วัวแดง, วัวดำ, วัวเพลาะ

Banteng, Bali Cattle

Bos javanicus

วัวแดง (Bos javanicus(ภาพโดย นรา จิตต์สม)


วัวแดงมีลักษะทั่วไปคล้ายวัวบ้าน ขนตามลำตัวสั้น สีน้ำตาลแดง ขาทั้งสี่มีสีขาวดูเหมือนสวมถุงเท้า ก้นสีขาว ปากสีขาว และมีจุดสีขาวเหนือลูกตา เขาสั้นโค้งเป็นวง ยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร เขาของตัวเมียจะเล็กกว่าและเป็นวงแคบกว่า ปลายเขาชี้เข้าหากัน ส่วนเขาของตัวผู้ใหญ่กว่าและปลายเขาชี้ขึ้น มีโหนกสูงบริเวณหลังเหนือหัวไหล่ ความยาวลำตัว 190-225 เซนติเมตร ความสูงที่หัวไหล่ 160 เซนติเมตร หางยาว 65-70 เซนติเมตร หนัก 600-800 กิโลกรัม สีลำตัวของตัวผู้จะเข้มขึ้นตามอายุ 

วัวแดงมีสามชนิดย่อยคือ วัวแดงชวา (B. j. javanicusพบในเกาะชวา ตัวผู้สีดำ และตัวเมียสีน้ำตาล วัวแดงบอร์เนียว (B. j. lowiพบในเกาะบอร์เนียว ตัวเล็กกว่าวัวแดงชวาและเขาชี้ชันกว่า วัวตัวผู้สีน้ำตาลเข้ม และวัวแดงพม่า (B. j. birmanicusพบบนแผ่นดินใหญ่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียสีน้ำตาล แต่ในกัมพูชามีอยู่ราว 20 เปอร์เซ็นต์ที่มีสีเข้ม 

วัวแดงพบในพม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม บอร์เนียว ชวา และบาหลี  อาศัยในป่าโปร่ง กินหญ้า ไผ่ ผลไม้ ใบไม้และยอดอ่อนเป็นอาหาร หากินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ในพื้นที่มีการรบกวนจากมนุษย์จะมีแนวโน้มหากินกลางคืนมากกว่า หากินตามป่าโปร่ง พักผ่อนและหลบภัยในป่าทึบ หากินเป็นฝูง ๆ หนึ่งมีสมาชิกตั้งแต่ 2-30 ตัว และมีตัวผู้เป็นจ่าฝูงหนึ่งตัว วัวแดงตัวผู้ที่ไม่ได้เป็นจ่าฝูงอาจอาศัยตัวเดียวหรือรวมฝูงกับตัวผู้ที่อยู่ในสถานะเดียวกัน เป็นสัตว์ขี้อายมาก มักเลี่ยงคน ในฤดูน้ำหลากวัวแดงอาจย้ายถิ่นหากินขึ้นไปอยู่บนที่สูง พอถึงฤดูแล้งค่อยย้ายกลับลงมาหากินในป่าเปิดระดับต่ำอีกครั้ง

วัวแดงในประเทศไทยมีฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน แม่วัวแดงตั้งท้องนาน 285 วัน ออกลูกครั้งละตัว ลูกวัวหย่านมได้เมื่ออายุได้ 6-9 เดือน และจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 2-3 ปี ในธรรมชาติวัวแดงมีอายุขัย 20 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุได้ถึง 26 ปี 

ภัยหลักที่คุกคามวัวแดงคือการล่าและการเสียที่อยู่อาศัย การรุกล้ำป่าของพื้นที่เกษตรกรรมทำให้เขตของวัวแดงตัดขาดจากกัน คาดว่าวัวแดงจะสูญพันธุ์ไปจากเวียดนาม กัมพูชา และลาวในอนาคตอันใกล้นี้ ในบางพื้นที่มีการเพาะเลี้ยงวัวแดงได้เป็นจำนวนมาก เช่นเฉพาะในบาหลีก็มีวัวแดงเลี้ยงมากถึง 1.5 ล้านตัว บางครั้งวัวแดงเลี้ยงก็ไปผสมกับวัวแดงป่า ทำให้พันธุกรรมผิดธรรมชาติไป นอกจากนี้วัวแดงธรรมชาติยังอาจติดโรคมาจากวัวแดงเลี้ยงได้ซึ่งอันตรายมาก 

ปัจจุบันจำนวนวัวแดงในธรรมชาติทั่วโลกเหลือเพียงไม่ถึง 500 ตัว ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้ว่าอยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์ (EN) ไทยจัดวัวแดงไว้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ทราบหรือไม่?

คำว่า banteng มาจากภาษามาเลย์
ชื่อวิทยาศาสตร์ คำว่า Bos เป็นภาษาละติน แปลว่าวัว คำปัจจัย -icus มีความหมายว่า "เป็นของ"
เมื่อวันที่ เมษายน 2546 นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการทำโคลนนิงวัวแดง วัวแดงเป็นสัตว์หายากชนิดที่สองที่โคลนได้สำเร็จต่อจากกระทิง

Bos javanicus
ชื่อไทยวัวแดง, วัวดำ, วัวเพลาะ
ชื่อวิทยาศาสตร์Bos javanicus
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Bovidae
วงศ์ย่อยBovinae
สกุลBos

ข้อมูลอ้างอิง

  • Banteng จาก Wikipedia
  • Banteng จาก Arkive (http://www.arkive.org)
  • Banteng จาก Encyclopedia Britannica Online
  • Bos javanicus จาก Encyclopedia Britannica Online

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 24 ส.ค. 64

Powered by Wimut Wasalai