สมัน, เนื้อสมัน, กวางเขาสุ่ม
Schomburgk's Deer
Rucervus schomburgki
เนื้อสมัน (Rucervus schomburgki) (ภาพโดย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย)
สมันเป็นกวางขนาดกลาง
มีเขาสวยงามมากจนได้ชื่อว่าเป็นกวางที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของโลก น้ำหนัก 100-120 กิโลกรัมมีความยาวลำตัว 180 เซนติเมตร ความสูงหัวไหล่ 104 เซนติเมตร หางยาว 10 เซนติเมตร ขนหยาบสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างลำตัวและบริเวณแก้มจางกว่า บริเวณจมูกสีเข้มหรือสีดำ สีบริเวณขาและหน้าผากค่อนข้างอมแดง ใต้หางสีขาว ขนแผงคอยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
เขาสมันตีวงกว้าง โค้ง และแตกกิ่งมาก ดูเหมือนสุ่มหงาย จึงมีชื่ออีกชื่อว่า "กวางเขาสุ่ม" กิ่งรับหมา (brow tine) ยาวและชี้มาด้านหน้าเป็นมุม 60 องศากับใบหน้า กิ่งอื่นยาวกิ่งละประมาณ 30 เซนติเมตร ลำเขา (beam) ตั้งฉากกับกิ่งรับหมา ความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร การแตกกิ่งมักจะแตกออกเป็นสองกิ่งเสมอ โดยเฉลี่ยเขาแต่ละข้างมีจำนวนกิ่งทั้งสิ้น 8-9 กิ่ง ความยาวเฉลี่ยของเขา 65 เซนติเมตร เคยมีบันทึกว่ามีสมันที่เขาแตกกิ่งมากถึง 33 กิ่ง
สมันตัวเมียไม่มีเขา และลักษณะคล้ายละมั่งมาก ชาวบ้านบางท้องที่จึงมีความเชื่อว่าสมันมีเฉพาะตัวผู้เท่านั้น และเมื่อสมันตัวผู้ผสมพันธุ์กับละมั่งจะให้ลูกเป็นสมันหรือละมั่งก็ได้
สมันอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ประกอบด้วยตัวผู้เต็มวัยหนึ่งตัว ที่เหลือคือเหล่าตัวเมียและลูกกวาง ตอนกลางวันสมันมักหลับพักผ่อนอยู่ในร่มไม้หรือดงหญ้าสูง ออกหากินเวลาเย็นจนถึงรุ่งเช้า อาหารหลักคือหญ้า ชอบอยู่ในป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้าน้ำแฉะ ไม่ชอบป่าทึบ เมื่อฤดูน้ำหลาก สมันจึงต้องหนีไปอยู่บนเนินที่น้ำท่วมไม่ถึงซึ่งกลายเป็นเกาะกลางทุ่ง ในช่วงนี้จึงตกเป็นเป้าของพรานได้ง่าย
สมันเป็นสัตว์สัญชาติไทยโดยแท้จริง เพราะพบได้ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น กระจายพันธุ์อยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมุทรปราการขึ้นไปจนถึงสุโขทัย ตะวันออกสุดถึงจังหวัดนครนายกและฉะเชิงเทรา ทางตะวันตกพบถึงสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
จากการล่าและการบุกรุกพื้นที่ของมนุษย์เพื่อเปลี่ยนทุ่งหญ้าธรรมชาติมาเป็นไร่นา ทำให้ประชากรสมันลดจำนวนลงจนกระทั่งสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในปี พ.ศ.2475 มีบันทึกว่าสมันตัวสุดท้ายในธรรมชาติอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตัวผู้ที่มีเขาสวยงาม ถูกยิงตายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นจึงเหลือเพียงสมันในกรงเลี้ยงเท่านั้น แต่น่าเศร้าที่การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงทำไม่สำเร็จ จึงไม่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นได้อีก ในปี 2481 พระยาวินิจวนันดร รับราชการในกรมป่าไม้ได้ทราบข่าวว่าที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ได้เลี้ยงสมันเพศผู้อยู่ตัวหนึ่ง จึงพยายามติดต่อขอซื้อเพื่อนำมาเพาะเลี้ยง แต่เมื่อไปถึงก็สายเกินไป เพราะก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน มีชายมอญขี้เมาคนหนึ่งมาตีสมันตัวนั้นตายไปเพียงเพราะมายืนขวางทาง หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเห็นสมันอีกเลย สมันผู้โชคร้ายตัวนั้นจึงน่าจะเป็นสมันตัวสุดท้ายในโลก แม้จะมีข่าวลือว่าพบสมันอีกในที่ต่าง ๆ แต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ ซากที่สมบูรณ์ของสมันมีเพียงซากเดียวเท่านั้น เก็บอยู่ในกรุงปารีส ซึ่งเป็นซากของสมันตัวที่อาศัยอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์ (Jardin des Plantes) ในปี 2410
ก่อนหน้าที่สมันจะสูญพันธุ์ มีความพยายามจากจากชาวต่างชาติในการจับมาเพาะเลี้ยง แต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ของไทยไม่ให้ความร่วมมือและไม่ให้ความสำคัญ บ้างก็พาไปยังป่าที่ไม่มีเนื้อสมันเพราะไม่เข้าใจว่าเนื้อสมันต่างจากกวางป่าอย่างไร
ปัจจุบันสมันยังมีชื่อเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เนื่องจากการคุ้มครองมีผลไปถึงซากด้วย
สมันมีสัตว์ร่วมสกุลอีกสองชนิดคือ ละอง,ละมั่ง (Rucervus eldii) และ กวางบึง (Rucervus duvaucelii)
ทราบหรือไม่?
●ในโลกมีกวาง 43 ชนิด สมันเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
●คำว่า "เนื้อ" ในชื่อเนื้อสมัน หมายถึงกวางขนาดเล็ก ในเมืองไทยมีกวางจำพวกเนื้อสองชนิดคือ เนื้อสมัน และเนื้อทราย
Rucervus schomburgki |
ชื่อไทย | สมัน, เนื้อสมัน, กวางเขาสุ่ม |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Rucervus schomburgki |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Artiodactyla |
วงศ์ | Cervidae |
วงศ์ย่อย | Cervinae |
สกุล | Rucervus |
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 16 ธ.ค. 66