บ่าง, พุงจง, พะจง

Colugo, Flying Lemur, Malayan Colugo, Sunda flying lemur

Cynocephalus variegatus

บ่าง (Cynocephalus variegatus)  (ภาพโดย biology-online)


บ่างเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างประหลาด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ร่อนได้ คล้ายกระรอกบิน หน้าตาคล้ายกระแต คนตะวันตกมองว่าหน้าตาเหมือนตัวลีเมอร์ในมาดาร์กัสกา จึงเรียกว่า flying lemur มีความยาวหัว-ลำตัว 34-42 เซนติเมตร หาง 22-27 เซนติเมตร หนัก 1-1.8 กิโลกรัม ตามลำตัวมีสีน้ำตาลเป็นหลัก มีแต้มสีขาวและลายเส้นเหมือนตาข่ายแผ่ทั่วลำตัวขาหน้าและขาหลัง สีสันกลมกลืนกับเปลือกไม้ และที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ มีหนังบางเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้วอีกด้วย 
แม้บ่างจะมีรูปร่างคล้ายสัตว์ชนิดอื่นหลายชนิด แต่บ่างไม่ใช่กระรอก ไม่ใช่ค้างคาว ไม่ใช่ลีเมอร์ และไม่ใช่กระแต บ่างคือบ่าง มีวิวัฒนาการต่างจากสัตว์ชนิดอื่นมาก อยู่ในอันดับ Dermoptera แปลว่า ปีกหนัง สัตว์ในอันดับนี้บ่างมีเพียงสองชนิดเท่านั้น อีกชนิดหนึ่งคือบ่างฟิลิปินส์ อยู่ในประเทศฟิลิปินส์ ตัวเล็กกว่าและเบากว่าเล็กน้อย
บ่างอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนชื้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเกาะชวาและบอร์เนียว บางพื้นที่พบว่าอาศัยในสวนยางพาราหรือสวนมะพร้าวได้ด้วย
บ่างอาศัยอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก ตอนกลางวันมักหลับพักผ่อนอยู่ในโพรงไม้หรือในช่อปาล์ม เมื่อพลบค่ำก็จะออกมาหากิน อาหารได้แก่ยอดอ่อนต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้เนื้ออ่อน เมื่อต้องการย้ายจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง บ่างจะปีนขึ้นไปตามต้นไม้โดยใช้ขาหน้าและเล็บที่แหลมคมเกาะไว้แล้วยกขาหลังตามไปทั้งสองข้างพร้อมกัน เมื่อถึงจุดร่อนที่เหมาะสม จึงกระโจนออกไปพร้อมกางขาออก ผังผืดที่เชื่อมขาและหางจะขึงตึงจนตัวบ่างดูเหมือนว่าว บ่างอาจปรับบิดตัวเล็กน้อยเพื่อปรับทิศทางการร่อนได้ บ่างมักมีต้นไม้ประจำที่ใช้ในการร่อน ในบ่างพื้นที่อาจมีบ่างหลายตัวใช้ต้นไม้บางต้นเป็นท่าปล่อยตัวร่วมกัน 
บ่างตั้งท้องนานราว 60 วัน ออกลูกคราวละตัว บางครั้งอาจมีสองตัว ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แม่บ่างอาจออกลูกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี ลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี แม้ยามมีลูกอ่อน แม่บ่างก็ร่อนหาอาหารได้เหมือนกัน ลูกบ่างจะยึดเกาะขนที่หน้าท้องแม่ไว้แน่นจึงไม่ตกลงมา

ทราบหรือไม่?

บ่างสามารถร่อนได้เป็นระยะทางไกลได้ถึง 136 เมตรโดยระยะสูงลดลงเพียง 12 เมตรเท่านั้น
บางครั้งชาวบ้านก็เรียกกระรอกบินว่าบ่างเหมือนกัน แต่เป็นสัตว์ต่างชนิดกัน กระรอกบินเป็นกระรอก

ข้อมูลอ้างอิง

  • The Illustrated Encyclopedia of Mammals, Andromeda
  • Colugo จาก wikipedia
  • Colugos.com จาก Colugos.com

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 24 ส.ค. 64

Powered by Wimut Wasalai