หมีขอ, บินตุรง

Binturong, Bearcat, Palawan Binturong

Arctictis binturong

หมีขอ (Arctictis binturong(ภาพโดย วิมุติ วสะหลาย)


หมีขอไม่ใช่หมี แต่เป็นสัตว์ตระกูลชะมด เหตุที่มีชื่อเป็นหมีอาจเพราะมีขนดำหยาบยาวคล้ายหมี บางตัวขนบริเวณหัวอาจเป็นสีเทา ความยาวหัว-ลำตัว 61-96 เซนติเมตร หางยาว 50-84 เซนติเมตร หนัก 9-20 กิโลกรัม เป็นสัตว์ในวงศ์ชะมดและอีเห็นที่ใหญ่ที่สุด เล็บโค้งสั้น ตัวเมียมีหัวนม หัว หมีขอมีต่อมฝีเย็บขนาดใหญ่ที่ผลิตสารกลิ่นฉุนที่ใช้ในการทำเครื่องหมาย

หางของหมีขอยาวประมาณ 90 ซม. แข็งแรงมาก ใช้ยึดเกี่ยวกิ่งไม้หรือแม้แต่หยิบสิ่งของได้ ปลายหางซีกหนึ่งเปลือยเปล่าไม่มีขนเพื่อประโยชน์ในการยึดจับ นับเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในโลกเก่าที่มีหางแบบยึดจับได้ 

มี ชนิดย่อย ชนิดย่อย A. b. binturong อาศัยอยู่ในเทือกเขาตระนาวศรี ชนิดย่อย A. b. kerkhoveni อาศัยอยู่ในตะวันออกของเกาะสุมาตรา ชนิดย่อย A. b. menglaensis พบในยูนนาน ประเทศจีน

หมีขออาศัยในป่าทึบตลอดอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ อินโดจีน ไทย พม่า มาเลเซีย สุมาตรา บังกา รีโออาร์คีเปลาโก ชวา บอร์เนียว และปาลาวัน

หมีขออาศัยอยู่บนต้นไม้ หากินตั้งแต่พลบค่ำจนถึงรุ่งสาง เคลื่อนไหวเชื่องช้า อาศัยเพียงลำพัง หรืออาจอยู่เป็นครอบครัวที่มีลูกที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่อยู่ ในฝูงครอบครัวมีตัวเมียเป็นใหญ่ในฝูง ในสวนสัตว์แห่งหนึ่งในเยอรมนี พบว่าพ่อหมีขออาศัยร่วมกับลูก ๆ โดยไม่มีอาการก้าวร้าวแต่อย่างใด  

แม้จะอยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ แต่หมีขอกินผลไม้เป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับอีเห็น และอาจเป็นสัตว์ในกลุ่มอีเห็นที่กินผลไม้มากที่สุด มีบ้างที่กินซากสัตว์ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก ปลา นก ไข่ ใบไม้ ยอดอ่อน 

พฤติกรรมด้านการสืบพันธุ์ใกล้เคียงกับสัตว์ตระกูลแมว นั่นคือตัวเมียเป็นฝ่ายเริ่มต้นด้วยการหมอบตัวลงต่ำและโก่งก้นขึ้น บางทีท่าทางนี้อาจเพื่อให้มีความมั่นคงมากขึ้นเนื่องจากผสมพันธุ์บนต้นไม้  แต่ขณะผสมพันธุ์ตัวผู้ไม่กัดคอตัวเมีย ส่วนตัวเมียจะใช้หางพันรัดเอวตัวผู้ขณะผสมพันธุ์ด้วย

หมีขอไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน แต่มักออกลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายน ตั้งท้องนาน 90-92 วัน ลูกครอกหนึ่งมีราว 2-3 ตัว อายุเฉลี่ยของตัวเมียเมื่อผสมพันธุ์ครั้งแรกและเป็นผลสำเร็จคือ 30.4 เดือน

ทราบหรือไม่?


หมีขอเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย และเป็นที่นิยมเลี้ยงกันในสหรัฐอเมริกา
หมีขอมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศในฐานะเป็นผู้กระจายเมล็ดพืช และเป็นผู้ควบคุมประชากรสัตว์ฟันแทะด้วย
บางคนกล่าวว่า กลิ่นของหมีขอคล้ายกลิ่นข้าวโพดคั่วอบเนย
ภาษาอังกฤษ บางทีเรียกหมีขอว่า cat bear ส่วน คำว่า bearcat ไม่ได้หมายถึงหมีขอ แต่หมายถึงแพนดาแดง

Arctictis binturong
ชื่อไทยหมีขอ, บินตุรง
ชื่อวิทยาศาสตร์Arctictis binturong
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Viverridae
วงศ์ย่อยParadoxurinae
สกุลArctictis

ข้อมูลอ้างอิง

  • Arctictis binturong จาก Animal Diversity Web
  • Carnivores of Mainland South East Asia, Budsabong Kanchanasakha, Saksit Simcharoen, U Tin Than จาก Animal Diversity Web

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 18 ต.ค. 64

Powered by Wimut Wasalai