แมวแดงบอร์เนียว

Bornean Bay Cat

Catopuma badia

ลักษณะทั่วไป


แมวแดงบอร์เนียว 


แมวแดงบอร์เนียวมีขนาดประมาณแมวบ้านตัวโต ๆ  มีความยาวจากหัวรวมลำตัวประมาณ 53-67 เซนติเมตร หางยาว 32-91 เซนติเมตร ขนสีน้ำตาลอมแดงเข้ม บางตัวอาจมีสีเทาอมน้ำเงิน ด้านใต้ลำตัวและขาทั้งสี่มีสีเหลืองซีดและมีจุดจาง ๆ มีแต้มสีขาวหลายแต้มบริเวณใบหน้าและคาง คางด้านข้างสีขาว มีแถบสีน้ำตาลอ่อนสองแถบอยู่บนแก้ม หัวกลมมน หน้าสั้น มีเส้นสีดำสองเส้นพาดจากหัวตา ที่ท้ายทอยมีลายรูปตัวเอ็ม (M) ใบหูสั้นมน หลังหูสีดำอมเทา หางยาวเรียว มีริ้วสีค่อนข้างเหลืองยาวตลอดแนวอยู่ด้านใต้หาง ปลายหางขาวซีดมีจุดดำเล็กแซม รูปร่างและสีสันโดยทั่วไปคล้ายเสือไฟ จนเคยมีนักวิทยาศาสตร์จัดแมวชนิดนี้ไว้เป็นชนิดย่อยของเสือไฟ

แมวแดงบอร์เนียวเป็นแมวที่เรารู้จักน้อยที่สุดในเอเชีย ไม่เคยมีภาพถ่ายของแมวชนิดนี้ในธรรมชาติเลย และแทบไม่มีนักชีววิทยาคนไหนเคยเห็นตัวเป็น ๆ มาก่อน และไม่มีใครทราบอุปนิสัย ชีววิทยา ข้อมูลส่วนใหญ่ของแมวชนิดนี้มาจากหนังเจ็ดผืนและกะโหลกสองกะโหลกในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในยุโรปเท่านั้น

ชื่อเรียกแมวแดงบอร์เนียวในภาษาต่าง 
ฝรั่งเศสchat bai
เยอรมันBorneo-katze
สเปนgato rojo de Borneo
อินโดนีเซีย, มาเลเซียkucing merah
อินโดนีเซียkucing Kalimantan


แมวแดงบอร์เนียวกับเสือไฟ

เป็นที่ถกเถียงกันมานานว่า แมวแดงบอร์เนียวเป็นชนิดแยกต่างหากจากแมวชนิดอื่น หรือว่าเป็นเพียงชนิดย่อยของเสือไฟ เพราะรูปร่างใกล้เคียงกันมาก ไม่เพียงแต่สีและลายเท่านั้น สัดส่วนของกะโหลกก็ยังใกล้เคียงกันมากอีกด้วย ข้อสังสัยนี้ได้ข้อยุติลงเมื่อการตรวจสอบทางพันธุกรรมในตัวอย่างเลือดที่ได้จากซากในปี 2535 ยืนยันได้ว่า แมวแดงบอร์เนียวเป็นแมวต่างชนิดจากแมวชนิดอื่นอย่างแน่นอน แต่มีสายเลือดใกล้ชิดเสือไฟจริง แมวทั้งสองชนิดมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อราว 4.9 ถึง 5.3 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่แผ่นดินของบอร์เนียวยังอยู่ติดกับแผ่นดินใหญ่อยู่

ถิ่นที่อยู่อาศัย


เขตกระจายพันธุ์ของแมวแดงบอร์เนียว 


แมวแดงบอร์เนียวพบในเกาะบอร์เนียวเท่านั้น พื้นที่ ๆ เคยมีการพบมีอยู่ประมาณ 7-8 จุด แหล่งที่อยู่อาศัยของแมวแดงบอร์เนียวคือพื้นที่สูงที่มีหินปูนอยู่ชายป่าทึบที่มีความสูงไม่เกิน 500 เมตร แม้จะเคยมีรายงานการพบที่ภูเขาคินาบาลูที่ระดับความสูง 1,800 แต่ก็เป็นรายงานที่ไม่ยืนยัน นักธรรมชาติวิทยาสมัยก่อนบันทึกว่าแมวชนิดนี้พบเฉพาะในป่าทึบเท่านั้น แต่เคยมีการพบเห็นตัวครั้งหนึ่งในซาราวักเป็นพื้นที่เป็นป่าไม้แคระที่มีหินระเกะระกะ มีซากไม่ต่ำกว่าสามซากที่เก็บได้ริมแม่น้ำ แต่นี่ก็ไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าแมวชนิดนี้ชอบอยู่ริมน้ำ เพราะอาจเกิดจากการที่นักวิทยาศาสตร์มักเดินสำรวจแต่ตามริมน้ำซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกในการเดินทางในป่าที่สลับซับซ้อนของบอร์เนียว

