ชะนีดำใหญ่, ไซแมง
Siamang, greater gibbon
Symphalangus syndactylus
ชื่อพ้อง
●Hylobates
syndactylus (Raffles, 1821)
●Symphalangus continentis Thomas, 1908
●Symphalangus gibbon (C. Miller, 1779)
●Symphalangus subfossilis Hooijer, 1960
●Symphalangus volzi (Pohl, 1911)
ลักษณะทั่วไป
ชะนีดำใหญ่เป็นชะนีที่ใหญ่ที่สุด ขนหยาบยาวสีดำเป็นมันวาว หน้าอกกว้าง กระหม่อมแบน มีถุงใต้คางโป่งพองได้คล้ายคนเป็นคอพอก ถุงนี้พองได้ใหญ่เท่ากับหัวของตัวเองเลยทีเดียว ถุงนี้ทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงช่วยขยายเสียงให้ดังกังวานยิ่งขึ้น โพรงกะโหลกใหญ่ ใบหน้าเกลี้ยงไม่ค่อยมีขน มีเขี้ยวยาวทั้งสองเพศ ตัวสูง 73.7-88.9 เซนติเมตร ตัวผู้หนัก 11.9 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 10.7 กิโลกรัม แขนยาวประมาณ 2.3-2.6 เท่าของความยาวลำตัว ไม่มีหางเช่นเดียวกับกับชะนีทั่วไป แต่ชะนีดำใหญ่ตัวผู้มีขนที่บริเวณอวัยวะเพศเป็นพู่ที่ยาวได้ถึง 13.5 เซนติเมตร ซึ่งมองเผิน ๆ อาจดูคล้ายหาง นิ้วชี้และนิ้วกลางมีพังผืดเชื่อมติดกัน บางครั้งพังผืดนี้อาจพบในระหว่างนิ้วนางกับนิ้วก้อยด้วย
ถิ่นที่อยู่อาศัย
พบได้ในป่าหลายประเภท ป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าชั้นสอง ทั้งในที่ต่ำและป่าตามภูเขา มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลมากกว่าชะนีชนิดอื่น แต่ส่วนใหญ่พบที่ระดับต่ำกว่า 1,500 เมตร เคยพบที่ระดับสูงที่สุด 1,828 เมตร เขตกระจายพันธุ์อยู่ในทางตะวันตกของเกาะสุมาตราและคาบสมุทรมลายู ทั้งสองพื้นที่นี้ต่างชนิดย่อยกัน พวกที่อยู่ในคาบสมุทรมลายูคือชนิดย่อย S. s. continentis ส่วนพวกที่อยู่ในเกาะสุมาตราคือชนิดย่อย S. s. syndactylus มีรายงานพบในเขตประเทศไทยหนึ่งครั้งที่จังหวัดนราธิวาสในปี 2540
อุปนิสัย
ชะนีดำใหญ่ออกหากินตั้งแต่เช้าครู่ การหากินจะคึกคักที่สุดในช่วงเช้า ส่วนในช่วงบ่ายจะหากินน้อยลงและพักมากขึ้น ชะนีดำใหญ่เคลื่อนที่ด้วยการห้อยโหนไปตามกิ่งไม้เป็นหลัก อาจมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของการเคลื่อนที่ทั้งหมด แต่เมื่อลงพื้นดิน จะเดินด้วยสองขา เปรียบเทียบกับชะนีชนิดอื่นแล้ว ชะนีดำใหญ่ออกจะเชื่องช้ากว่า ชะนี้ดำใหญ่ฝูงหนึ่งมีสมาชิกเฉลี่ย 3.9 ตัว มีความสัมพันธ์ในฝูงแนบแน่นมาก มักอยู่ใกล้ชิดกันเกือบตลอดเวลา อาหารหลักของชะนีดำใหญ่คือผลไม้โดยเฉพาะลูกไทร รองลงมาคือใบไม้สด ดอกไม้ และแมลง เมื่อถึงเวลากลางคืน ชะนีจะเข้านอน มักมีต้นนอนประจำและเลือกนอนบนกิ่งที่สูงที่สุดในต้นนอนเสมอ
