เสือชีตาห์

Cheetah, Hunting Leopard

Acinonyx jubatus

เสือชีตาห์ 


ลักษณะทั่วไป


เสือชีตาห์เป็นเสือที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดชนิดหนึ่งไม่น้อยหน้าสิงโตและเสือโคร่ง ด้วยรูปร่างที่สง่างามน่าแปลกกว่าเสือชนิดอื่น และประกอบกับการเป็นเจ้าของสถิติสัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก จึงแทบไม่มีใครไม่รู้จักเสือชีตาห์

เสือชีตาห์เป็นเสือค่อนข้างเล็ก ในเซเรนเกตตี น้ำหนักเฉลี่ยของเสือชีตาห์ตัวผู้คือ 43 กิโลกรัม และตัวเมีย 38 กิโลกรัม รูปร่างต่างจากเสือชนิดอื่นมาก รูปร่างผอมเพรียว ดูเผิน ๆ เหมือนหมาพันธุ์เกรย์ฮาวนด์ สีพื้นลำตัวเป็นสีเหลืองทองและมีจุดสีดำกระจายทั่วทั้งตัว ใต้ท้อง ด้านล่างของขา คอ คาง และริมฝีปากบนสีขาว ที่ใกล้ปลายหางจุดจะกลายเป็นปล้องดำประมาณ วง ปลายหางสีขาว ใบหน้ามี "เส้นหยาดน้ำตา" สีดำพาดจากหัวตาลงมายังมุมปากเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร หนวดค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับเสือโคร่ง ละเอียด อ่อน จึงไม่มีหน้าที่ช่วยในการล่าแต่อย่างใด ใบหูดำ โคนหูและขอบใบหูสีน้ำตาลอมเหลือง เล็บนิ้วโป้งอยู่สูงเด่นจากนิ้วอื่น ใช้ในการเกี่ยวขาเหยื่อที่กำลังวิ่งหนี บริเวณท้ายทอยและหลังมีขนยาวคล้ายแผงคอของสิงโต บางตัวจะยาวมาก โดยเฉพาะลูกเสือ

เสือชีตาห์ที่อยู่ในเอเชียมีสัญฐานต่างจากในแอฟริกาอย่างเห็นได้ชัด ลำตัวมีสีขาวซีดกว่า และจุดอยู่ห่างกันมากกว่า ชีตาห์ในซาฮารามีสีซีดและจุดมีสีน้ำตาลเข้มไม่ดำสนิท เส้นหยาดน้ำตาและปล้องที่หางก็จางกว่า ตัวก็เล็กกว่า เคยพบว่าชีตาห์เพศผู้สองตัวที่เคยถูกฆ่าในไนเจอร์มีความสูงที่หัวไหล่เพียง 65 เซนติเมตรเท่านั้น ในขณะที่เสือชีตาห์ในพื้นที่กึ่งซาฮารามีความสูง 85 เซนติเมตร

เสือชีตาห์คำรามไม่ได้ แต่ทำเสียงแบบอื่นได้หลายแบบ เช่น เสียงคราง เสียงเห่าสั้น ๆ หรือเสียงหวีดแหลมยาว 

อุ้งตีนของเสือชีตาห์ 


เสือชีตาห์มีวิวัฒนาการมาเพื่อเป็นนักวิ่งเร็วโดยเฉพาะ ขาที่เรียวยาวแข็งแรงช่วยให้วิ่งได้เร็ว หากเทียบเสือชีตาห์กับเสือดาวที่มีน้ำหนักตัวเท่ากันแล้ว เสือชีตาห์จะตัวสูงกว่าเสือดาวถึงสองเท่า เล็บตีนหดกลับเข้าไปในปลอกได้เพียงเล็กน้อย จึงทำหน้าที่เหมือนตะปูใต้รองเท้านักวิ่ง ช่วยให้ยึดเกาะพื้นดินได้ดีในขณะวิ่งด้วยความเร็วสูง อุ้งตีนต่างจากเสือชนิดอื่น สัดส่วนอุ้งตีนแคบคล้ายอุ้งตีนหมามากกว่าเสือ บริเวณนิ้วและฝ่าตีนแข็งมากและชี้ไปข้างหน้า คาดว่าเป็นการปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์เวลาหยุดกระทันหัน และที่ฝ่าตีนยังมีสันสองสันแทนที่จะเป็นร่องตื้นอย่างอุ้งตีนแมวทั่วไป สันนี้ทำหน้าที่เหมือนดอกยางป้องกันการไถลไปด้านข้าง หางที่ยาวช่วยในการปรับสมดุลของร่างกายขณะหักเลี้ยวด้วยความเร็วสูง กระดูกสันหลังของเสือชีตาห์ยืดหยุ่นได้ดีเหมือนสปริง ทุกก้าวที่วิ่งจึงเป็นการเพิ่มแรงดีดให้ก้าวต่อไป แรงดีดนี้ช่วยให้ระยะก้าวของเสือชีตาห์ยาวขึ้นถึง 11 เปอร์เซ็นต์ที่ความเร็ว 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เขี้ยวค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับเสือชนิดอื่น แต่การที่เขี้ยวบนมีรากฟันสั้นทำให้โพรงจมูกใหญ่ เป็นผลดีในการหายใจขณะกัดคอเหยื่อ นอกจากนี้ชีตาห์ยังมี หลอดลม ปอด หัวใจ ต่อมหมวกไต และทางเดินหายใจก็ใหญ่ด้วย

