กูปรี

Kouprey

Bos sauveli

กูปรี (Bos sauveli


กูปรีเป็นสัตว์จำพวกวัว ความยาวหัว-ลำตัว 210-223 เซนติเมตร หนัก 681 ถึง 910 กิโลกรัม กูปรีตัวผู้ความสูงที่หัวไหล่ 170-190 เซนติเมตร หางยาว 100 เซนติเมตร ตัวผู้มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือเหนียงคอห้อยยาน ซึ่งต่างจากวัวควายชนิดอื่น เหนียงคอบางตัวยาวเรี่ยพื้นดินถึง 40 เซนติเมตร มีรอยบากที่รูจมูก ช่วงใต้ลำตัวและขาท่อนล่างมีสีซีด มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมียแต่รูปร่างต่างกัน เขาตัวผู้กางออกกว้างแล้วโค้งไปด้านหน้าพร้อมกับช้อนขึ้นบน ปลายเขาแตกเป็นพู่ เขาของตัวผู้อาจยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร ส่วนตัวเมียเขาเล็กกว่าของตัวผู้มาก มีรูปร่างคล้ายพิณไลร์ดังแบบเขาของแอนทิโลปบางชนิดในแอฟริกา ยาวได้ประมาณ 40 เซนติเมตร บิดเป็นเกลียวและชี้ขึ้นบน 

กูปรีหากินตอนกลางคืน คาดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์ เมื่อถึงรุ่งเช้าก็จะกลับเข้าป่าทึบไป นอนพักผ่อนตอนบ่ายโดยจะล้อมกันเป็นวงเล็ก ๆ และแน่นหนา ตกเย็นจึงออกมาที่ทุ่งหญ้าหากินอีกครั้ง หากเป็นในฤดูฝนกูปรีอาจเข้าป่าทึบน้อยลงเนื่องจากเลี่ยงแมลงรบกวน อาหารได้แก่ ไผ่ (Arundinella spp), หญ้าข้าวเปลือก (Arundinella setosaและหญ้าในสกุลหญ้าโรด (Chloris sp.อาศัยกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งประกอบด้วยตัวเมียและเด็ก ส่วนตัวผู้จะแยกออกไปรวมจับกลุ่มเป็นฝูงชายล้วนต่างหาก ในฤดูแล้งจึงมาร่วมฝูงกับตัวเมีย ฝูงหนึ่งอาจมากถึง 20 ตัว กูปรีมีนิสัยตื่นตัวไม่อยู่นิ่ง ชอบขุดดินและแทงตอไม้ ซึ่งเป็นเหตุที่ปลายเขาแตกเป็นพู่ เปรียบเทียบกับวัวแดงแล้ว กูปรีตื่นตัวมากกว่าและมีท่วงท่าการวิ่งสง่างามกว่า บางครั้งกูปรีก็หากินร่วมกับวัวแดงและควายป่า ชอบลงโป่งและตาน้ำ เดินหากินคืนหนึ่งอาจไกลถึง 15 กิโลเมตร สมาชิกในฝูงมีการแยกออกและกลับมารวมกันอยู่เสมอ

กูปรีพบมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา-ลาว-เวียดนามเท่านั้น อาศัยอยู่ในป่าเปิด ทุ่งหญ้าสลับป่าทึบ คาดว่าในฤดูฝนฝูงกูปรีจะอพยพขึ้นที่สูง



ในปี 2549 มีรายงานฉบับหนึ่งเปิดเผยการวิเคราะห์ดีเอ็นเอไมโตคอนเดรียของกูปรี พบว่าใกล้เคียงกับวัวแดงมาก ทำให้สันนิษฐานว่า แท้จริงกูปรีอาจเป็นเพียงลูกผสมระหว่างวัวแดงเลี้ยง กระทิง หรือวัวซีบู หาใช่สัตว์ชนิดหนึ่งแยกออกมาต่างหาก อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ภายต่อมายืนยันว่ากูปรีไม่ใช่ลูกผสม ผู้วิจัยในรายงานข้างต้นก็ยอมรับผลการวิเคราะห์ใหม่นี้เช่นกัน

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนเมษายน ออกลูกราวเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ตั้งท้องนาน 8-9 เดือน เมื่อถึงเวลาออกลูก แม่กูปรีจะปลีกออกจากฝูงไป ออกลูกครั้งละตัว เมื่อออกลูกแล้วได้หนึ่งเดือนก็จะกลับเข้าฝูงอีกครั้ง ลูกกูปรีมีสีส้มแดง แต่เมื่อโตขึ้นถึงหกเดือน สีตัวจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีเทา และสีก็จะเข้มขึ้นตามอายุ ตัวผู้เมื่อถึงวัยผู้ใหญ่จะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือน้ำตาลเข้ม ตัวผู้ปลายเขาเริ่มแตกเป็นพู่เมื่ออายุได้ ปี กูปรีมีอายุได้ราว 20 ปี

ปัจจุบันคาดว่าเหลือกูปรีอยู่ราว 100-300 ตัวเท่านั้น ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพไว้ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CE) ไซเตสจัดกูปรีไว้ในบัญชีหมายเลข ในประเทศไทยกูปรีเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน

ทราบหรือไม่?

จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ พบว่ากูปรีเคยอาศัยในภาคกลางของจีนด้วย
คำว่ากูปรีเป็นภาษาเขมร
ในปี 2507 เจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชาทรงประกาศให้กูปรีเป็นสัตว์ประจำชาติ
เคยมีกูปรีเลี้ยงเพียงตัวเดียวเท่านั้น กูปรีตัวนี้อดตายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
Bos เป็นภาษาละตินแปลว่า วัว
Bos sauveli
ชื่อไทยกูปรี
ชื่อวิทยาศาสตร์Bos sauveli
ชั้นMammalia
อันดับArtiodactyla
วงศ์Bovidae
วงศ์ย่อยBovinae
สกุลBos

ข้อมูลอ้างอิง

เขียนโดย วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com) เผยแพร่ : 23 ส.ค. 64 แก้ไขครั้งล่าสุด : 25 พ.ย. 66

Powered by Wimut Wasalai