อาณาเขตหากินของชะนีดำใหญ่เล็กกว่าชะนีชนิดอื่น ฝูงหนึ่งมีพื้นที่หากินประมาณ 0.2-0.48 ตารางกิโลเมตร ไม่ซ้อนเหลื่อมกันหรือซ้อนเหลื่อมกันน้อยมาก ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเรือนยอดของป่า เวลาเคลื่อนย้ายหากิน มักเดินทางในรูปแบบของแถวเรียงหนึ่ง เป็นสัตว์หวงถิ่นมาก ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะร้องสอดประสานเสียงกันเพื่อประกาศอาณาเขต ตัวผู้มักห้อยโหนไปมาตามกิ่งไม้ระหว่างร้อง เมื่อมีผู้บุกรุกเข้าไปในอาณาเขต (เช่นมนุษย์) ตัวผู้จะเป็นฝ่ายออกมาต้อนรับขับสู้ในขณะที่ตัวเมียจะล่าถอยไป หากผู้บุกรุกเป็นชะนีดำใหญ่ด้วยกัน ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะร่วมกันต่อสู้ปกป้องเขตแดนโดยไล่กวดกันไปตามกิ่งไม้ ทั้งตบตีและไล่กัด ในพื้นที่ที่ชะนีดำใหญ่อาศัยร่วมกับชะนีชนิดอื่น อาจต้องมีการแก่งแย่งเพื่ออาหารกันบ้างแม้ไม่บ่อยนัก แต่มีรายงานว่าเคยพบชะนีดำใหญ่ตัวผู้ตัวหนึ่งกับชะนีมือขาวตัวหนึ่งเดินทางหากินด้วยกัน รวมถึงมีการส่งเสียงร้องประสานเสียงกันด้วย
การสางขนเป็นพฤติกรรมสำคัญที่แสดงความเป็นสังคมของชะนีดำใหญ่ ชะนีดำใหญ่ตัวเต็มวัยจะใช้เวลาสางขนเฉลี่ยวันละ 15 นาที ตัวที่มีลำดับชั้นสูงกว่าจะเป็นผู้ให้ตัวอื่นสางขนมากกว่าสางขนให้ตัวอื่น ตัวผู้เต็มวัยจะสางให้ทั้งตัวเมียและตัวผู้วัยรุ่น ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะสางให้ตัวเมียมากกว่า
ชีววิทยา
ชะนีดำใหญ่ไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน เป็นสัตว์ผัวเดียวเมียเดียว แม้หากคู่ตายไปก็มักไม่ค่อยหาคู่ใหม่ ตั้งท้องครั้งละ 230-235 วัน ออกลูกคราวละ 1 ตัว แต่ละครองเว้นช่วงห่างยาว 2-3 ปี ลูกชะนีจะเกาะอยู่กับอกแม่ตลอดเวลา 3-4 เดือนแรก พ่อชะนีก็มีส่วนช่วยดูแลลูกด้วยเช่นกัน เช่นช่วยอุ้ม ช่วยสางขน เป็นเพื่อนเล่นกับลูก พี่น้องของชะนีเด็กที่เกิดในครอกก่อน ๆ ก็อาจช่วยเลี้ยงดูน้องด้วย ลูกชะนีหย่านมเมื่ออายุได้ 18-24 เดือน เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 6-7 ปี ชะนีดำใหญ่ตัวเมียอาจให้กำเนิดลูกได้ถึงกว่าสิบตัวตลอดอายุขัย ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุเกิน 40 ปี
สถานภาพ
แม้ชะนีดำใหญ่จะเป็นชะนีที่ดูจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด แต่การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยก็ยังคงเป็นภัยคุกคามหลักของสัตว์ชนิดนี้ และการลักลอบจับเพื่อนำไปเป็นสัตว์เลี้ยง ในเกาะสุมาตราคาดว่ามีประชากรอยู่ประมาณ 200,000 ตัว ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพว่า อันตราย (2551) ไซเตสจัดไว้ในบัญชีหมายเลข 1 ในไทยจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
Symphalangus syndactylus |
ชื่อไทย | ชะนีดำใหญ่, ไซแมง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Symphalangus syndactylus |
ชั้น | Mammalia |
อันดับ | Primates |
วงศ์ | Hylobatidae |
สกุล | Symphalangus |
ข้อมูลอ้างอิง
- http://pin.primate.wisc.edu/factsheets/entry/siamang
- http://www.iucnredlist.org/details/39779/0
- http://animaldiversity.ummz.umich.edu/accounts/Symphalangus_syndactylus/
เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 30 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 12 พ.ย. 66