ละอง, ละมั่ง
Eld's Deer, Brow-antlered deer, Thamin, Dancing Deer
Rucervus eldii
ละอง (Rucervus eldii)
ละองและละมั่งเป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน
ละอง คือตัวผู้ ละมั่งคือตัวเมีย บางครั้งชาวบ้านก็เรียกทั้งตัวผู้และตัวเมียว่าละมั่ง
ละองและละมั่งเป็นกวางขนาดกลาง เล็กกว่ากวางป่า ลักษณะทั่วไปใกล้เคียงกวางบาราซิงกาที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน เป็นกวางที่รูปร่างสวยงามมาก ความสูงที่หัวไหล่ประมาณ 110 เซนติเมตร ความยาวหัว-ลำตัว 150-180 เซนติเมตร หนัก 150 กิโลกรัม หางยาว 20-30 เซนติเมตร ไม่มีวงก้น คอค่อนข้างเรียว ขนกลางสันหลังสีดำ ในฤดูร้อนขนมีสีน้ำตาลแดง แต่ในฤดูหนาวสีจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเข้ม ละองค่อนข้างสีเข้มกว่าละมั่งเล็กน้อย ขนหยาบ โดยเฉพาะบริเวณคอของละอง
ละองมีเขาโค้งยาวไปด้านหลังแล้วตีวงม้วนมาด้านหน้า เขาบางตัวอาจยาวถึง 2 เมตร มีกิ่งสั้น ๆ ที่ปลายเขา ส่วนใหญ่มี 12 กิ่ง แต่บางตัวอาจมีมากถึง 20 กิ่ง กิ่งรับหมายาวมาก ผลัดเขาปีละครั้ง เขาจะโตเต็มที่เมื่ออยู่ในฤดูผสมพันธุ์
ส่วนละมั่งตัวเล็กกว่าละอง และไม่มีเขา
ละองและละมั่งมีสามพันธุ์ ได้แก่พันธุ์อินเดีย หรือพันธุ์อัสสัม หรือพันธุ์มานิเปอร์ (C. e. eldii) พบในจังหวัดมานิเปอร์ของอินเดีย พันธุ์พม่า (C. e. thamin) พบในประเทศพม่า ตัวใหญ่กว่าพันธุ์อินเดีย และพันธุ์ไทย (C. e. siamensis) มีเขาแตกกิ่งมากที่สุด พบในประเทศไทยและจีน เคยมีผู้จำแนกละมั่งในเกาะไหหลำเป็นอีกชนิดย่อยหนึ่งคือ พันธุ์ไหหลำ (C. e. hainanus) พันธุ์นี้เขาจะเล็กและไม่แตกกิ่ง แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นพันธุ์เดียวกับพันธุ์ไทย
สันนิษฐานว่ามีอุปนิสัยคล้ายกวางบาราซิงกา ละองและละมั่งรวมฝูงแยกเพศกัน แต่ละฝูงอาจมีมากถึง 50 ตัว ตัวผู้มีเขตหากินประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียมีเขตหากินเพียงหนึ่งในสี่และอยู่ในพื้นที่ของตัวผู้ มักหากินตอนกลางคืน กินอาหารหลายชนิด เช่นพืชน้ำ หญ้า และยอดไม้ ชอบกินดินโป่งเช่นเดียวกับกวางป่า
ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคมคือฤดูผสมพันธุ์ ฝูงละองจะเข้ามารวมกับฝูงละมั่ง ละองจะต่อสู้กันเพื่อแย่งสิทธิในการผสมพันธุ์และครอบครองฝูงละมั่ง ละมั่งตั้งท้องนานราว 220 ถึง 240 วัน ออกลูกครั้งละตัว ลูกกวางแรกเกิดมีลายจุดทั่วตัว เมื่อโตขึ้นจุดบนลำตัวค่อยจางไป หย่านมเมื่ออายุได้ 7 เดือน เมื่ออายุ 18 เดือนก็เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ละองและละมั่งมีอายุขัยราว 10 ปี
กวางชนิดนี้เคยพบตลอดตอนเหนือของอินเดียจนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอินเดีย พม่า ไทย เวียดนาม และภาคใต้ของจีน แต่จำนวนประชากรได้ลดลงไปอย่างรวดเร็วในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการล่า แต่สาเหตุหลักเป็นเพราะสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย กวางชนิดนี้ไม่ชอบป่าทึบ แต่ชอบป่าเปิดใกล้ลำธารหรือหนองน้ำ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวก็เหมาะแก่การเพาะปลูกเช่นกัน เมื่อประชากรมนุษย์เพิ่มขึ้น พื้นที่หากินของละองและละมั่งก็ลดลงไป
ละมั่งพันธุ์อินเดียเหลืออยู่เพียง 200 ตัว พบในอุทยานแห่งชาติ เคบูล ส่วนพันธุ์พม่ายังเหลือประมาณ 2,000-3,000 ตัวกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยมีแหล่งขยายพันธุ์หลักอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแคตทิน ส่วนพันธุ์ไทยคาดว่ายังมีอยู่ในเทือกเขาพนมดงรักและในเกาะไหหลำ จำนวนประชากรไม่ทราบแน่ชัดแต่คาดว่าเหลือน้อยมาก ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพประชากรของละองและละมั่งไว้ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ ไซเตสจัดให้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1
ทราบหรือไม่?
●สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ในแอฟริกามักเรียกสัตว์จำพวกแอนติโลปว่า ละมั่ง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ละมั่งกับแอนติโลปแม้มีรูปร่างคล้ายกันแต่สายเลือดห่างกันมาก แอนติโลปใกล้เคียงวัวควายมากกว่าละมั่งเสียอีก
Rucervus eldii |
ชื่อไทย | ละอง, ละมั่ง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Rucervus eldii |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Artiodactyla |
วงศ์ | Cervidae |
วงศ์ย่อย | Cervinae |
สกุล | Rucervus |
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 25 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 28 ก.ย. 64