แอฟริกาได้โควตาล่าเสือดาว 2,648 ตัว ไม้พะยูงฉลุย เข้าบัญชีที่ 2 ตามคาด

แอฟริกาได้โควตาล่าเสือดาว 2,648 ตัว ไม้พะยูงฉลุย เข้าบัญชีที่ 2 ตามคาด

12 มี.ค. 2556

วันที่ 12 มีนาคม  ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในการประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์ (ไซเตส) ที่ประชุมมีการพิจารณา ข้อเสนอของประเทศบอตสวานา แอฟริกาใต้ และ สหรัฐอเมริกา เรื่อง การกำหนดโควตา การล่าและส่งออกเสือดาวของประเทศในแอฟริกาใต้ 12 ประเทศ คือ บอตสวานา สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอธิโอเปีย เคนยา มาลาวี โมซัมบิก นามิเบีย แอฟริกาใต้ อูกานดา แทนซาเนีย แซมเบีย และซิมบาบเว  ซึ่งที่ประชุม มีข้อสรุปว่า ให้ประเทศเหล่านี้สามารถล่าเสือดาวตามจำนวนที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้ ต่อ ปี บอตสวานา 130 ตัว สาธารณรัฐแอฟริกากลาง 40 ตัว เอธิโอเปีย 500 ตัว เคนยา 80 ตัว มาลาวี 50 ตัว โมซัมบิก 120 ตัว นามิเบีย 250 ตัว แอฟริกาใต้ 150 ตัว อูกานดา 28 ตัว  แทนซาเนีย 500 ตัว แซมเบีย 300 และซิมบาบเว 500 ตัว รวมทุกประเทศสามารถล่าเสือดาว เพื่อเอาเนื้อ หัวกะโหลก หนัง ไปครอบครอบได้ทั้งหมด 2,648 ตัว

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า แอฟริกาเป็นทวีปที่ใหญ่ และมีสัตว์ป่าจำนวนมาก การที่แต่ละประเทศมีโควตาจำนวนมากขนาดนี้ แสดงว่าในประเทศนั้นๆมีเสือดาวในปริมาณที่มากพอตัวอยู่ ซึ่งการอนุญาตให้ล่าดังกล่าว ผู้ต้องการล่าจะต้องไปซื้อใบอนุญาตจากรัฐบาล เมื่อล่าได้แล้ว สามารถนำทุกส่วนของเสือดาวไปครอบครองได้ อย่างไรก็ตามปริมาณการล่าดังกล่าวกล่าว ไม่รวมเรื่องการลักลอบล่าโดยไม่ซื้อใบอนุญาตที่ถูกต้อง ซึ่งตามข้อมูลแล้ว เมื่อปี 2555 พบว่า มีคดีการลักลอบล่าแรดและเสือดาวเกิดขึ้นถึง 455 คดีด้วยกัน
“ความจริงแล้วเสือดาวเป็นหนึ่งในสัตว์ที่เรียกว่า บิ๊กไฟฟ์ ใครไปเที่ยวแอฟริกาแล้ว ต้องไปเห็นให้ได้ น่าคิดเหมือนกัน ที่มีการอนุญาตให้ล่ากันมากมายขนาดนี้ สำหรับในประเทศไทยแล้วทำแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ เพราะเสือดาวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง” นายธีรภัทร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้มีการพิจารณาข้อเสนอของประเทศไทย เรื่องการบรรจุไม้พะยูงไว้ในบัญชีที่ 2 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ไม้พะยูงถูกบรรจุอยู่ในบัญชีที่ 2

ที่มา

  • ห้องข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Powered by Wimut Wasalai