จ้าวความเร็ว


เสือชีตาห์เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก สถิติความเร็วสูงสุดที่เคยวัดได้คือ 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เจ้าของสถิตินี้เป็นเสือในแหล่งเพาะเลี้ยง ส่วนความเร็วสูงสุดของเสือชีตาห์ในธรรมชาติเป็นเท่าไหร่ยังไม่ทราบแน่ชัดเพราะวัดได้ยาก ในท้องทุ่งของแอฟริกามีสัตว์อีกชนิดเดียวที่ฝีเท้าใกล้เคียงกันคือแอนติโลป ซึ่งเป็นสัตว์เหยื่อหลักของชีตาห์ มีความเร็ว 80-97 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ความเร็วยังเป็นรองชีตาห์แต่แอนติโลปสามารถรักษาความเร็วนี้ได้เป็นเวลานาน ส่วนเสือชีตาห์ทำความเร็วที่ระดับสูงสุดได้เป็นเวลาสั้น ๆ เท่านั้น น้อยครั้งมากที่จะวิ่งเป็นระยะทางเกิน 200-300 เมตร เพราะร่างกายของเสือชีตาห์จะร้อนขึ้นเร็วมากขณะวิ่งด้วยความเร็วสูง และการระบายความร้อนก็ไม่ดีเท่าพวกกาเซลล์หรือแพะ จากการทดลองครั้งหนึ่งพบว่าเสือชีตาห์หยุดวิ่งเมื่อความร้อนร่างกายขึ้นสูงถึง 40.5 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้เสือชีตาห์จึงเป็นเพียงนักวิ่งระยะสั้นเท่านั้น

ชีตาห์ราชา


เสือชีตาห์ราชา 


เสือชีตาห์บางตัวมีลักษณะแปลกกว่าชีตาห์ตัวอื่น ลายตามลำตัวแทนที่จะเป็นจุดกลม แต่จุดกลับร้อยเชื่อมต่อกันเป็นเส้นสั้น ๆ เส้นบริเวณสันหลังพาดยาวขนานกันตลอดแนวสันหลัง และมีขนบริเวณท้ายทอยยาวกว่า เสือชีตาห์ที่มีลักษณะพิเศษนี้เรียกว่า เสือชีตาห์ราชา (king cheetah) พบครั้งแรกในปี 2470 ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าเป็นเสือชนิดใหม่ หรือบ้างก็เข้าใจว่าเป็นลูกผสมระหว่างเสือชีตาห์กับเสือดาว ปัจจุบันทราบแล้วว่าเสือชีตาห์ราชาเป็นชนิดเดียวกับเสือชีตาห์ลายจุดธรรมดา ดังนั้นเสือชีตาห์ธรรมดาอาจออกลูกเป็นเสือชีตาห์ราชาปะปนกับเสือชีตาห์ธรรมดาก็ได้ ความผิดปรกตินี้เป็นผลจากยีนด้อยยีนหนึ่ง หากพ่อและแม่มียีนนี้ทั้งคู่ ลูกที่ออกมาราวหนึ่งในสี่จะเป็นเสือชีตาห์ราชา

ในอดีตเสือชีตาห์ราชาเคยพบเฉพาะในตอนกลางของซิมบับเวเท่านั้น แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการยึดจับหนังเสือชีตาห์ราชาได้ที่บูรกินาฟาโซ แอฟริกาตะวันตก นี่อาจหมายความว่ามีเสือชีตาห์ราชาในประเทศใกล้เคียงด้วย

เสือชีตาห์ดำและเสือชีตาห์ขาวก็มีในธรรมชาติเหมือนกัน เคยมีรายงานพบเสือชีตาห์ดำที่เคนยาและแซมเบีย เสือชีตาห์ขาวมีสีพื้นขาวอมฟ้าและมีจุดสีน้ำเงิน เคยมีบันทึกว่าจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์โมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเลี้ยงเสือชีตาห์ไว้กว่า 1,000 ตัวก็มีเสือชีตาห์ขาวอยู่ด้วย

ในปี 2536 มีการพบเสือชีตาห์ในอียิปต์ที่มีลักษณะต่างจากเสือชีตาห์ที่อยู่ทางใต้ของทวีป มีขนาดเล็กกว่า หนากว่า มีหูใหญ่กว่าปรกติ กระบอกปากเป็นรูปสี่เหลี่ยม สีขนตามลำตัวจางกว่า จุดดำจางกว่า