ภัยคุกคาม


แม้ในบอร์เนียวจะมีเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าตามเอกสารมากถึง 25 แห่ง แต่ความจริงมีเพียง แห่งเท่านั้นที่มีอยู่จริง ส่วนที่เหลือเป็นเพียงป่าที่ได้รับการเสนอพิจารณาจัดตั้งเท่านั้น และพื้นที่ทั้งหมดนี้เป็นป่าที่ถูกบุกรุกมาก่อนทั้งจากการตั้งถิ่นฐานของผู้คนและการทำไม้ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยดูเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ชนิดนี้ต้องลำบากจนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านแมวของไอยูซีเอ็นได้จัดให้แมวชนิดนี้อยู่ในลำดับความสำคัญสูงที่ต้องค้นคว้าและศึกษา

สถานภาพ


แมวแดงบอร์เนียวเป็นสัตว์หายากมาก ในปี 2530 ราบิโนวิตซ์ เคยสอบถามชาวบ้านในซาบาห์และซาราวักถึงการพบเห็นเสือชนิดต่าง ๆ โดยให้ดูภาพเสือประกอบ พบว่าชาวบ้านหลายคนมักคุ้นเคยกับเสือลายเมฆ แมวดาว แมวป่าหัวแบน และแมวลายหินอ่อนเป็นอย่างดี แต่ไม่มีใครรู้จักแมวแดงบอร์เนียวเลย 

แมวแดงบอร์เนียว 


รายงานการพบแมวแดงบอร์เนียวตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีน้อยมาก ในปลายทศวรรษ 1950 มีรายงานจากนักท่องเที่ยวว่าพบหมวกสองใบที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของชาวดยักที่ทำจากหนังของแมวแดงบอร์เนียว  

แต่ในปี 2535 แมวแดงบอร์เนียวตัวหนึ่งถูกนำส่งไปยังพิพิธภัณฑ์ซาราวัก เป็นแมวตัวเมียเต็มวัยแต่อยู่ในอาการปางตาย หนักเพียง 1.95 กิโลกรัม ทั้งที่แมวขนาดนั้นถ้าอยู่ในสภาพดีควรมีน้ำหนัก 3-4 กิโลกรัม หลังจากนั้นไม่นานแมวตัวนั้นก็ตาย จากสภาพแมวตัวนั้นคงติดกับดักชาวบ้านแล้วเลี้ยงไว้ในกรงเป็นเวลานานหลายเดือน นั่นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบศตวรรษที่นักชีววิทยาได้เห็นแมวชนิดนี้ตัวเป็น ๆ แมวตัวนี้มีจุดดำกระจัดกระจาย หางยาว 39.1 เซนติเมตร หรือ 73 เปอร์เซ็นต์ของความยาวหัว-ลำตัว (53.3 เซนติเมตร)

ในเดือนธันวาคม ปี 2541 วารสาร บีบีซีไวลด์ไลฟ์ ได้ตีพิมพ์ภาพของแมวแดงบอร์เนียวที่ยังมีชีวิตที่ดักจับได้จากสถานที่ที่ไม่เปิดเผย แมวตัวนั้นหลังจากชั่งน้ำหนัก วัดขนาดร่างกาย ตรวจสอบทางกายภาพและกำจัดปรสิตแล้ว ก็ปล่อยกลับเข้าป่าไป 

และในปี 2543 มีรายงานว่าแมวแดงบอร์เนียวสองตัวติดแร้วของนายพรานใกล้หมู่บ้านในรัฐซาบาห์ แมวสองตัวนั้นถูกขายให้แก่นายหน้าผู้ซึ่งต่อมาได้ทำเรื่องขอเอกสารเพื่อส่งออกไปยังอเมริกา แต่แมวทั้งสองก็ตายลงก่อนที่จะส่งไป  

ปัจจุบันแมวแดงบอร์เนียวได้รับการคุ้มครองในพื้นที่กระจายพันธุ์เกือบทั้งหมด ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลมากนัก ไอยูซีเอ็นจัดอยู่ระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ คาดว่ามีประชากรเหลืออยู่ไม่ถึง 10,000 ตัวเท่านั้น

ประเทศที่ห้ามล่าและซื้อขาย

อินโดนีเซีย มาเลเซีย (ซาบาห์และซาราวัก)

ประเทศที่ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์

บรูไนดารุสซาราม 
Catopuma badia
ชื่อไทยแมวแดงบอร์เนียว
ชื่อวิทยาศาสตร์Catopuma badia
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลCatopuma

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://www.canuck.com/iseccan/bbay.html
  • http://www.catmine.com/big/bornean_bay_cat.htm
  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/baycat.htm
  • Walker's Mammals of the World, sixth edition, 1999, Ronald M. Novak.
  • Wild Cats of the World, Mel Sunquist and Fiona Sunquist, The university of Chicago Press.
  • http://www.bbc.co.uk/nature/animals/features/61now.shtml
  • http://www.canuck.com/iseccan/where.html
  • http://lynx.uio.no/catfolk/badia01.htm

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 30 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 15 ต.ค. 66

Powered by Wimut Wasalai