในไทยพบควายป่าเพียงแห่งเดียวคือที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีประชากรราว 40-50 ตัวเท่านั้น แต่ก็ยังดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ ในเวียดนามมีคนเห็นควายป่าครั้งสุดท้ายในปี 2542 และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นอีกเลย กัมพูชาอาจยังมีอยู่แต่ก็น้อยจนใกล้จะหมด ครั้งล่าสุดที่กล้องกับดักถ่ายภาพควายป่าได้คือในปี 2556 ในลาวไม่มีควายป่าเหลืออีกแล้ว ในพม่ายังพบควายป่าอยู่บริเวณชายแดนพม่ากับอินเดีย  ไอยูซีเอ็นประเมินว่า ประชากรควายป่าทั่วโลกไม่เกิน 4,000 ตัว จัดอยู่ในสถานะอันตราย (2559) ไทยจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน

ทราบหรือไม่?

ควายบ้านสืบเชื้อสายมาจากควายป่า มนุษย์รู้จักเอาควายป่ามาเลี้ยงมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว
มีหลักฐานทางโบราณคดีว่า ในมณฑลเจ้อเจียง ใกล้ปากแม่น้ำแยงซีเกียง มีการใช้งานควายเมื่อ 6,000-7,000 ปีมาแล้ว แต่บางทฤษฎีเชื่อว่าเป็นควายอีกชนิดหนึ่ง ควายเขาสั้น (Bubalus mephistopheles)
ควายป่าในประเทศไทย มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาควายป่าทั้งหมด
Bubalus bubalis
ชื่อไทยควายป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์Bubalus bubalis
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Bovidae
วงศ์ย่อยBovinae
สกุลBubalus

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 7 พ.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai