เก้ง, อีเก้ง, ฟาน

Common barking deer, Common muntjac

Muntiacus muntjak

เก้ง (Muntiacus muntjak(ภาพโดย แสงชัย เตชะสถาพร)


เก้ง เป็นสัตว์กีบที่เห็นได้ง่ายที่สุดชนิดหนึ่งในป่าเมืองไทย รูปร่างแบบกวาง แต่ตัวเล็ก หลังโก่งเล็กน้อย ลำตัวสีน้ำตาลแดง ด้านใต้ซีดและอมเทาเล็กน้อย หางด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างสีขาว เก้งตัวผู้มีเขาสั้น ฐานเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระโหลกยื่นยาวขึ้นไปเป็นแท่ง มีขนปกคลุม และมีขนสีดำขึ้นตามแนวเขาจนดูเป็นรูปตัววีเมื่อมองด้านหน้าตรง ส่วนปลายเขาสั้น แต่เป็นง่ามเล็ก ๆ แค่สองง่าม ไม่แตกเป็นกิ่งก้านแบบกวาง ผลัดเขาปีละครั้ง ส่วนตัวเมียไม่มีเขาและฐานเขา แต่บนหน้าก็มีขนรูปตัววีเหมือนกัน เก้งตัวที่อายุมากผู้มีเขี้ยวยาวแหลมโค้งโผล่พ้นขากรรไกรออกมา เก้งเวลาเดินจะยกขาสูงทุกก้าว 

เก้งร้องเสียงคล้ายหมาเห่า แต่ดังมาก จนบางคนที่ได้ยินเมื่อเข้าป่าอาจตกใจคิดว่าเป็นหมาป่าได้ ภาษาอังกฤษจึงชื่อเรียกว่าเก้งอีกชื่อหนึ่งว่า barking deer ซึ่งแปลว่า "กวางเห่า" นั่นเอง

เก้งหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่จะพบตอนเย็นหรือหัวค่ำ และตอนเช้ามืดจนถึงช่วงสาย อดน้ำไม่เก่ง จึงมักอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ อาหารหลักได้แก่ยอดไม้ หน่ออ่อน ใบไม้ ผลไม้ และรวมถึงเปลือกไม้ด้วย ไม่ค่อยกินหญ้า

เขตกระจายพันธุ์ของเก้ง แพร่กระจายในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ ศรีลังกา อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะบอร์เนียว เกาะไหหลำ และหมู่เกาะซุนดา

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในฤดูหนาว ตั้งแต่พฤศจิกายนถึงมกราคม ตกลูกต้นฤดูฝนพอดี ปกติตกลูกครั้งละหนึ่งตัว ตั้งท้องนานราว เดือน ออกลูกตามใต้พุ่มไม้ ลูกเก้งมีจุดสีขาวตามตัว เมื่ออายุได้ราว เดือน จุดสีขาวนั้นจึงค่อยจางหายไป เก้งผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุได้ 18 เดือน อายุขัยประมาณ 15 ปี

ทราบหรือไม่?


สัตว์ตระกูลเก้งบางชนิดไม่ผลัดเขา

Muntiacus muntjak
ชื่อไทยเก้ง, อีเก้ง, ฟาน
ชื่อวิทยาศาสตร์Muntiacus muntjak
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Cervidae
วงศ์ย่อยCervinae
สกุลMuntiacus

ข้อมูลอ้างอิง

  • เก้ง จาก สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช (http://www.tistr.or.th/sakaerat/Flora_Fauna/mammals/mammals.htm))

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 24 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 2 ก.ย. 64

Powered by Wimut Wasalai