คาราคัล

Caracal

Caracal caracal

ลักษณะทั่วไป

คำว่า "คาราคัล" มาจากคำว่า "karakulak" ในภาษาตุรกี แปลว่า หูดำ ซึ่งเป็นจุดเด่นของแมวชนิดนี้ นอกจากดำแล้วหูยังใหญ่เรียว และมีขนปลายหูยาวชี้ออกไปถึงสองนิ้วอันเป็นลักษณะเด่นที่สุดของแมวชนิดนี้ คาดว่าขนหูที่ยาวนี้ใช้ประโยชน์ในการสื่อสาร หลังหูสีดำ ข้างปากมีจุดสีเข้ม เหนือตาสีดำ มีเส้นสีดำพาดจากตามาถึงจมูก ขนตามลำตัวสั้นเกรียนและแน่น สีน้ำตาลอ่อนจนถึงสีแดงอิฐ ขนบริเวณใต้ท้องยาวและซีดกว่าบริเวณอื่น ตาโต สีเหลืองน้ำตาล ลำตัวยาว 60-95 เซนติเมตร หางยาวราวหนึ่งในสามของความยาวลำตัว รอบตาขาว คางขาว ตัวผู้น้ำหนัก 10-18 กิโลกรัม ตัวเมียหนักได้ถึง 16 กิโลกรัม (เฉลี่ย 10 กิโลกรัม) เป็นแมวที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกา

 (ภาพโดย pixabay.com)



คาราคัลมีชื่อสามัญภาษาอังกฤษอีกชื่อว่า desert lynx แปลว่า ลิงซ์ทะเลทราย แต่รูปร่างไม่เหมือนลิงซ์เลย คาราคัลมีขายาว ลำตัวเพรียว หางยาวกว่าลิงซ์และปลายเรียว ขนแก้มของคาราคัลก็ไม่ยาวอย่างลิงซ์ สิ่งที่คล้ายกันอาจมีเพียงอย่างเดียวคือขนปลายหูที่ยาวเท่านั้น 

มีรายงานพบคาราคัลดำบ้างเหมือนกันแต่มีไม่มาก

ในอินเดีย เคยมีการเลี้ยงและฝึกคาราคัลไว้เพื่อล่าสัตว์ให้ชนสังคมชั้นสูงเช่นเดียวกับชีตาห์ คาราคัลในแถบนี้ตัวเล็กกว่าพวกที่อยู่ในพื้นที่กึ่งซาฮาราในแอฟริกา และตัวที่อยู่ในพื้นที่แห้งแล้งกว่าก็มีสีขนจางกว่า ส่วนคาราคัลในแถบเติร์กเมนิสถานมีขนขึ้นเป็นกระจุกที่อุ้งตีนแบบเดียวกับแมวทราย ในตอนกลางของอิสราเอลพบว่ามีประชากรที่เป็นคาราคัลดำอยู่ราว 5-10 เปอร์เซ็นต์ คาราคัลแบบพิเศษนี้มีสีแรกเกิดเกือบดำสนิท แต่เมื่อโตขึ้นจะเป็นสีเทา น้ำหนักเฉลี่ยของคาราคัลตัวผู้ในอิสราเอลราว 9.8 กิโลกรัม ส่วนตัวเมียราว 6.2 กิโลกรัม

ชื่อเรียกคาราคัลในภาษาต่าง 
อังกฤษcaracal, desert lynx, african lynx
ฝรั่งเศสcaracal
เยอรมันcaracal, Wüstenluchs
สเปนcaracal, lince africano
แอฟริกันส์ (แอฟริกาใต้)rooikat, lynx
อัมฮารา (เอธิโอเปีย)ambassa
ชาดguétté anasa
เฮาซา (Sahel)messo
คิสวาฮีลีsimbamangu
ลัว (เคนยา, อูกันดา)mwai
โซซา (แอฟริกาใต้)ngada
เดอเบเล (ซิมบับเว)indabutshe, intwane
โอวัมโบ (นามิเบีย)ayuku
ซาฟันดู (Peul/Foulbé)
เซตสวานา (บอตสวานา)thwane
โชนา (ซิมบับเว)hwang, twana
โซมาเลียgedudene, maharra
อาหรับajal, anaq al ardh, washag
เบอร์เบอร์ (แอลจีเรีย)warsal, bousboela, mousch, nouadhrar, aousak
ดารี (อัฟกานิสถาน)psk qarh qol
คุตชี (India)harnotro [นักฆ่าแบล็กบัก]
ฟาร์ซีcaracal
รัสเซียkarakal
ซาอุดีอาระเบียitfah
ตุรกีkarakulak, step vasagi
อุสเบกkarakulak