ถิ่นที่อยู่อาศัย


เขตกระจายพันธุ์ของเสือชีตาห์ในแอฟริกา 


เสือชีตาห์อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าในพื้นที่ประเภทกึ่งซาฮารา ป่าไม้พุ่ม ไม้แคระ ป่าละเมาะ พบบ้างในป่าไมออมโบซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในแอฟริกาตอนกลาง แต่ไม่พบในแนวป่าซาวันนาซูดาโน-กีเนียนซึ่งอยู่ในตะวันตก ลักษณะที่อยู่อาศัยที่เสือชีตาห์ชอบมากที่สุดอาจจะเป็นทุ่งหญ้าสลับป่าเนื่องจากการล่าในพื้นที่แบบนี้ใช้พลังงานน้อยกว่าการล่าในทุ่งหญ้าอย่างเดียว พื้นที่ที่เสือชีตาห์ไม่ชอบคือท้องทะเลทรายที่กว้างใหญ่ และป่าทึบ แม้ไม่ชอบอยู่ตามภูเขาสูง แต่ก็เคยพบในที่ได้สูงถึง 1,500 เมตรในเทือกเขาเอธิโอเปีย ตามเทือกเขาแอลจีเรีย ชาด มาลี ไนเจอร์ เคยพบที่ระดับสูงถึง 2,000 เมตร

ในอิหร่าน มักพบในพื้นที่ที่มีไม้พุ่มสลับทุ่งหญ้าและมีหิมะในฤดูหนาว ส่วนในภูเขาในทะเลทรายซาฮาราเป็นพื้นที่แห้งแล้งมาก แต่ก็ยังมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าทะเลทรายรอบข้าง จึงยังมีแหล่งน้ำถาวรและสัตว์เหยื่อให้ล่า

อุปนิสัย


ในแอฟริกา เสือชีตาห์มักหากินตอนกลางวัน สาเหตุเนื่องจากการล่าของเสือชีตาห์จำเป็นต้องมองเห็นสภาพพื้นที่ที่ล่าได้ชัดเจน และเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสัตว์นักล่าชนิดอื่นที่หากินตอนกลางคืนมากกว่า เคยพบเสือชีตาห์กินซากบ้าง และบางครั้งก็เป็นการกลับมาเอาเหยื่อที่ตนเองเป็นผู้ล่าที่ถูกแย่งไปทิ้งไปแล้ว แต่กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นน้อยครั้งมาก ในพื้นที่ปศุสัตว์ในนามีเบียซึ่งสิงโตและไฮยีนาหายไปแล้วพบว่า หากสัตว์ที่ล่ามามีขนาดใหญ่ กินคราวเดียวไม่หมด เสือชีตาห์มักอยู่ไม่ไกลจากเหยื่อนั้นแทนที่จะทิ้งไป

การล่าของเสือชีตาห์ จะย่องเข้าไปใกล้เยื่อจนอยู่ในระยะประมาณ 30 เมตร แล้วพุ่งออกไปไล่กวดเหยื่อ การไล่กวดจะกินเวลาประมาณ 20-60 วินาที เมื่อไล่จนทันก็จะใช้ขาหน้าปัดขาหลังของเหยื่อเพื่อให้คะมำล้มลง ความจริงการปัดนี้เป็นการเกี่ยวด้วยเล็บนิ้วโป้งซึ่งอยู่สูงจากอุ้งตีน เมื่อเหยื่อล้มลงแล้วจึงลงมือฆ่าโดยกัดหลอดลม ทำให้เหยื่อขาดใจตาย เสือชีตาห์มีโพรงจมูกใหญ่กว่าเสือชนิดอื่นเพื่อให้หายใจได้ง่ายขณะต้องกัดคอเหยื่อ เมื่อฆ่าเหยื่อได้แล้ว เสือชีตาห์ต้องพักเอาแรงอีกสักครู่จึงจะมีแรงกินได้ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เสี่ยงและมักต้องเสียเหยื่อให้สัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นเช่นสิงโตและไฮยีนา

เสือชีตาห์ที่อาศัยอยู่ตามเทือกเขาในซาฮารามีพฤติกรรมต่างออกไปทั้งเวลาหากินและวิธีล่า เสือชีตาห์ในส่วนนี้มักหากินเวลากลางคืน และเนื่องจากสภาพพื้นที่เปิดกว้างมีที่ซุ่มซ่อนและกำบังน้อย จึงต้องใช้วิธีย่องและคืบคลานอย่างเชื่องช้าและอดทน ชื่อเรียกเสือชีตาห์ในภาษาตัวเร็ก ซึ่งเป็นภาษาของชนพื้นเมืองบริเวณนี้มีความหมายว่า "ตัวที่รุกคืบอย่างเชื่องช้า" ซึ่งแตกต่างไปจากภาพลักษณ์ของเสือชีตาห์ที่คนทั่วไปคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง

