หมาไม้
Yellow-throated marten, Kharza, Chuthraul
Martes flavigula
หมาไม้ (Martes flavigula) (ภาพโดย วิมุติ วสะหลาย)
หมาไม้เป็นสัตว์ในกลุ่มเพียงพอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเก่า
ร่างกายกำยำแข็งแรง ตัวผู้ลำตัวยาว 50-71.9 เซนติเมตร หนัก 2.5-5.7 กิโลกรัม ตัวเมียตัวเล็กกว่า ยาว 50 - 62 เซนติเมตร หนัก 1.2-3.8 กิโลกรัม ขนสั้นเรียบติดตัว ในฤดูหนาวขนจะยาวกว่าในฤดูร้อน ส่วนหัวเหนือริมฝีปากบนมีสีน้ำตาลเข้ม บริเวณแก้มมีสีอมแดงเล็กน้อย คางและริมฝีปากล่างสีขาว หลังหูดำ หน้าอก ท้อง โคนขาหน้าและขาหน้าท่อนบนสีเหลืองอ่อน อุ้งตีนหน้าและปลายขาตั้งสี่สีดำสนิท หางสีดำเป็นมัน ปลายหางอมม่วง โคนหางสีน้ำตาลอมเทา หัวค่อนข้างแหลม คอยาว ใบหูใหญ่ปลายมน หางยาวราวสองในสามของลำตัว ขนหางไม่ฟูมากนักเมื่อเทียบกับสัตว์จำพวกหมาไม้ชนิดอื่น ๆ ขาค่อนข้างสั้น แข็งแรง อุ้งตีนกว้าง ฝ่าตีนมีขนหยาบ ๆ ปกคลุม
หมาไม้มีเขตกระจายพันธุ์กว้างมาก คลุมพื้นที่ทั้งเขตกึ่งโซนร้อนและเขตร้อน ตั้งแต่เขตเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงตะวันออกของรัสเซีย รวมถึงไต้หวัน เกาหลี ทางใต้สุดจรดคาบสมุทรมลายู รวมถึง เกาะบอร์เนียว สุมาตรา และชวา อาศัยได้ในพื้นที่หลายประเภท ตั้งแต่ป่าสปรูซ ป่าพืชเมล็ดเปลือย ป่าบึง แม้แต่ภูเขาสูงที่ไม่มีไม้ยืนต้น และป่าชั้นสอง พบได้ตั้งแต่ระดับระดับน้ำทะเลจนถึง 3,000 เมตร
หมาไม้มีอาณาเขตหากินกว้าง มีอาณาเขตประมาณ 1.7-11.8 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตซ้อนเหลื่อมกัน 34 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย ในพื้นที่เขตหนาว เดินทางวันละ 10-20 กิโลเมตร แต่หมาไม้ในประเทศไทยเดินทางวันละประมาณ 1 กิโลเมตร และมีอาณาเขตประมาณ 7.2 ตารางกิโลเมตร
หมาไม้หากินเวลากลางวันเป็นส่วนใหญ่ มักหากินเป็นคู่ หรืออาจรวมฝูงเป็นฝูงเล็ก เพื่อล่าเหยื่อ กินทั้งสัตว์ขนาดเล็กและผลไม้ สัตว์เหยื่อมีตั้งแต่ หนู กระต่าย กิ้งก่า ไข่ ไก่ บางครั้งก็กินซาก เคยมีรายงานกินศพมนุษย์ด้วย หมาไม้ล่าได้แม้แต่สัตว์ใหญ่ระดับลูกกวางหรือลูกเก้งที่มีน้ำหนักถึง 12 กิโลกรัม โดยเฉพาะหมาไม้ในเขตเทือกเขาหิมาลัยและพม่าที่ถนัดในการล่าลูกเก้งลูกกวางมาก บางพื้นที่ที่มีเสือโคร่ง หมาไม้อาจอาศัยตามรอยเสือโคร่งเพื่อแอบกินซากที่เสือโคร่งทิ้งไว้
นอกจากสัตว์แล้ว หมาไม้ยังกินผลไม้และน้ำหวานด้วย และค่อนข้างจะชอบกินผลไม้มากกว่าเนื้อสัตว์เสียอีก จึงมีบทบาทเป็นผู้แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืชที่สำคัญ
หมาไม้เป็นสัตว์มีนิสัยดุร้าย และกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวภัยอันตรายแม้แต่มนุษย์และหมา แต่ในแหล่งเพาะเลี้ยงก็เป็นสัตว์ที่เลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย ปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว กระโดดระหว่างกิ่งไม้ได้ไกล 8-9 เมตรได้ แต่ส่วนใหญ่หากินบนพื้นดิน หมาไม้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีหิมะ เมื่อถึงฤดูที่มีหิมะปกคลุมจะหากินแต่บนต้นไม้อย่างเดียว
ติดสัดปีละสองครั้ง คือกลางเดือนกุมภาพันธ์-ปลายเดือนมีนาคม และปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนสิงหาคม ในช่วงเวลานี้หมาไม้ตัวผู้ต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมีย คาดว่าเป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว ออกลูกคราวละ 2-3 ตัว แม่หมาไม้ตั้งท้องนานถึง 220-290 วัน ข้อมูลทางชีววิทยาด้านอื่นยังมีไม่มากนัก หากสมมติว่ามีชีววิทยาเหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน ลูกหมาไม้ก็น่าจะหย่านมเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ และอยู่กับแม่นาน 3-4 เดือน ก่อนจะแยกออกไปหากินด้วยตัวเอง หมาไม้ในแหล่งเพาะเลี้ยงที่อายุยืนที่สุดอยู่ได้ 16 ปี
ภัยคุกคามและศัตรูในธรรมชาติของหมาไม้มีไม่มากนัก จำนวนประชากรยังค่อนข้างคงที่ และมีอยู่ทั่วเขตกระจายพันธุ์ ไอยูซีเอ็นประเมินว่าไม่ถูกคุกคาม ยกเว้นเพียงหมาไม้พันธุ์ฟอร์โมซัน (Martes flavigula chrysospila) ซึ่งอยู่ในระดับอันตราย และหมาไม้พันธุ์ที่อยู่ในอินเดียที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 3 ของไซเตส ในไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ภาพหมาไม้จากโซเชียลมีเดีย
Martes flavigula |
ชื่อไทย | หมาไม้ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Martes flavigula |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Carnivora |
วงศ์ | Mustelidae |
วงศ์ย่อย | Mustelinae |
สกุล | Martes |
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 30 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 6 ธ.ค. 66