ชนิดย่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์เขตกระจายพันธุ์
C.c.caracalซูดาน-แอฟริกาใต้
C.c.algiraแอฟริกาเหนือ
C.c.damarensisนามิเบีย
C.c.limpopoensisบอตสวานา
C.c.lucaniกาบอง
C.c.nubicaซูดาน เอธิโอเปีย
C.c.poecilictisแอฟริกาตะวันตก
C.c.michaelisเติร์กเมเนีย *
C.c.schmitziอาหรับถึงอินเดีย *


ถิ่นที่อยู่อาศัย

เขตกระจายพันธุ์ของคาราคัล 



คาราคัลอาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง อดทนต่อสภาพที่อยู่อาศัยหลายประเภท พบในป่าวูดแลนด์ ซะวันนา และป่าละเมาะอะคาเซียทั่วทวีปแอฟริกา พบได้บ่อยในป่าที่ชุ่มชื่นใกล้ชายฝั่งเหนือทะเลทรายซาฮารา และยังพบในทะเลทรายของอินเดียด้วย แต่ไม่พบในป่าฝนเขตร้อน อยู่ได้สูงถึง 3,000 เมตร 

ในแอฟริกาใต้ คาราคัลอยู่ในป่าดิบและป่าบนเขาสูงทางใต้ของจังหวัดเคป ในเอธิโอเปีย คาราคัลพบได้สูงถึง 2,500 เมตร ในเทือกเขาเบลีและไซเมียน

อุปนิสัย

คาราคัลอดน้ำได้เก่ง เพียงน้ำจากตัวเหยื่อก็ดำรงชีวิตได้แล้ว ตอนกลางวันอันร้อนระอุจะพักอยู่ตามหลืบหิน หากินเฉพาะตอนเช้าและตอนเย็นที่อากาศเย็น 

การล่าของคาราคัลจะใช้วิธีย่องเข้าหาและพุ่งตะครุบเช่นเดียวกับแมวบ้าน ตัวผู้มีอาณาเขตหากินซ้อนทับพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว หากินโดยลำพัง จะหากินด้วยกันก็ต่อเมื่อต้องการผสมพันธุ์เท่านั้น 

ในประเทศแอฟริกาใต้แมวคาราคัลตัวผู้มีอาณาเขต 31-65 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวเมียใช้พื้นที่เพียง 4-31 ตารางกิโลเมตร คาราคัลตัวผู้เดินทางเฉลี่ยวันละ 10.4 +5.2 กิโลเมตร ส่วนตัวเมียเดินทางเฉลี่ยวันละ 6.6+4.1 กิโลเมตร เคยมีการแกะรอยคาราคัลตัวหนึ่งในทะเลทรายคารากัมในเติร์กเมนิสถานพบว่ามันเดินทางในเวลากลางคืนเป็นระยะทางถึง 20 กิโลเมตร 

คาราคัลกินสัตว์ฟันแทะเป็นอาหารหลัก เช่น เจอร์บัว หนูทราย กระรอกดิน นอกจากนี้ยังกิน นก ร็อกไฮแรก กระต่ายป่า สัตว์เลื้อยคลาน งูพิษ และแอนติโลปขนาดเล็กอย่างรีดบัก ดุยเกอร์ สปริงบอก กูดู 