อาหารหลักของเสือชีตาห์ได้แก่ สัตว์กีบขนาดเล็ก มักมีน้ำหนักไม่เกิน 40 กิโลกรัม ในแอฟริกาตะวันออก ในทุ่งหญ้าเซเรนเกตตีเสือชีตาห์มักล่ากาเซลล์ทอมสัน ในพื้นที่ป่าคืออิมพาลา ในป่าไม้พุ่มตอนเหนือของเคนยาคือกูดูเล็ก เจเรนุก และดิกดิก ในแอฟริกาตอนใต้ อาหารหลักคือสปริงบ็อก ลูกกูดูใหญ่ และหมูป่า อิมพาลา ปูกู ส่วนในแอฟริกาตอนกลางและตะวันตกเคยพบชีตาห์จับฮาร์เตอบีสต์แดง โอริบี และคอบ ในอุทยานมาโนโว-กาวน์ดา-เซนต์ฟลอริสในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง บางครั้งเสือชีตาห์ก็จับสัตว์เล็กเช่นกระต่ายป่าหรือนกกินด้วย สำหรับเหยื่อที่ใหญ่มากเช่นอีแลนด์ เสือชีตาห์จะต้องช่วยกันล่า ซึ่งมักจะเป็นพี่น้องที่อยู่ด้วยกัน

เสือชีตาห์ในทะเลทรายซาฮารากาเซลล์เป็นอาหารหลัก บางครั้งก็ล่านกกระจอกเทศและแกะบาร์บารี ส่วนเสือชีตาห์ในอินเดียมักล่าแบล็กบักและกาเซลล์ชิงการาเป็นหลัก ในเติร์กเมนิสถาน ชีตาห์ล่ากาเซลล์กอยเตอร์เป็นหลัก ในช่วงกลางทศวรรษ 1900 เมื่อกาเซลล์ในบริเวณนี้ลดจำนวนลงไป เสือชีตาห์ก็หายไปจากพื้นที่นี้ด้วย ในอิหร่าน มีรายงานว่า เสือชีตาห์ที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ที่มีกาเซลล์อาศัยอยู่ล่ากระต่ายป่าเป็นอาหารหลักซึ่งมีอยู่มากมายเนื่องจากนายพรานมุสลิมมักไม่ล่ากระต่ายป่า

เสือชีตาห์ทนแล้งได้ดี เพียงอาศัยน้ำที่อยู่ในตัวเหยื่อก็มีชีวิตได้แล้ว จึงอาศัยอยู่ในที่ห่างจากแหล่งน้ำก็ได้ เช่นในทะเลทรายคาลาฮารี ที่นี่เคยมีการสำรวจพบว่าระยะทางการเดินทางเฉลี่ยระหว่างการแวะดื่มน้ำแต่ละครั้งของเสือชีตาห์คือ 82 กิโลเมตร และเคยพบว่าชีตาห์อาศัยความน้ำจากเลือดหรือน้ำปัสสาวะของเหยื่อด้วย

ปกติเสือชีตาห์ที่อยู่ตามลำพังจะมีพื้นที่หากินกว้างประมาณ 800-1,500 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตของตัวผู้กับตัวเมีย และอาณาเขตระหว่างตัวเมียด้วยกันอาจทับซ้อนกัน เสือที่อยู่โดยลำพังอาจย้ายถิ่นหากินได้ เป็นพฤติกรรมแบบกึ่งเร่ร่อน

สัตว์สังคม


เสือชีตาห์อาจรวมฝูงกันหากิน ล่าเหยื่อและปกป้องอาณาเขตร่วมกัน 


เสือชีตาห์มีทั้งที่หากินโดยลำพังและหากินเป็นฝูงเล็กๆ นับว่าเป็นสัตว์สังคมมากกว่าเสือทั่วไป มีเพียงสิงโตเท่านั้นที่มีสังคมแน่นแฟ้นกว่า หลังจากออกจากการดูแลของแม่แล้ว เสือพี่น้องอาจยังคงอยู่ด้วยกันและช่วยกันทำมาหากินเป็นเวลาถึง เดือนไม่ว่าจะเป็นเพศใด ในเซเรนเกตตี พบว่าเมื่อเสือชีตาห์ตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็จะออกจากกลุ่มพี่น้องไปก่อน ส่วนเสือหนุ่มพี่น้องจะอยู่ด้วยกันนานกว่านั้น บางครั้งฝูงเสือชีตาห์หนุ่มอาจยอมรับเสือหนุ่มจากต่างครอบครัวมาร่วมฝูงด้วย ในเซเรนเกตตีคาดว่ามีฝูงแบบนี้มากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ เสือหนุ่มที่รวมฝูงกันจะมีอาณาเขตเล็กกว่า บางครั้งอาจเล็กเพียง 12-36 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น อย่างมากไม่เกิน 150 ตารางกิโลเมตร แต่ก็มีศักยภาพในการแสวงหาและรักษาเขตแดนได้ดีกว่าเสือที่หากินโดยลำพัง นอกจากนี้ยังพบว่ามีสุขภาพดีกว่า ล่าสัตว์ได้ขนาดใหญ่กว่า และมีโอกาสเข้าถึงตัวเมียได้มากกว่าในช่วงที่มีกาเซลล์รวมฝูงกันด้วย

