อีเห็นลายเสือโคร่ง, อีเห็นลายพาด
Banded Civet, Banded Palm Civet
Hemigalus derbyanus
อีเห็นลายเสือโคร่งมีขนาดเท่าแมวบ้านตัวเล็ก หนัก 1-3 กิโลกรัม ลำตัวเรียวยาว ความยาวหัว-ลำตัว 46-53 เซนติเมตร ลำตัวสีเหลืองอมเทา มีลายแถบสีดำ 7-8 แถบพาดเป็นบั้งไปตามแนวสันหลังจนถึงโคนหาง แถบดำแต่ละแทบพาดลงมาถึงข้างลำตัว ไม่ถึงท้อง หางยาว 25-38 เซนติเมตร ครึ่งปลายหางสีเข้มเรียบไม่มีลาย ใต้ลำตัวมีสีอ่อนกว่าด้านข้าง ขนบริเวณท้ายทอยชี้ย้อนกลับ อุ้งเล็บหดได้เล็กน้อย กระบอกปากเรียวแหลมเป็นรูปกรวย มีฟัน 40 ซี่ สูตรฟัน 3/3;1/1;4/4;2/2 ซึ่งเป็นสูตรที่พบได้ในกลุ่มชะมดและอีเห็นเป็นส่วนใหญ่ ฟันกรามมีสามปุ่มฟัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีต่อมข้างก้นที่พัฒนาไม่เต็มที่
(ภาพโดย Greg HumeView )
อีเห็นลายเสือโคร่งอาศัยอยู่ตามป่าฝนที่ราบต่ำที่เป็นป่าบริสุทธิ์มีต้นไม้สูง เรือนยอดแน่นทึบ แต่ก็พบได้บ้างตามป่าที่ถูกรบกวน ป่าพรุ รวมถึงไร่อาเคเซีย ในบอร์เนียวพบได้ถึงระดับสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล พบในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ตอนใต้ของพม่าและไทย
อีเห็นลายเสือโคร่งออกหากินเวลากลางคืนในเวลากลางวันจะนอนหลับอยู่ในโพรงดินหรือบนต้นไม้ อาหารหลักคือแมลง บางครั้งอาจกิน หอย กบ ทาก แมงมุม บ้าง ในแหล่งเพาะเลี้ยงเคยพบว่ากินกล้วยด้วย แต่ในธรรมชาติไม่เคยพบว่ากินพืชหรือผลไม้ชนิดไหนเลย
อีเห็นลายเสือโคร่งเป็นสัตว์รักสันโดษตัวผู้กับตัวเมียจะเข้าหากันเพื่อจับคู่กันเพื่อผสมพันธุ์เท่านั้น การทิ้งกลิ่นเป็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญของสัตว์ชนิดนี้ ทั้งเพื่อการประกาศอาณาเขตและสื่อสารระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีการสื่อสารทางเสียงอีกด้วย ทำเสียงได้หลายแบบ เช่น ทำเสียงซู่ซี่ พ่นน้ำลาย ขันคู ๆ ในลำคอ ครางเสียงสูง คำรามต่ำ ๆ
การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในสัตว์ชนิดนี้คาดว่าอีเห็นลายเสือโคร่งติดสัดได้ปีละหลายครั้ง แต่ละครั้งมีคาบ 4-7 วัน ในแหล่งเพาะเลี้ยง ตัวเมียไม่สร้างรังเลี้ยง ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว ลูกแรกเกิดหนัก 125 กรัม ลืมตาได้เมื่อ 8-12 วัน เริ่มกินอาหารแข็งได้เมื่ออายุได้ 70 วัน ออกลูกปีละสองครั้งเช่นเดียวกับสัตว์ในตระกูลเดียวกัน ครั้งหนึ่งในต้นฤดูร้อน และอีกครั้งในปลายฤดูฝน ในแหล่งเพาะเลี้ยง อีเห็นลายเสือโคร่งมีอายุขัยราว 11-13 ปี
การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของอีเห็นลายเสือโคร่งการที่ลักษณะของถิ่นที่อยู่ของสัตว์ชนิดนี้เป็นสถานที่ที่ถูกบุกรุกแผ้วถางและเปลี่ยนสภาพได้ง่าย ทำให้จำนวนประชากรของอีเห็นลายเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็ว การถูกล่าก็เป็นภัยคุกคามที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง การที่อีเห็นลายเสือโคร่งหากินบนพื้นดินเป็นหลัก จึงติดแร้วและกับดักต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าอีเห็นชนิดอื่นที่มักอาศัยบนต้นไม้ ในซาราวักก็ยังมีการล่าอีเห็นชนิดนี้เพื่อกินเป็นอาหารอยู่ อีเห็นลายเสือโคร่งอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของไซเตส ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพประชากรว่าอยู่ในระดับ เสี่ยงสูญพันธุ์ (2551) ไทยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
อีเห็นลายเสือโคร่งอาศัยอยู่ตามป่าฝนที่ราบต่ำที่เป็นป่าบริสุทธิ์
อีเห็นลายเสือโคร่งออกหากินเวลากลางคืน
อีเห็นลายเสือโคร่งเป็นสัตว์รักสันโดษ
การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักในสัตว์ชนิดนี้
การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของอีเห็นลายเสือโคร่ง
Hemigalus derbyanus | |
---|---|
ชื่อไทย | อีเห็นลายเสือโคร่ง, อีเห็นลายพาด |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Hemigalus derbyanus |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Viverridae |
วงศ์ย่อย | Hemigalinae |
สกุล | Hemigalus |
ข้อมูลอ้างอิง
- Hemigalus derbyanus จาก Animal Diversity Web