คาราคัลที่อยู่ในทะเลทรายของเติร์กเมนิสถาน กินกระต่ายป่าโทไลเป็นอาหารหลัก บางครั้งก็จับสัตว์ใหญ่ได้เหมือนกัน เช่นกาเซลล์กอยเตอร์ ในอาหรับก็เคยพบคาราคัลฆ่าตัวโอริกซ์ และยังเคยพบรอยคาราคัลติดตามตัวกาเซลล์ดอร์คัสในแอลจีเรีย โดยเฉพาะคาราคัลในตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลสาบชาด ขึ้นชื่อในเรื่องการจับกาเซลล์กอยเตอร์ จึงมีชื่อเรียกในภาษาตูบูที่มีความหมายว่าแมวกาเซลล์ ในปากีสถานก็เคยมีคนเห็นคาราคัลย่องตามฝูงแกะป่ามูฟลอนตอนกลางวัน

บางครั้งคาราคัลก็กินซากด้วยแม้ไม่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติอิโตชาในนามิเบีย คาราคัลตัวเมียตัวหนึ่งรอให้เสือชีตาห์กินเหยื่อจนเสร็จจนจากไปแล้วค่อยไปกินซากที่เหลือ บางครั้งก็กินหญ้าและผลไม้ คาดว่าคาราคัลกินหญ้าและผลไม้เพื่อต้องการน้ำจากภายในเท่านั้น เมื่อจับเหยื่อได้จะลากไปในที่ลับตาเพื่อหลีกเลี่ยงสัตว์อื่นมารบกวน ถ้าเหยื่อตัวใหญ่กินคราวเดียวไม่หมด ก็จะคลุมเหยื่อด้วยหญ้าเพื่อกลับมากินคราวหลัง บางครั้งคาราคัลก็ลากเหยื่อขึ้นไปกินบนต้นไม้แบบเดียวกับเสือดาว ในการกินนก หากเป็นนกตัวใหญ่คาราคัลจะถอนขนก่อนกิน แต่ถ้าเป็นนกตัวเล็กจะกลืนเข้าไปทั้งตัว

ท่าเดินของคาราคัลคล้ายชีตาห์ แต่แมวชนิดนี้ไม่ใช่นักวิ่งเร็ว แม้จะวิ่งเร็วกว่าแมวชนิดอื่นที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน เมื่อถูกหมาวิ่งไล่จะวิ่งขึ้นต้นไม้ 

คาราคัลมีฝีมือเด่นด้านการกระโดด มันกระโดดได้สูงจากพื้นหลายฟุตขึ้นไปตบนก มันอาจจับนกพิราบได้คราวละราวสิบตัวในคราวเดียว ในอดีตในประเทศอินเดียและอิหร่าน เคยมีการฝึกคาราคัลให้ล่านกด้วย และนี่เป็นที่มาของสำนวนภาษาอังกฤษ ว่า 'to put cat amongst the pigeons' คาราคัลจะถูกนำไปไว้ในเวทีที่เต็มไปด้วยฝูงนกพิราบเพื่อแข่งขันกันว่าแมวตัวไหนจะฆ่านกได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงไว้เพื่อล่าแอนติโลป กระต่าย และหมาจิ้งจอกอีกด้วย 

คาราคัลหากินตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่ละคืนอาจเดินหากินเป็นระยะทางถึง 20 กิโลเมตร หลับพักผ่อนในโพรง หลืบหิน หรือพุ่มไม้ทึบ หรือบางครั้งก็บนต้นไม้ แมวชนิดนี้มักไม่ค่อยส่งเสียงนัก ส่วนใหญ่มักเป็นการ ส่งเสียงครางต่ำ ๆ และทำเสียงฟุดฟิดเมื่อฉุนเฉียว เสียงร้องเรียกคู่คล้ายเสียงเห่าและดัง สายตาและหูดีมาก แต่ความไวจมูกปานกลาง 