ส่วนเสือชีตาห์ตัวเมียอยู่อย่างสันโดษและมีเขตแดนชัดเจน อาจซ้อนเลื่อมกับเขตแดนของตัวเมียตัวอื่นบ้าง

ในแอฟริกาตะวันออกและตอนใต้บางพื้นที่ที่สัตว์นักล่าชนิดอื่นหายไป เคยพบฝูงเสือชีตาห์ที่ใหญ่ถึง 14-19 ตัว (รวมลูก) อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าการรวมฝูงที่ใหญ่ขนาดนี้ในสถานการณ์เช่นนี้ให้ประโยชน์อย่างไร

ชีววิทยา


เสือชีตาห์ผสมพันธุ์ได้ทุกฤดู ต่างจากเสือส่วนใหญ่ที่มีฤดูผสมพันธุ์ แต่ในเซเรนเกตตีมักพบลูกเสือเกิดใหม่มากที่สุดในฤดูฝน ออกลูกครอกหนึ่งราว 1-8 ตัว เฉลี่ย ตัว ตั้งท้องนานประมาณ 90-98 วัน เสือแรกเกิดหนัก 270 กรัม ตาเปิดได้เมื่ออายุ 4-11 วัน ลูกเสือจะอาศัยอยู่ในพงหญ้าหรือพุ่มไม้จนกระทั่งอายุได้ 5-6 สัปดาห์ เสือชีตาห์วัยเด็กจะมีแผงคอยาวเด่นชัดยาวไปจนถึงสันหลัง บางทีอาจช่วยในการพรางตัวให้กลมกลืนกับพงหญ้าได้ดี เมื่ออายุได้ เดือนก็หย่านม ลูกเสืออยู่กับแม่และศึกษาการดำรงชีวิตเป็นเวลาประมาณ 18 เดือน (13-20) ก็จะพร้อมสำหรับใช้ชีวิตเองได้แล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม ลูกเสือชีตาห์ส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสรอดและเติบโตเป็นเสือผู้ใหญ่ได้ เสือชีตาห์มักต้องเสียลูกให้แก่สัตว์ล่าเหยื่อหลายชนิด เช่น ไฮยีนา สิงโต เสือดาว นกอินทรี ลิงบาบูน รวมถึงพ่อของเด็กเองด้วย ในเซเรนเกตตี นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา จำนวนสิงโตในทุ่งหญ้าเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้อัตราตายของลูกเสือชีตาห์สูงมาก พบว่าราว 73 เปอร์เซ็นต์ของลูกเสือชีตาห์ตายเพราะถูกสัตว์อื่นฆ่าโดยเฉพาะจากสิงโต มีเพียง เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะรอดไปจนกระทั่งถึงวัยที่เป็นอิสระจากแม่ได้ การที่เสือชีตาห์ออกลูกทีละหลายตัวก็อาจเป็นกลยุทธหนึ่งในการดำรงเผ่าพันธุ์ และสถานที่ใดที่สัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นเหลือจำนวนน้อยก็จะมีจำนวนเสือชีตาห์เพิ่มมากขึ้น เช่น ในฟาร์มเปิดในนามีเบีย ท้องทุ่งและท้องไร่ในเคนยา และในโซมาเลีย

ในด้านอัตราส่วนทางเพศ ลูกเสือแรกเกิดมักมีตัวผู้มากกว่าเล็กน้อยด้วยอัตราตัวผู้ ตัวต่อตัวเมีย 0.95 ตัว แต่เสือตัวเต็มวัยหรือเสือวัยรุ่นกลับมีตัวผู้น้อยกว่ามากด้วยอัตราตัวผู้ ตัวต่อตัวเมีย 1.9 ตัว ตัวเลขนี้อาจหมายถึงตัวผู้มีการแพร่กระจายพื้นที่มากกว่า หรือตายง่ายกว่า หรืออาจเป็นผลมาจากการที่ตัวผู้มักหลบซ่อนเก่งกว่าจนสำรวจได้ยากก็ได้

เสือรุ่นที่เพิ่งเป็นอิสระจากแม่จะยังอยู่ด้วยกันทั้งตัวผู้ตัวเมีย เสือตัวเมียจะแยกจากกลุ่มพี่น้องออกไปก่อนเมื่ออายุได้ 17-27 เดือน ตัวเมียผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่ออายุได้ 24-36 เดือน ตัวผู้เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 30-36 เดือน

