หมีควาย, หมีดำ
Asian Black Bear
Ursus thibetanus
หมีควาย (Ursus thibetanus) (ภาพโดย arkive.org)
หมีควายเป็นหมีขนาดกลาง
และเป็นหมีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตัวยาวประมาณ 130-190 เซนติเมตร ตัวผู้หนัก 100-200 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 50-125 กิโลกรัม มีขนหยาบสีดำหรือน้ำตาลทั่วทั้งตัวยกเว้นบริเวณอกซึ่งขนสีเหลืองอ่อนเป็นรูปตัววี (V) ขนบริเวณหัวไหล่และคอจะยาวเป็นพิเศษ หูค่อนข้างใหญ่ ฝ่าตีนใหญ่เดินเต็มตีน รอยตีนของหมีจึงดูคล้ายรอยตีนคน มีเล็บยาวและแหลมคม
หมีควายชอบอาศัยในป่าเขา แต่ก็พบในที่ราบได้บ้าง อยู่ในเขตกระจายพันธุ์อยู่ในเอเชียตะวันออก ตั้งแต่ อัฟกานิสถาน อิหร่าน บังกลาเทศ ภูฏาน จีน รัสเซีย อินเดีย เนปาล ปากีสถาน พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย มองโกเลีย เกาะฮอนชูและชิโกกุของญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี พบได้สูงถึง 3,000 เมตร
หมีควายหากินโดยลำพังยกเว้นครอบครัวแม่ลูก พื้นที่หากินราว 10-20 ตารางกิโลเมตร หากินเวลากลางคืน แต่ก็อาจพบตอนกลางวันได้บ้าง กินทั้งพืชและสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นพืชมากกว่า แต่ถ้าเทียบสัดส่วนของประเภทอาหารแล้วหมีควายยังกินเนื้อสัตว์มากกว่าหมีในทวีปอเมริกา อาหารของหมีควายเช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก แมลง นก ปลา หอย และซากสัตว์ ส่วนอาหารประเภทพืชได้แก่หญ้า ผลไม้ เมล็ดพืช นอกจากนี้ก็กินน้ำผึ้งด้วย ปีนต้นไม้เก่งมาก แม้จะมีรูปร่างอ้วนอุ้ยอ้ายแต่ก็วิ่งได้เร็วมาก
แม้หมีควายจะไม่ดุร้ายอย่างรูปร่างภายนอก หมีควายมักเลี่ยงคนมากกว่าที่จะเข้าโจมตี แต่ถ้าเทียบกับหมีดำอเมริกาแล้ว หมีควายค่อนข้างดุร้ายมากกว่า มีประวัติทำร้ายคนมากกว่า
หมีควายบางตัวย้ายแหล่งหากินตามฤดูกาล ในฤดูร้อนจะย้ายขึ้นไปอาศัยบนที่สูง ส่วนในฤดูหนาวจะลงมาพื้นที่ต่ำกว่า หมีควายที่อาศัยในถิ่นหนาวจะมีพฤติกรรมที่คล้ายกับการจำศีลด้วย เช่นในญี่ปุ่น หมีควายจะหลับยาวเป็นเวลาราว 5 เดือน แต่ในเขตร้อนหมีควายไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น
ฤดูผสมพันธุ์ของหมีควายอยู่ราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และออกลูกราวเดือนมกราคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ แต่บางสถานที่ฤดูอาจแตกต่างออกไป เช่นในปากีสถาน ฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มในฤดูใบไม้ร่วง ออกลูกคราวละ 1-4 ตัว ลูกหมีจะอยู่กับแม่เป็นเวลา 2-3 ปี เมื่ออายุได้ 3-4 ปีก็ผสมพันธุ์ได้แล้ว หมีควายมีอายุขัยราว 25 ปี ในสวนสัตว์ที่มีการดูแลดีอาจอยู่ได้ถึงกว่า 30 ปี
หมีควายถูกคุกคามจากมนุษย์หลายรูปแบบ ชาวบ้านชายป่าจะฆ่ามันเพราะเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง คนทำไม้จะฆ่ามันเพราะหมีชอบกัดแทะไม้ทำให้ราคาตก และที่ร้ายแรงก็คือ ดีหมีเป็นที่ต้องการในตลาดยาจีน จึงมีพรานหลายคนยอมเสี่ยงตายเพื่อล่าหมีเอาถุงน้ำดีไปขาย
ไอยูซีเอ็นประเมินว่า หมีควายพันธุ์บาลอค (U.t.gedrosianus) อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ส่วนพันธุ์อื่นอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ไซเตสจัดหมีควายไว้ในบัญชีหมายเลข 1
ทราบหรือไม่?
●หมีควายและหมีดำอเมริกันมีสายเลือดใกล้ชิดกัน คาดว่าทั้งสองชนิดมีบรรพบุรุษร่วมที่อาศัยอยู่ในยุโรป
●ฝรั่งมองรูปตัววีที่หน้าอกหมีควายเป็นรูปจันทร์เสี้ยว จึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า moon bear
●หมีควายอาศัยร่วมพื้นที่กับหมีแพนด้าในป่าอนุรักษ์ว่อหลงในประเทศจีน
Ursus thibetanus |
ชื่อไทย | หมีควาย, หมีดำ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Ursus thibetanus |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Ursidae |
สกุล | Ursus |
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 23 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 29 ต.ค. 64