คาราคัลตัวผู้มีพื้นที่หากินเฉลี่ยประมาณ 221 ตารางกิโลเมตร ตัวเมียประมาณ 57 ตารางกิโลเมตร ยิ่งตัวใหญ่ก็ยิ่งมีพื้นที่หากินกว้าง อาณาเขตของตัวผู้จะซ้อนทับกันค่อนข้างมาก (ราว 50 เปอร์เซ็นต์) และซ้อนทับกับพื้นที่ของตัวเมียหลายตัว เคยพบคาราคัลตัวผู้ที่เดินทางไกลถึง 90 กิโลเมตรเพื่อแสวงหาอาณาเขต ส่วนตัวเมียจะใช้พื้นที่ไม่ไกลจากแหล่งกำเนิดเป็นอาณาเขตและพื้นที่ของตัวเมียซ้อนทับกับพื้นที่ของแม่ ส่วนคาราคัลในทะเลทรายเนเกฟในอิสราเอล ใช้พื้นที่หากินกว้างกว่าพวกที่อยู่ในแอฟริกาใต้ แม้จะมีเหยื่อให้กินมากอันเนื่องมาจากระชลประทานที่ดีก็ตาม


ชีววิทยา

คาดว่าคาราคัลผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ในแถบซาฮารามักผสมพันธุ์ในเดือนมกราคมซึ่งเป็นกลางฤดูหนาว มีช่วงเวลาเป็นสัดนาน 5-6 วัน และมีคาบการเป็นสัด 14 วัน ในช่วงเป็นสัดแมวตัวเมียอาจจับคู่กับตัวผู้ได้มากถึงสามตัว โดยจับคู่ตามลำดับบรรดาศักดิ์ของตัวผู้ ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุและขนาด แม่แมวตั้งท้องนาน 71-81 วัน ออกลูกครอกละ 1-4 ตัว บางครั้งอาจมากถึง ตัว ทำรังเลี้ยงลูกในโพรงหรือหลืบหินหรือพุ่มทึบ พื้นรังปูด้วยขน ลูกแมวแรกเกิดสีเข้มกว่าตัวผู้ใหญ่ ท้องมีจุดสีอมแดง จุดนี้จะจางหายไปเมื่อโตขึ้น ลืมตาได้ตั้งแต่วันแรก แต่จะเปิดเต็มที่ได้เมื่ออายุได้ 6-10 วัน ช่วงแรกลูกแมวจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นวันละ 21 กรัม เมื่ออายุได้สามสัปดาห์ แม่จะพาออกมาจากรังเพื่อย้ายรังเป็นครั้งแรก เมื่อลูกแมวอายุได้ 4-5 สัปดาห์ก็จะซุกซนมากและส่งเสียงร้องจิ๊บเหมือนนก เมื่ออายุได้ 10 สัปดาห์ก็หย่านม แต่จะยังคงอยู่กับแม่จนกระทั่งอายุครบขวบ แมวตัวผู้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 12.5-15 เดือน ส่วนตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 14-16 เดือน และคาดว่ามีลูกได้ทุกปี ตั้งท้องครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 18 ปี ในแหล่งเพาะเลี้ยงมีอายุได้ถึง 19 ปี

แมวชนิดนี้เพาะพันธุ์ได้ง่าย มีการเลี้ยงในสวนสัตว์หลายแห่ง 

ภัยคุกคาม

คาราคัลมักถูกล่าจากข้อหาว่าไปฆ่าสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กในฟาร์มของชาวบ้าน ข้อกล่าวหานี้มีส่วนจริง จากการวิเคราะห์กระเพาะและขี้ของคาราคัลนอกเขตคุ้มครอง พบว่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านเป็นเหยื่อประจำของคาราคัลจริงและมีอยู่ปริมาณพอสมควร (17-55%) อัตราสูญเสียสัตว์เลี้ยงมีมากถึง 5.3 ตัวต่อ 10 ตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตามปัญหานี้เกิดขึ้นเฉพาะในแอฟริกาใต้และนามิเบียเท่านั้น ในระหว่างปี 2474-2495 มีปฏิบัติการควบคุมจำนวนคาราคัลในพื้นที่คารู จากรายงานระบุว่ามีคาราคัลถูกฆ่าตายไปเฉลี่ย 2,219 ตัวต่อปี  ในปี 2532 มีการสำรวจกลุ่มนักล่าที่คอยล่าสัตว์ที่ก่อปัญหาในจังหวัดเคป พบว่า จำนวนของคาราคัลที่ถูกกำจัดและจับมีราว 0.02-1.6 ต่อ 10 ตารางกิโลเมตรต่อปี ในปี 2524 มีการสำรวจพบว่าคาราคัลถูกชาวบ้านฆ่าตายรวม 2,800 ตัว อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะควบคุมจำนวนคาราคัลนี้ดูเหมือนจะมีผลต่อจำนวนประชากรไม่มากนัก เพราะมักพบว่าหลังจากที่คาราคัลถูกกำจัดไปจากพื้นที่หนึ่ง คาราคัลตัวอื่นก็เข้ามาครอบครองพื้นที่แทน