ระยะเวลาที่แม่เสื้อตั้งท้องแต่ละครั้งห่างกัน 15-19 เดือน หากลูกเสือตายหมด แม่เสือก็พร้อมจะผสมพันธุ์ได้อีกครั้งในเวลาไม่นาน แม่เสือสาวรุ่นอาจใช้เวลานานกว่าแม่เสือสาวใหญ่ในการกลับคืนสู่สภาพพร้อมผสมพันธุ์ จากการสำรวจพบว่าเสือสาวรุ่นใช้เวลา 86.3 วัน ส่วนเสือสาวใหญ่ใช้เวลา 17.8 วัน

ตัวเมียผสมพันธุ์ครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 10 ปี ตัวผู้ 14 ปี เสือชีตาห์มีอายุขัยราว 12-14 ปี

มีความพยายามเพาะพันธุ์เสือชีตาห์ในกรงเลี้ยงมาแล้วหลายร้อยปี เนื่องจากเสือชีตาห์เคยเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับล่าของเจ้านายของอินเดียและอาหรับ แต่การเพาะพันธุ์เพิ่งจะมาเป็นผลสำเร็จเมื่อกลางทศวรรษ 1950 นี้เอง เมื่อทราบว่าในการจับคู่ตามธรรมชาติ เสือชีตาห์สาวจะเป็นผู้เลือกคู่จากหนุ่มหลายตัว ด้วยเหตุนี้การขังตัวผู้กับตัวเมียไว้ด้วยกันเป็นคู่ดังที่ทำก่อนหน้านั้นจึงไม่สำเร็จ

ปัญหาด้านพันธุกรรม


ในอดีต มีเสือในสกุลเดียวกับเสือชีตาห์หลายชนิด แต่เมื่อราว 10,000-12,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ปลายยุคไพลโตซีน มีเพียงเสือชีตาห์เพียงชนิดเดียวที่เหลือรอดพ้นยุคนั้นมาได้เพียงน้อยนิด เสือที่เหลือจึงมีการผสมพันธุ์กันในหมู่เครือญาติ ความหลากหลายทางพันธุกรรมจึงต่ำ จากการวิเคราะห์พันธุกรรมของเสือชีตาห์ทั้งในธรรมชาติและแหล่งเพาะเลี้ยงพบว่ามีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกันมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เสือชีตาห์ทุกตัวในทุกวันนี้เกือบเหมือนกัน มีความผันแปรทางพันธุกรรมเพียง เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่เสือชนิดอื่นมีความผันแปรราว 10 เปอร์เซ็นต์ หากตัดหนังจากเสือชีตาห์ตัวหนึ่งมาปะบนเสือชีตาห์อีกตัวหนึ่ง หนังแผ่นนั้นก็จะเจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่ถ้าไปทำแบบเดียวกันกับเสือชนิดอื่น หนังนั้นจะแห้งและตายไปในที่สุด ความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ต่ำทำให้เสือชีตาห์ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมได้ยาก ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ จึงมีโอกาสเป็นโรคตายและสูญพันธุ์ได้ง่าย

การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงทำได้ยากมาก ตัวเมียในกรงมักตั้งท้องได้ไม่ง่ายนัก และแม้จะตั้งท้องได้อัตราตายของลูกเสือก็สูง (28-36%) แม้อัตรานี้จะใกล้เคียงกันในเสือและสัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นในกรงเลี้ยง นอกจากนี้เสือชีตาห์ทั้งในกรงเลี้ยงและในป่าก็มีระดับของอสุจิที่ไม่ปกติสูงถึง 71-76% และการผสมพันธุ์นอกมดลูกก็ประสบความสำเร็จน้อยกว่าสัตว์จำพวกเสือชนิดอื่น

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคนานาประการในการเอาชีวิตรอดของเสือชีตาห์ดังที่กล่าวมานี้ก็เป็นข้อมูลที่พบในแหล่งเพาะเลี้ยงเท่านั้น ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเสือชีตาห์ในธรรมชาติจะพบชะตากรรมเดียวกัน และเป็นไปได้ว่าสิ่งที่กล่าวมาเป็นการมองในแง่ร้ายเกินไป ประการแรก สวนสัตว์บางแห่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเพาะพันธุ์เสือชีตาห์ นี่อาจหมายความว่าอัตราความสำเร็จที่ต่ำในสถานเพาะพันธุ์บางแห่งอาจเป็นเพราะการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพของแต่ละแห่งเอง ประการต่อไป ในด้านภูมิต้านทานโรคที่ต่ำ ก็ยังไม่เคยมีรายงานว่ามีการแพร่ระบาดของโรคร้ายในเสือชีตาห์ในธรรมชาติแต่อย่างใดแม้จะพบว่าเสือชีตาห์ในอุทยานบางแห่งมีปัญหาโรคเรื้อนสัตว์ค่อนข้างมากก็ตาม ประการสุดท้าย เสือตัวผู้ในแหล่งเพาะเลี้ยงแต่ละตัวมีอัตราให้กำเนิดลูกต่างกันมากแม้จะมีระดับคุณภาพของอสุจิใกล้เคียงกัน