การล่าเพื่อเอาหนังและเพื่อการเปิบพิสดารก็มีรายงานในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางเช่นกัน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรคาราคัลไม่หนาแน่นมากนัก

ภัยคุกคามอีกอย่างอย่างหนึ่งคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย เพราะชุมชนมนุษย์เริ่มรุกล้ำพื้นที่หากินของคาราคัล และสัตว์เหยื่อของคาราคัลก็ถูกกำจัดออกไปด้วย

สถานภาพ

จำนวนประชากรของคาราคัลในธรรมชาติยังไม่ทราบแน่ชัด ในเอเชียและตอนเหนือของทวีปแอฟริกาเหลือน้อยและถูกคุกคาม พันธุ์แอฟริกาใต้ (C.c. caracalที่อยู่ในแอฟริกาตอนใต้ยังมีอยู่มาก พบมากที่สุดในประเทศแอฟริกาใต้และนามิเบีย และเขตกระจายพันธุ์ในส่วนนี้ยังคงขยายออกไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่หมาจิ้งจอกหลังดำถูกชาวไร่กำจัดออกไปจากพื้นที่ สถานภาพโดยรวมของแมวชนิดนี้ในทวีปแอฟริกาถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย  ตรงข้ามกับชนิดย่อยที่อยู่ในเอเชียถูกคุกคามอย่างหนัก ในปี 2536 พบว่าในเติร์กเมนิสถานเหลือคาราคัลอยู่เพียง 250-300 ตัว ส่วนในอินเดียก็ถือเป็นสัตว์หายาก

ไซเตสจัดแมวคาราคัลในแอฟริกาไว้ในบัญชีหมายเลข ส่วนพันธุ์ที่อยู่ในเอเชียอยู่ในบัญชีหมายเลข 1

ประเทศที่ห้ามล่า

แองโกลา เบนิน บูร์กินาฟาโซ แคเมอรูน เอธิโอเปีย เคนยา มอริเตเนีย โมซัมบิก ไนจีเรีย ซาอีร์ แอลจีเรีย อินเดีย อิหร่าน อิสราเอล คาซัคสถาน โมร็อกโก ปากีสถาน ทาจิกิสถาน ตูนิเซีย ตุรกี เติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน 

ประเทศที่ไม่มีการคุ้มครอง

คองโก กาบอง แกมเบีย กีนีบิสเชา ไอวอรีโคสต์ เลโซโท มลาวี มาลี นามิเบีย ไนเจอร์ รวันดา แอฟริกาใต้ ซูดาน สวาซิแลนด์ โตโก อูกันดา ซิมบับเว อียิปต์ เลบานอน โอมาน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ไม่มีข้อมูล

บุรุนดี ชาด กีนี อัฟกานิสถาน อิรัก จอร์แดน คูเวต ลิเบีย กาตาร์ ซีเรีย ซาฮาราตะวันตก 

ประเทศที่ควบคุมการล่าและการค้า

บอตสวานา สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เซเนกัล โซมาเลีย แทนซาเนีย แซมเบีย
Caracal caracal
ชื่อไทยคาราคัล
ชื่อวิทยาศาสตร์Caracal caracal
ชั้นMammalia
อันดับCarnivora
วงศ์Felidae
วงศ์ย่อยFelinae
สกุลCaracal

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://lynx.uio.no/catfolk/ssacrl01.htm
  • http://www.canuck.com/iseccan/caracal.html
  • http://www.catsg.org/catsgportal/cat-website/20_cat-website/home/index_en.htm
  • http://lynx.uio.no/catfolk/nsacrl01.htm
  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/caracal.htm

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 30 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 22 ธ.ค. 65

Powered by Wimut Wasalai