ภัยที่คุกคาม


เสือชีตาห์ในทุกพื้นที่ต่างประสบปัญหาในการดำรงชีวิต ภัยที่คุกคามหลักได้แก่การล่าและการบุกรุกที่อยู่อาศัย แม้แต่ในแอฟริกาที่มีประชากรเสือชีตาห์มากที่สุด พื้นที่อาศัยก็ยังลดลงอย่างรวดเร็ว

พื้นที่ป่าที่ลดลงทำให้เสือชีตาห์มีโอกาสเผชิญหน้ากับสิงโตซึ่งเป็นศัตรูตัวร้ายมากขึ้น ชีตาห์มักต้องเสียลูกให้สิงโตเสมอ 

การทำฟาร์มเปิดของชาวบ้านก็เป็นภัยคุกคามที่สำคัญ เพราะปศุสัตว์เข้าไปแย่งพื้นที่หากินของสัตว์ที่เป็นเหยื่อในธรรมชาติของชีตาห์ เช่น ในป่าอนุรักษ์กอชเยลักของอิหร่านซึ่งเคยมีเสือชีตาห์อยู่มาก เมื่อการทำฟาร์มเปิดทำให้แอนติโลปซึ่งเป็นอาหารหลักของเสือชีตาห์ลดจำนวนลงไป เสือชีตาห์ก็หายไปด้วย

ประชากรเสือชีตาห์กลุ่มเล็ก ๆ ในประเทศอิยิปต์ที่เพิ่งพบในประเทศอิยิปต์ในปี 2536 ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน เพราะต้องถูกตามล่าล้างผลาญอย่างหนักทั้งจากพรานเร่ร่อนและพรานบรรดาศักดิ์ มีรายงานหลายครั้งที่มีทั้งการฆ่าทิ้งยกครัวทั้งแม่ลูก กาเซลล์ซึ่งเป็นอาหารหลักของเสือชีตาห์กลุ่มนี้ก็ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน

จำนวนที่เหลือน้อยของชีตาห์ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกนั่นคือเริ่มมีการผสมพันธุ์ในหมู่สายเลือดใกล้ชิด เป็นเหตุให้พันธุกรรมของชีตาห์อ่อนแอ ภูมิต้านทานโรคลดลง และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้ยากขึ้น

เสือชีตาห์มีปัญหาความขัดแย้งกับมนุษย์บ้างเหมือนกัน เพราะบางครั้งก็ไปจับสัตว์ในฟาร์มของชาวบ้าน ในบริเวณอาอีร์และมาซีของไนเจอร์มีรายงานว่าเสือชีตาห์ไปล่าลูกอูฐและแพะของชาวบ้าน ในนามีเบียก็มีงานวิจัยที่พบว่าเสือชีตาห์เป็นภัยต่อสัตว์ในฟาร์มมากกว่าสัตว์นักล่าชนิดอื่น คาดว่าปีหนึ่ง ๆ เกษตรกรต้องเสียสัตว์เล็กอย่างแกะและแพะมากถึงราว 10-15 เปอร์เซ็นต์ และสัตว์ใหญ่ราว 3-5 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามพบว่าเสือชีตาห์ชอบล่าสัตว์ตามธรรมชาติมากกว่า เสือชีตาห์จะจับสัตว์ในฟาร์มในพื้นที่ที่สัตว์เหยื่อในธรรมชาติขาดแคลน และแน่นอนว่าเมื่อใดมีความขัดแย้งกับคน ฝ่ายที่ต้องพ่ายแพ้ก็คือเสือชีตาห์นั่นเอง

สถานภาพ


ในอดีต เสือชีตาห์เคยมีเขตกระจายพันธุ์กว้างครอบคลุมพื้นที่ป่าเปิดเกือบทั้งหมดของแอฟริกา รวมถึงทุ่งหญ้าในตอนกลางของอินเดีย ปากีสถาน รัสเซียตอนใต้ อิหร่าน และตะวันออกกลาง แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่พบในตะวันออกและตอนใต้ของแอฟริกาเท่านั้น ส่วนในเอเชียเหลือเพียงทางตอนเหนือของอิหร่านเท่านั้นและเหลืออยู่น้อยมาก และจำนวนประชากรก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเหลือเพียงท้องทุ่งในแอฟริกาตะวันออกและตอนกลางเท่านั้นที่เป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของเสือชีตาห์

ช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 เสือชีตาห์ได้สูญพันธุ์ไปจากหลายพื้นที่ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน ลิเบีย คูเวต โมร็อกโก โอมาน ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ตูนิเซีย เติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน ซาฮาราตะวันตก และเยเมน

มีการประเมินจำนวนประชากรเสือชีตาห์ในพื้นที่กึ่งซาฮาราในแอฟริกาไว้หลายครั้ง ตัวเลขที่ได้แตกต่างกันมาก เนื่องจากแปรตามเงื่อนไขแวดล้อม โดยเฉพาะจากสัตว์เหยื่อและผู้ล่าชนิดอื่น และมีการรวมกลุ่มกันตามการย้ายถิ่นของเหยื่อเช่นกาเซลล์ทอมสันในทุ่งหญ้าเซเรนเกตตี ไมเยอร์ ประเมินไว้ในปี 2518 ได้ 15,000 ตัว เฟรม ประเมินในปี 2527 ได้ 25,000 ตัว ส่วนในปี 2534 เคราส์ กับ มาร์เกอร์-เคราส์ประเมินได้ 9,000-12,000 ตัว พื้นที่ ๆ พบเสือชีตาห์มีสองพื้นที่ใหญ่ ๆ ได้แต่แอฟริกาตะวันออกในเขตของประเทศเคนยาและแทนซาเนีย กับแอฟริกาตอนใต้ในเขตของประเทศนามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว และแซมเบีย ส่วนทางแอฟริกาตะวันตกมีอยู่น้อยมากและถูกคุกคามมาก บริเวณที่ดูเป็นแดนสวรรค์ของเสือชีตาห์คือตอนใต้ของประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งเสือบริเวณนี้มักมีสุขภาพดีและดูเหมือนมีการขยายเขตกระจายพันธุ์ขึ้นไปทางเหนือ

เสือชีตาห์พันธ์เอเชีย (A. j. venaticusเหลือจำนวนน้อยมาก สถานภาพอยู่ในขั้นวิกฤต ในทศวรรษที่ 1970 ยังมีอยู่เกิน 200 ตัว แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว การสำรวจในปี 2535 พบว่าเหลืออยู่จำนวนไม่ถึง 50 ตัวเท่านั้น พบได้เฉพาะพื้นที่ห่างไกลในประเทศอิหร่านและอัฟกานิสถาน รายงานล่าสุดที่พบอยู่ในจังหวัดคอระซันทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ มาร์คะซีทางตอนกลางประเทศ และ ฟาร์ส ทางตะวันตกเฉียงใต้

เสือชีตาห์ เสือที่มีชื่อเสียงที่สุดชนิดหนึ่งในจำนวนเสือทั้งหมดในโลก อาจจะต้องเป็นชนิดแรกที่ต้องสูญพันธุ์ไปในอนาคตอันใกล้หากไม่มีแผนการอนุรักษ์ที่ดี การเก็บข้อมูลจากการวิจัยค้นคว้าและการเพาะพันธุ์ที่กำลังดำเนินการอยู่โดยในขณะนี้เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เสือชีตาห์รักษาเผ่าพันธุ์และมองเห็นทางรอดในอนาคตได้ ปัจจุบันเสือชีตาห์ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายเกือบทุกประเทศที่อยู่ในเขตกระจายพันธุ์

สถานภาพการคุ้มครอง

ไซเตส: บัญชีหมายเลข 1

สถานภาพประชากร

ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพเสือชีตาห์ไว้ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2550)

ประเทศที่ห้ามล่า

แองโกลา, เบนิน, บอตสวานา, บูร์กินาฟาโซ, แคเมอรูน, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, เอธิโอเปีย, กานา, เคนยา, มาลาวี, มาลี, มอริเตเนีย, โมซัมบิก, นามิเบีย, ไนเจอร์, ไนจีเรีย, รวันดา, เซเนกัล, ซูดาน, แทนซาเนีย, โตโก, ยูกันดา, คองโก, แอลจีเรีย, อียิปต์, อิหร่าน, คาซัคสถาน, โมร็อกโก, ปากีสถาน, ตูนิเซีย, เติร์กเมนิสถาน, อุซเบกิสถาน

ประเทศที่มีล่าเพื่อการกีฬา

นามิเบีย, แกมเบีย ซิมบับเว

ไม่มีข้อมูล

ชาด, ซูดาน, อิรัก, ลิเบีย, มอริเตเนีย, จอร์แดน, โอมาน, ซาอุดีอาระเบีย, ซีเรีย, เยเมน
Acinonyx jubatus
ชื่อไทยเสือชีตาห์
ชื่อวิทยาศาสตร์Acinonyx jubatus
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลAcinonyx

ข้อมูลอ้างอิง

  • Wild Cats of the World, Mel Sunquist and Fiona Sunquist, The university of Chicago Press.
  • http://www.predatorconservation.com/cheetah.htm
  • http://www.animalinfo.org/species/carnivor/acinjuba.htm
  • http://www.canuck.com/iseccan/where.html
  • http://lynx.uio.no/catfolk/jubssa1a.htm
  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/cheetah.htm
  • http://www.canuck.com/iseccan/cheetah.html
  • Pockets CATS, Dorling Kindersley

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 26 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 26 ส.ค. 64

Powered by Wimut Wasalai